คัดลอก URL แล้ว
ภาวะไขมันพอกตับ ต้นตอ “มะเร็งตับ” อันดับ 1 ในไทย พบในชายมากกว่าหญิง

ภาวะไขมันพอกตับ ต้นตอ “มะเร็งตับ” อันดับ 1 ในไทย พบในชายมากกว่าหญิง

“ตับ” เปรียบเสมือนหัวใจที่ 2 ของร่างกาย เป็นศูนย์กลางการทำงานของร่างกายและต้องทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา หากสุขภาพตับไม่ดี สุขภาพของเราก็จะไม่ดีตามไปด้วย ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า “ประชากรไทยกว่า 71 ล้านคน มีผู้ที่ป่วยเป็นไขมันพอกตับโดยไม่รู้ตัว สูงถึง 25-30% หรือราวๆ 1 ใน 3 ของประชากรทั่วประเทศ ส่งผลให้หลายคนต้องเผชิญกับภัยร้ายจากโรคตับ” สอดคล้องกับข้อมูลทางสถิติ โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พบว่า “มะเร็งตับ กลายเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย และมีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 16,000 คนต่อปี”

มะเร็งตับ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงสูงถึง 2-5 เท่า

ซึ่งพบว่าผู้ป่วยเหล่านี้มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่สนใจต่อ “สุขภาพตับ” ปล่อยให้ตับพังขาดการดูแล อันมาจากหลายปัจจัย เช่น การกินอาหารที่มีไขมันสูง การกินอาหารที่มีรสหวานและน้ำตาลสูง การกินอาหารที่มากเกินความต้องการของร่างกายจนเกิดภาวะอ้วน การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่และได้รับควันบุหรี่มือสองอย่างเป็นประจำ จากลักษณะดังกล่าว คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีข้อสรุปจากงานวิจัยพบว่า “ผู้ที่เป็นมะเร็งตับ ส่วนใหญ่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงสูงถึง 2-5 เท่า ซึ่งมาจากการขาดวินัยในการดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง

”พญ.ณัฐธิดา ศรีบัวทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ได้แชร์ความรู้เรื่องของสุขภาพตับและระดับอาการของโรคตับที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ “โรคตับเป็นโรคที่พบมากขึ้นกับคนไข้ในปัจจุบัน อาการป่วยที่เกี่ยวกับโรคของตับมีอยู่หลายระดับ ซึ่งผู้ป่วยบางรายแทบไม่รู้ตัว หรือรู้ตัวช้าในตอนที่ร่างกายทรุดหนักแล้ว ซึ่งบางเคสก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วง



โดยคนปกติที่มี ‘สุขภาพตับดี’ ตับจะมีผิวเรียบ สีชมพู และไม่มีแผลเป็น ซึ่งเมื่อมีไขมันสะสมอยู่ในเซลล์ตับ จุดนี้จะถือว่าเข้าสู่ภาวะ ‘ไขมันพอกตับ’ จากนั้น หากยังไม่ดูแลสุขภาพหรือได้รับการรักษา จนมีการอักเสบและก่อให้เกิดพังผืด ไปสู่เนื้อเยื่อตับสูญเสียหน้าที่ถาวร ถือว่าเข้ามาสู่ภาวะ ‘ตับอักเสบ’ และหนักไปกว่านั้น เมื่อตับมีลักษณะขรุขระเต็มไปด้วยปุ่ม เซลล์ตับได้ถูกทำลาย นี่คืออาการของภาวะ ‘ตับแข็ง’ และเคสที่หนักที่สุดคือ ‘มะเร็งตับ’ เซลล์ตับมีการแบ่งตัวและเพิ่มจำนวนอย่างผิดปกติ ทำให้การรักษาผู้ป่วยนั้นเป็นไปได้ยาก ยิ่งสุขภาพตับพังมากเท่าไหร่ เมื่อได้รับการฟื้นฟูช้า ก็ทำให้การรักษาเป็นสิ่งที่หมอต้องทำการบ้านอย่างหนักมากขึ้น ทางที่ดีอยากให้ผู้ที่มีร่างกายปกติและผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับหันมาดูแลสุขภาพของตนเอง รวมถึงหมั่นตรวจสุขภาพร่างกายและตับอย่างเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อทราบแนวทางดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรงยาวนาน”

แนะนำวิธีดูแลสุขภาพ ห่างไกลโรคตับ

  1. เลือกรับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและอาหารปรุงแต่ง
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  3. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  4. หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเอง รวมถึงอาหารเสริมที่ไม่มีแหล่งที่น่าเชื่อถือมากพอ
  5. หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารหวาน การกินอาหารที่มากเกินความต้องการของร่างกาย
  6. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซี โดยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ไม่ใช้เข็มฉีดยาหรือของมีคมร่วมกับผู้อื่น
  7. เลือกกินอาหารหรือสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการดูแลตับ เช่น ‘สารสกัดจากบรอกโคลี’ ‘สารสกัดจากชะเอมเทศ’ และ ‘สารสกัดจากเมล็ดองุ่น’ ที่มีส่วนช่วยกำจัดสารพิษ ช่วยลดการอักเสบและการเกิดพังผืด รวมถึง ‘เลซิติน’ ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่พบได้ในไข่แดง ถั่ว ถั่วเหลือง นม เมล็ดทานตะวัน ตับ เนื้อสัตว์ บริวเวอร์ยีสต์ และอื่นๆ มีส่วนช่วยในการลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด ลดความดันโลหิต และมีส่วนช่วยในการลดการอักเสบของตับจากไขมันพอกตับได้

ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, พญ.ณัฐธิดา ศรีบัวทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินอาหารและตับ, “นิวทริไลท์” จาก แอมเวย์


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง