คัดลอก URL แล้ว

รู้ประเภทเต้ารับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าก่อนซื้อรถยนต์ EV – PHEV ช่วยคุณใช้รถได้ง่ายขึ้น

เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าในไทยถือได้ว่ามาแรงอย่างต่อเนื่อง มีรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายแบบ หลากหลายแบรนด์ให้ได้เลือกซื้ออย่างจุใจ แต่ก่อนที่จะเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าสักคันนั้นนั้น นอกจากจะต้องศึกษาประเภทตัวถัง และสเปคของตัวรถแล้ว จะต้องศึกษาเต้ารับรถยนต์ไฟฟ้าควบคู่ด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการหาหัวปลั๊กชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ตรงรุ่นในระหว่างเดินทางอีกด้วย เพราะหากเจอหัวชาร์จที่ไม่ตรงรุ่นกับรถของคุณ การตามหาสถานีชาร์จก็จะสูญเปล่า และเสียเวลาทันที

เต้ารับรถยนต์ไฟฟ้าแบบใดบ้างที่ที่นิยมในประเทศไทย และหากได้เต้ารับที่ไม่คุ้นเคย หรือต้องการใช้ร่วมกันไม่ได้จะต้องทำอย่างไร

หัวปลั๊ก – เต้ารับชาร์จแต่ละประเภท

หัวปลั๊กชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ว่าประเภทใดก็ตาม จะถูกออกแบบให้สามารถเสียบเข้ากันได้กับเต้ารับในรถยนต์ไฟฟ้าได้พอดีทุกองค์ประกอบ แต่ด้วยการกำหนดมาตรฐานของหัวปลั๊ก และเต้ารับให้ใช้งานได้เฉพาะในประเทศท้องถิ่น ส่งผลให้รูปแบบของเต้ารับ และหัวปลั๊กชาร์จมีรายละเอียดที่แตกต่างกันจนใช้งานร่วมกันไม่ได้ เช่น รถญี่ปุ่น กับรถจีน จะใช้หัวปลั๊กชาร์จ และเต้ารับที่ดีไซน์แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

แต่หลัก ๆ ตัวหัวชาร์จ และเต้ารับจะแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ตามรูปแบบของกระแสไฟฟ้า ทั้งแบบไฟฟ้ากระแสสลับ และไฟฟ้ากระแสตรงที่จะชาร์จเข้าสู่รถ ดังนี้

หัวปลั๊กชาร์จสำหรับไฟฟ้ากระแสสลับ (AC)

Type 1 : SAEJ1772 รองรับระบบไฟแบบ 1 เฟส รองรับกระแสไฟฟ้าได้ 32A (7.4 kWh) มีด้วยกัน 5 ขา โดยรูปแบบนี้จะพบได้ในรถยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่น และอเมริกา และเป็นปลั๊กชาร์จที่เก่าแก่ที่สุด

Type 2 : IEC 62196-2 รองรับระบบไฟแบบ 1 เฟส รองรับกระแสไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 70A (16.8 kWh) จนสามารถรองรับกับไฟฟ้ากระแสสลับแบบ 3 เฟส ด้วยกระแสไฟฟ้า 63A (43 kWh)/เฟส และมีด้วยกัน 7 ขา ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าจากยุโรป เกาหลีใต้ และจีนจะนิยมใช้ปลั๊กรูปแบบนี้ ส่งผลให้ประเทศไทยจะนิยมปลั๊กประเภทนี้เป็นจำนวนมาก

GB/T standard : เป็นหัวปลั๊ก – และเต้ารับชาร์จที่พัฒนาและใช้งานแพร่หลายในประเทศจีน แม้จะคล้ายกับ Type 2 แต่จะมีความแตกต่างด้านการจัดเรียงสายเคเบิลด้านใน และขนาดขาที่แตกต่างกัน

หัวปลั๊กชาร์จสำหรับไฟฟ้ากระแสตรง (DC)

CHAdeMO : หัวชาร์จ DC ที่พบได้ในรถยนต์ญี่ปุ่น อเมริกา รวมถึงรถบางรุ่นในประเทศจีน เดิมเป็นปลั๊กที่พัฒนาโดยผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น 5 รายที่พยายามส่งเสริมปลั๊กนี้เป็นมาตรฐานสากลมาตั้งแต่ปี 2010 แต่ไม่ได้ผล รวมถึงในยุโรปก็ผลักดันการใช้ปลั๊กแบบ CCS เป็นมาตรฐาน ทำให้ปลั๊กชนิดนี้ไม่แพร่หลายมากนัก

GB/T : สำหรับปลั๊กและเต้ารับชนิดนี้ก็ยังคงใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศจีนสำหรับรองรับการชาร์จไฟฟ้าแบบ DC รวมถึงได้ทำงานร่วมกับ CHAdeMO เพื่อรองรับการชาร์จได้สูงสุด 900 กิโลวัตต์

Tesla Supercharger : เป็นปลั๊ก และเต้ารับชาร์จไฟฟ้าที่มีเฉพาะในรถยนต์ Tesla เท่านั้น

หัวปลั๊กชาร์จแบบ Combined Charging System หรือ CCS

หัวปลั๊กชาร์จรูปแบบนี้สามารถรองรับได้ทั้งการชาร์จแบบกระแสสลับและกระแสตรงในหนึ่งเดียว ซึ่งด้านบนสุดจะเป็นปลั๊กสำหรับไฟฟ้ากระแสสลับ ส่วนด้านล่างจะเป็นปลั๊กกระแสตรง โดยในปัจจุบันได้กำหนดให้เป็นปลั๊กมาตรฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในระดับสากล รวมถึงไทยด้วย

ขณะเดียวกัน ปลั๊กแบบนี้จะมีการแยกความแตกต่างกันในด้านรายละเอียดโดย CCS Type 1 (CCS Combo 1) จะได้รับปลั๊ก AC Type 1 ส่วน CCS Type 2 (CCS Combo 2) จะเป็นปลั๊กรุ่นใหม่ที่จะได้รับ AC Type 2 แทน Type 1

การแก้ปัญหาเต้ารับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ตรงกับประเภทหัวชาร์จ

ในกรณีที่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้เต้ารับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบหนึ่ง แต่เมื่อไปถึงสถานีชาร์จกลับไม่มีหัวปลั๊กที่ตรงกับรุ่นรถ ผู้ใช้รถสามารถหาอะแดปเตอร์ เพื่อแปลงหัวปลั๊กชาร์จให้สามารถใช้เสียบกับเต้ารับในรถของคุณได้ ซึ่งอะแดปเตอร์จะเป็นอุปกรณ์เสริมที่ลูกค้าต้องซื้อต่างหาก หรือบางครั้งก็ได้รับเป็นของสมนาคุณจากการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อสร้างแรงจูงใจ ทั้งนี้ผู้ที่จะซื้อรถใหม่ควรศึกษาเต้ารับของตัวรถ และปริมาณสถานีชาร์จของผู้ให้บริการควบคู่ด้วย เพื่อที่จะได้วางแผนเลือกซื้ออะแดปเตอร์ติดรถได้

และที่สำคัญควรดูถึงคุณภาพของวัสดุประกอบ ความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ การันตีมาตรฐานความปลอดภัยทั้งหน่วยงานในไทยและสากลควบคู่ด้วย เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรจนเป็นอันตรายต่อตัวรถ อันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว หรืออะแดปเตอร์พังก่อนวัยอันควร


ซึ่งสถานีชาร์จรถยนต์ในบ้านเรา ในบางแห่งจะมีปลั๊กให้เลือกครอบคลุมถึง 3 แบบ ซึ่งครอบคลุมกับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า และปลั๊กอินไฮบริดที่เปิดให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการ และในขณะเดียวกันก็มีอะแดปเตอร์ที่ช่วยลดความกังวลในการเสียบชาร์จสถานีชาร์จที่ไม่มีหัวปลั๊กรองรับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรให้ความใส่ใจในด้านคุณภาพ และความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถ และรถยนต์ไฟฟ้าของคุณ

เครดิตข้อมูลจาก evexpert.eu


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง