คัดลอก URL แล้ว

วิกฤติ Toyota Yaris ATIV หนึ่งในรุ่นที่ ‘เจ็บหนัก’ จากข้อมูลความปลอดภัยเท็จกว่า 7 หมื่นคันทั่วโลก

เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ทาง บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และ บริษัทไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการบิดเบือนข้อมูลการทดสอบการชนด้านข้าง (UN-R95) อันมาจากชิ้นส่วนผิดสเปคในรถยนต์ทั้ง 4 รุ่น ที่พัฒนาร่วมกันระหว่าง Daihatsu และ Toyota โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Toyota Yaris ATIV ที่มียอดจำหน่ายสะสมมากถึง 76,289 คัน โดยเฉพาะในประเทศไทยมียอดจำหน่ายมากถึง 36,890 คัน

สเปคขอบประตูที่แตกต่าง นำไปสู่ข้อมูลการทดสอบที่บิดเบือน

ชิ้นส่วนรถยนต์ที่มีปัญหาจนส่งผลกระทบต่อมาตรฐานความปลอดภัยต่อการชนด้านข้าง

สาเหตุดังกล่าวเกิดจากการที่ผู้ผลิตรถยนต์ได้ทำการดัดแปลงชิ้นส่วนภายในขอบประตูของรถที่ใช้ในการทดสอบให้มีตำหนิ เช่น การปรากฎรอยแตกในแนวยาว ซึ่งรอยแตกดังกล่าวจะช่วยควบคุมทิศทางการแตกไม่ให้ชิ้นส่วนภายในมีความคมจนเป็นอันตราย และส่งผลต่อคะแนนมาตรฐานทดสอบการชนด้านข้าง (UN-R95) แต่ชิ้นส่วนขอบประตูในรถที่ผลิตจริงกลับไม่ปรากฎรอยแตกดังกล่าว ซึ่งส่งผลต่อมาตรฐานความปลอดภัยที่คาดเคลื่อน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายให้แก่ลูกค้า และอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และความปลอดภัยได้

ทางไดฮัทสุกล่าวว่าได้รับเบาะแสในเดือนเมษายนที่ผ่านมา พร้อมกับการยืนยันว่ามาการบิดเบือนผลการทดสอบการชนด้านข้างจริง โดยจะดำเนินการทดสอบการชนอีกครั้ง รวมถึงการชนด้านข้าง (UN-R95) ที่เป็นปัญหา พร้อมกับการเชิญหน่วยงานบุคคลที่สามเพื่อมาเป็นสักขีพยานในการทดสอบ และจะดำเนินการวางจำหน่ายอีกครั้งหากรถยนต์ได้รับการรับรองความปลอดภัยอย่างถูกต้อง

“ทางบริษัทฯ ต้องขออภัยอย่างจริงใจสำหรับการทรยศต่อความไว้วางใจแก่ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ให้การไว้วางใจ และการสนับสนุนต่อเรา” Mr. Soichiro Okudaira ประธานไดฮัทสุกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

ผลกระทบต่อรถที่จำหน่ายมากถึง 88,123 คัน!

ตารางข้อมูลรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบ

สำหรับรุ่นรถยนต์ของ Toyota ที่ได้รับผลกระทบ จะมีด้วยกันทั้งหมด 4 รุ่น โดยส่วนใหญ่จะเป็นรถที่ผลิตและจัดจำหน่ายในภูมิภาคอาเซียน และเป็นรุ่นรถที่พัฒนาร่วมกันระหว่าง Toyota และ Daihatsu ซึ่งขึ้นกับสัญญาการจัดหา OEM และสัญญาการพัฒนาร่วมกัน ประกอบไปด้วย

Toyota Yaris ATIV ผลิตครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 2565 โดยมีสายการผลิตทั้งในไทย และมาเลเซีย มียอดจำหน่ายสะสมทั้งในไทย กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ อาทิ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต (GCC) เม็กซิโก และอื่น ๆ รวมมากถึง 76,289 แบ่งออกเป็น

Perodua Axia ผลิตครั้งแรกในมาเลเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มียอดจำหน่ายสะสมรวม 11,834 คัน

ขณะเดียวกัน Toyota Agya เตรียมเปิดสายการผลิตในเดือนมิถุนายน 2566 จึงยังไม่ถูกผลิตออกมา ณ เวลานี้ และรถที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจึงยังไม่มีข้อมูลการผลิต แต่เนื่องจากเป็นรถที่พัฒนาแพลตฟอร์มร่วมกับ Daihatsu จึงได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

ส่งผลให้รถยนต์ที่ได้รับผลกระทบมีมากถึง 88,123 คัน! (ข้อมูล่าสุดเดือนมีนาคม 2566)

“เหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับรถยนต์ที่ขายภายใต้แบรนด์โตโยต้า ดังนั้นมันจึงส่งผลกระทบไม่เพียงแค่แบรนด์ไดฮัทสุเท่านั้นแต่ยังรวมถึงโตโยต้าด้วย” Mr. Akio Toyoda ประธานบริษัท บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าว

แถลงการณ์ล่าสุดจาก โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย

ตารางข้อมูลยอดจำหน่ายสะสมของ Toyota Yaris ATIV (จนถึงเดือนมีนาคม 2566)

วันนี้ (29 เมษายน 2566) ทางโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ได้รับทราบถึงผลกระทบดังกล่าว พร้อมทำหนังสือชี้แจงต่อปัญหาที่เกิดขึ้น โดย Toyota Yaris ATIV ที่ผลิตและจัดจำหน่ายในประเทศไทย ได้ประกาศระงับการจัดจำหน่าย และหยุดการส่งมอบรถรุ่นที่มีปัญหาชั่วคราว เพื่อทำการตรวจสอบซ้ำในประเทศญี่ปุ่นตามข้อกำหนดการทดสอบพยาน (witness testing) พร้อมกับได้ดำเนินการทดสอบการชนด้านข้าง (UN-R95) อีกครั้ง และจะเผยกำหนดการจัดจำหน่ายและส่งมอบอีกครั้งในลำดับต่อไป

สำหรับรถรุ่นปัจจุบัน ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการแก้ไขใด ๆ ซึ่งทางบริษัทฯ ให้การยืนยันว่าลูกค้าสามารถใช้งานรถต่อไปได้ตามปกติ 

สิ่งที่น่าจับตาต่อไปคือการเคลื่อนไหวของกลุ่มลูกค้าที่ซื้อรถรุ่นดังกล่าวว่าจะมีทิศทางอย่างไร รวมถึงมาตรการการเยียวยาของทางบริษัทที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อเรียกความเชื่อมั่นอีกครั้ง

เครดิตข้อมูลจาก car.watch.impress.co.jp 1, 2, 3 , bloomberg.com,


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง