คัดลอก URL แล้ว
“หมอยง” เผยฉีดวัคซีนสลับชนิดได้ภูมิสูงและเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์ระบาดและจำนวนวัคซีน

“หมอยง” เผยฉีดวัคซีนสลับชนิดได้ภูมิสูงและเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์ระบาดและจำนวนวัคซีน

วันนี้ (13 กรกฎาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวการฉีดวัคซีนโควิด 19 สลับชนิด ว่า ประเทศไทยยังคงมีวัคซีน
โควิด 19 ปริมาณจำกัด จึงต้องบริหารวัคซีนให้ได้ประโยชน์สูงสุด มีความจำเป็นที่ต้องศึกษาวิจัยรูปแบบการให้วัคซีน
ในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ในประเทศมีวัคซีนใช้ 2 ชนิด คือ 1.วัคซีนเชื้อตาย ได้แก่ ซิโนแวค และซิโนฟาร์มที่เป็นวัคซีนทางเลือก และ 2.ไวรัสเวคเตอร์ คือ แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งชนิดไวรัสเวคเตอร์กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงกว่าเชื้อตาย เนื่องจากทำให้เกิดการติดเชื้อในเซลล์ และสร้างโปรตีนแอนติเจนมากระตุ้นภูมิต้านทาน

“วัคซีนทุกบริษัทผลิตมาจากไวรัสดั้งเดิมคืออู่ฮั่น กระบวนการผลิตใช้เวลาร่วมปี พบว่ากระตุ้นภูมิต้านทาน
ได้เท่าหรือสูงกว่าคนที่หายจากไวรัสอู่ฮั่นดั้งเดิม แต่เมื่อไวรัสมีการกลายพันธุ์ มีทั้งอัลฟา เดลตา จึงต้องการภูมิต้านทานที่สูงขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลงทุกตัว แต่วัคซีนบางตัวที่ระดับภูมิต้านทานสูงกว่า แม้ประสิทธิภาพลดลง
ก็ยังป้องกันการกลายพันธุ์นั้นได้” ศ.นพ.ยงกล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่า ขณะนี้การใช้ซิโนแวค 2 เข็ม ไม่เพียงพอต่อการป้องกันเดลตา ส่วนแอสตร้าเซนเนก้า
ต้องฉีด 2 เข็มจึงป้องกันได้ แต่มีระยะเว้นช่วงระหว่างเข็มนานมากกว่า 10 สัปดาห์ ในสถานการณ์ระบาดที่ส่วนใหญ่เป็นเดลตาที่กระจายง่ายและรวดเร็ว จึงไม่สามารถรอการเว้นช่วงนานได้ เป็นที่มาของการศึกษาการฉีดด้วยวัคซีน
เชื้อตายตามด้วยไวรัสเวคเตอร์ ทั้งนี้ จากการติดตามผู้ได้รับวัคซีนมากกว่า 40 คน พบว่า คนที่ติดเชื้อธรรมชาติมีภูมิต้านทานประมาณ 60-70 u/ml, ซิโนแวค 2 เข็มภูมิต้านทานประมาณ 90-100 u/ml แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มภูมิต้านทานสูงประมาณ 950 u/ml ส่วนซิโนแวคเข็มแรกตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ภูมิต้านทานเกือบ 750 u/ml ถือว่าได้
ภูมิต้านทานที่สูงขึ้นได้ดีทีเดียว และเร็วขึ้นกว่าเท่าตัวในเวลา 6 สัปดาห์ น่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทยขณะนี้

นอกจากนี้ จากการทดสอบการขัดขวางไวรัส (บล็อกกิ้งแอนติบอดี) พบว่าการฉีดซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า
มีประสิทธิภาพขัดขวางไวรัสได้สูงขึ้นมาก ส่วนความปลอดภัยของการศึกษาการฉีดวัคซีนแบบสลับชนิด ข้อมูลเบื้องต้นของประเทศไทยที่มีการฉีดสลับชนิดมากกว่า 1,200 คน มีการบันทึกอาการไม่พึงประสงค์ในระบบหมอพร้อมพบว่า
ไม่มีรายใดที่มีอาการข้างเคียงรุนแรง ถือเป็นเครื่องยืนยันมีความปลอดภัยในชีวิตจริง และจะมีการศึกษาอย่างละเอียด คาดว่าจะทราบผลในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้

ศ.นพ.ยงกล่าวต่อว่า ขณะนี้การติดเชื้อในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา โดยเฉพาะ กทม.
เป็นเดลตา 70-80% และมีแนวโน้มที่สายพันธุ์นี้จะระบาดทั่วประเทศ ซึ่งสายพันธุ์เดลตานั้นผู้ติดเชื้อจะมีปริมาณไวรัสในลำคอจำนวนมาก แพร่กระจายได้ง่าย โอกาสติดต่อคนสู่คนง่ายกว่าเมื่อก่อน จึงอยากให้ประชาชนตระหนักว่า
การติดตามไทม์ไลน์ว่าติดจากใครจะเริ่มยากขึ้น ทุกคนต้องเคร่งครัดระเบียบวินัย ใส่หน้ากากอนามัย 100%
เว้นระยะห่าง เป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันได้ดีกว่าวัคซีน ส่วนการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ในเดียวกันมีความเป็นไปได้ ถ้าชุมชน
มีไวรัส 2 สายพันธุ์ระบาด และได้รับไวรัสทั้ง 2 สายพันธุ์เข้ามาเวลาเดียวกัน แบบนี้เรียกว่า Co-Infection คือ 1 คน
ติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ ที่กังวลคือไวรัส 2 สายพันธุ์เกิดแบ่งตัวในหนึ่งเซลล์เดียวกัน อาจมีการแลกชิ้นส่วนเกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่เรียกว่า Recombination ซึ่งการระบาดตลอด 1 ปีครึ่งยังไม่พบรายงานกรณีเช่นนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง