หลายคนอาจจะรู้จักชื่อของกลุ่มอาการ “ออฟฟิศซินโดรม” และมีความเชื่อว่าเกิดเฉพาะกับคนที่ทำงานอยู่กับโต๊ะทำงานเท่านั้น ทว่าในความเป็นจริงกลุ่มอาการนี้เป็นกลุ่มอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกอาชีพและทุกกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการทำงานบ้าน การทำสวน การออกกำลังกาย การเดิน การนั่ง หรือแม้กระทั่งการนอนที่ไม่เหมาะสม หากมีอาการเกิดขึ้นแล้ว มักจะมีอาการเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ ทำให้รบกวนการทำงาน และการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก
สาเหตุ “ออฟฟิศซินโดรม”
ในบทความนี้ รวบรวมข้อมูลรายละเอียดทุกมิติเกี่ยวกับกลุ่มอาการ “ออฟฟิศซินโดรม” พร้อมอธิบายไว้ให้เข้าใจง่าย ตั้งแต่สาเหตุการเกิด อาการ และวิธีการรักษา เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลตัวเองของผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นออฟฟิศซินโดรม
“ออฟฟิศซินโดรม” เกิดจากการที่ผู้ป่วยทำกิจกรรมใด ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ด้วยอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง จนทำให้ร่างกายสูญเสียสมดุลส่งผลให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ ตามมา
อาการ ออฟฟิศซินโดรม
กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมมีค่อนข้างหลากหลาย แต่เคสส่วนใหญ่ที่คนไข้จะมาพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา มีตั้งแต่
- อาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอ บ่าไหล่ และหลังส่วนล่าง โดยเฉพาะเวลานั่งนาน ๆ
- อาการนิ้วล็อค คนไข้จะมีการเจ็บบริเวณฝ่ามือ ขยับนิ้วได้ลำบาก โดยเฉพาะเวลาตื่นตอนเช้าจะมีอาการตึง ปวด หรือกำมือไม่ได้
- อาการพังผืดกดทับเส้นประสาทบริเวณฝ่ามือ อาการนี้จะรู้สึกชาบริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง มีอาการตึง อาการปวด ใช้งานไม่สะดวก รวมไปถึงอาการปวดบริเวณข้อมือ
- อาการพังผืดกดทับบริเวณข้อศอก จนเกิดการกดทับเส้นประสาท ทำให้คนไข้มีอาการชามือไม่สามารถใช้งานนิ้วได้ปกติ การใช้งานมือจับผิดปกติไปเยอะ สิ่งเหล่านี้คนไข้จะต้องเฝ้าระวังและรีบมาพบแพทย์
วิธีรักษา
เนื่องจากกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมเกิดจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะฉะนั้นการรักษาที่ดีที่สุดก็คือ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งการนั่ง การเดิน การยืน การนอน และการทำกิจวัตรต่าง ๆ ให้เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ แต่ถ้ายังไม่ได้ผลสำเร็จในการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว ก็อาจจะต้องได้รับการรักษาโดยการใช้ยาลดการอักเสบ ลดปวด หรือการทำกายภาพบำบัด ไม่ว่าจะเป็นการฝังเข็ม อัลตราซาวด์ ช็อคเวฟ หรือการประคบร้อน แต่อย่างไรก็ตามหากมีอาการมาก หรือวิธีที่กล่าวมายังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร การรักษาโดยการผ่าตัดจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
การรักษาด้วยการผ่าตัดแผลเล็ก และผ่าตัดส่องกล้อง
หากพูดถึงเรื่องการผ่าตัด คนไข้มักจะมีความกังวลเป็นธรรมดา เนื่องจากในอดีตการผ่าตัดอาจจะมีแผลผ่าตัดขนาดค่อนข้างใหญ่ ทำให้คนไข้ต้องพักงานนาน เพราะมีการเจ็บบาดแผล แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้พัฒนาไปอย่างมาก ทำให้การผ่าตัดเน้นไปที่การรักษาแผลเล็ก หรือการผ่าตัดที่ใช้การส่องกล้อง ซึ่งมีการบาดเจ็บน้อย ส่งผลให้ใช้เวลาพักฟื้นสั้นลง ทำให้คนไข้สามารถผ่าตัดแล้วกลับบ้านไปทำกิจกรรมได้เกือบเป็นปกติในทันที
ออฟฟิศซินโดรมรักษาได้
ถ้าหากพบว่าเริ่มมีอาการผิดปกติ หรือสังเกตเห็นว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายออฟฟิศซินโดรม อยากให้สังเกตอาการและรีบมาพบแพทย์ เพราะว่านั่นเป็นสัญญาณที่ร่างกายบอกว่าเริ่มทนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเราไม่ได้อีกต่อไปแล้ว การรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยให้ถูกต้องจะทำให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และได้รับการรักษาตามแนวทางที่เหมาะสม ช่วยให้ร่างกายกลับมาสมบูรณ์แข็งแรงและอยู่กับเราตลอดไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : พ.ต.ต.นพ.วรพล เจริญพร แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ-ศัลยกรรมทางมือและจุลศัลยกรรม และเวชศาสตร์ป้องกัน ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนวเวช