คัดลอก URL แล้ว

Toyota ระงับจำหน่าย Raize ชั่วคราว จากผลกระทบมาตรฐานความปลอดภัยที่คาดเคลื่อน

Toyota Motor ประกาศระงับจำหน่ายและส่งมอบ Toyota Raize ชั่วคราวทั้งในญี่ปุ่น และตลาดต่างประเทศ อันมาจากความผิดปกติของข้อมูลผลการทดสอบแรงกระแทกบริเวณเสาด้านข้าง (UN R135-01) ของ Daihatsu Rocky ซึ่งเป็นรถที่ใช้แพลตฟอร์มร่วมกัน โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ไฮบริด

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา Daihatsu Motor ได้ทำการสอบสวนการฉ้อโกงมาตรฐานความปลอดภัยของการชนด้านข้าง พร้อมประกาศว่าพบว่ามีความผิดปกติในขั้นตอนการรับรองการทดสอบแรงกระแทกเสาด้านข้าง (UN R135-01) ของกลุ่มรถยนต์ไฮบริด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Daihatsu Rocky Hybrid และส่งผลกระทบไปยัง Toyota Raize Hybrid ด้วยเนื่องจากใช้แพลตฟอร์ม DNGA ร่วมกัน โดยได้ตรวจสอบอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 เมษายน และค้นพบในวันที่ 18 พฤษภาคม

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

ซึ่งรายละเอียดของการบิดเบือนมาตรฐานความปลอดภัยครั้งนี้ คือการทดสอบแรงกระแทกของเสารถด้านซ้ายและด้านขวาเมื่อเกิดการชนเข้ากับวัตถุ (UN R135-01) ด้วยความเร็ว 32 กม./ชม. โดยข้อมูลด้านข้างที่นั่งผู้โดยสาร (ซ้าย) ได้รับการทดสอบต่อหน้าสักขีพยาน และส่งข้อมูลอย่างถูกต้อง

แต่ข้อมูลการทดสอบการชนด้านข้างฝั่งคนขับ (ขวา) นั้น เป็นการทดสอบภายใน พร้อมกับสับเปลี่ยนเอาข้อมูลด้านซ้ายไปเป็นข้อมูลด้านขวารถส่งไปให้ทางหน่วยงานรับรองแทน จนได้รับใบรับรองในเดือนมิถุนายน 2020

นอกจากนี้ รถที่เข้าข่ายการบิดเบือนผลการทดสอบแรงกระแทกของเสารถด้านข้าง (UN R135-01) เป็นกลุ่มรถยนต์ไฮบริด ส่วนกลุ่มเครื่องยนต์เบนซินได้รับการรับรองทั้งด้านซ้าย และด้านขวาอย่างถูกต้อง จึงไม่ได้รับผลกระทบ

จากผลกระทบดังกล่าวทำให้ทั้งสองบริษัทฯ ทำการหยุดจำหน่าย และส่งมอบรถ Daihatsu Rocky Hybrid และ Toyota Raize Hybrid เพื่อทำการตรวจสอบ และทดสอบการชนด้านข้างเพื่อขอออกใบรับรองมาตรฐานความปลอดภัยอีกครั้ง อีกทั้งการทดสองจะได้รับการตรวจสอบโดยคณะกรรมการบุคคลที่สามเพื่อเป็นสักขีพยานในการยืนยันผลด้วย สำหรับลูกค้าที่ครอบครองรถทั้งสองรุ่น (โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องยนต์ไฮบริด) ยังคงใช้งานได้ตามปกติ

หลังจากรถทั้งสองรุ่นได้วางจำหน่ายเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ด้านยอดขายสะสม Daihatsu Rocky Hybrid โฉมปัจจุบันมียอดขายสะสม 22,329 คัน ส่วน Toyota Raize Hybrid มียอดขายสะสมที่ 56,111 รวมเป็น 78,440 หน่วย

และทางไดฮัทสุจะทำการตรวจสอบกระบวนการทุกขั้นตอนอย่างละเอียดรอบคอบ และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อจัดการปัญหาอย่างรวดเร็ว และการสื่อสารแก่ผู้บริโภคอย่างตรงปตรงมา เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ซ้ำอีก

ก่อนหน้านั้นทาง Daihatsu Motor ได้สืบสวน และพบความผิดปกติของการทำตำหนิในชิ้นส่วนบุประตูใน Toyota Yaris ATIV, Perodua Axia, Toyota Agya และรถที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา รวม 4 รุ่น เนื่องจากรถที่ใช้ทดสอบมีการทำตำหนิชิ้นส่วนข้างในเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการบาดเจ็บที่อาจส่งผลต่อคะแนนการทดสอบ ในขณะที่โฉมจำหน่ายจริงไม่มีการทำตำหนิ ส่งผลต่อความคาดเคลื่อนต่อคะแนนความปลอดภัย ส่งผลทำให้รถทั้ง 4 รุ่นต่องระงับการจำหน่ายและส่งมอบชั่วคราวจนกว่าจะทำการทดสอบใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบัน Toyota Yaris ATIV ได้กลับมาจำหน่ายอีกครั้ง

เครดิตข้อมูลจาก car.watch.impress.co.jp 1, 2


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง