เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุม สิ่งที่สร้างความเหนื่อยใจมากที่สุดแก่เจ้าของรถคือการขับรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ลุยฝนตกหนัก และลุยน้ำท่วมอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทุกครั้งที่ลุยน้ำท่วม ก็จะพบกับควากังวลหลาย ๆ อย่าง ทั้งความปลอดภัย ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ที่เสียหายทั้งเฉียบพลันจนถึงเสียหายในระยะยาว และผลกระทบด้านสุขอนามัยแก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร
หากคุณคนหนึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงการขับรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ลุยน้ำท่วม ก็ต้องเตรียมตัว เตรียมข้อมูล เตรียมใจแต่เนิ่น ๆ เมื่อเจอฝนตก หรือพบว่าในเวลานี้ได้ขับรถในพื้นที่น้ำท่วมรอการระบายแล้ว เริ่มจาก
สังเกตความสูงของระดับน้ำก่อนเดินทาง
การสังเกตความสูงระดับน้ำบนท้องถนนว่าความสูงขนาดไหนสามารถวิ่งได้สบาย ๆ หรือแบบไหนที่ควรเพิ่มความระมัดระวัง และแบบไหนควรหลีกเลี่ยง
ระดับน้ำ 5-10 เซนติเมตร
เป็นระดับน้ำที่ท่วมน้อย ยังอยู่ในระดับที่ปลอดภัย สามารถขับรถผ่านไปได้ โดยไม่มีความเสี่ยงต่อการขับขี่มากนักแต่ควรขับรถด้วยความเร็วต่ำเพื่อให้ล้อเกาะถนนได้เต็มที่ และป้องกันการสูญเสียการควบคุมจากถนนลื่น
แต่หลังจากลุยน้ำระดับนี้แล้ว ควรตรวจสอบสภาพใต้ท้องรถและล้อ เพราะเป็นจุดที่อาจจะมีเศษขยะติดใต้ท้องรถ หรือความเสี่ยงต่อการเกิดสนิมขึ้นที่ใต้ท้องรถได้
ระดับน้ำ 10-20 เซนติเมตร
เป็นปริมาณน้ำที่น้ำท่วมขังแล้ว แต่รถทุกประเภทยังสามารถขับรถลุยน้ำได้สบาย ๆ ทว่ากลุ่มรถขนาดเล็กจะได้ยินเสียงน้ำกระเพื่อมใต้ท้องรถ และยังมีโอกาสที่น้ำจะเข้าจะไปในตัวรถได้ สำหรับความสูงระดับนี้ควรขับอย่างช้า ๆ และระมัดระวัง รวมถึงเช็คสภาพใต้ท้องรถหลังลุยน้ำเสมอ
ระดับน้ำ 20-40 เซนติเมตร
เป็นระดับที่มีความเสี่ยงต่อรถเก๋งที่ความสูงใต้ท้องรถไม่เกิน 170 มิลลิเมตร มักจะถูกออกแบบมาให้มีความสูงจากระดับพื้นแค่ 15 -17 เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาท่อไอเสียจม แต่ก็ยังสามารถลุยน้ำผ่านไปได้ และรถทุกขนาดตัวถังไม่ควรใช้ความเร็วในการขับขี่
ขณะที่มอเตอร์ไซค์ ไม่ควยขับลุยน้ำที่มีความสูงนี้ เนื่องจากเครื่องยนต์และท่อไอเสียอยู่ด้านล่างอาจก่อให้เกิดน้ำทะลักเข้าได้ และยังมีปัญหาต่อการทรงตัวด้วย
ระดับน้ำ 40-60 เซนติเมตร
เป็นอันตรายกับรถเก๋งขนาดเล็ก และขนาดกลางทุกประเภท แต่สำหรับรถที่มีความสูงอย่าง รถกระบะ หรือ SUV / PPV ยกสูง ยังสามารถขับฝ่าไปได้ โดยแนะนำในการขับขี่ให้ช้าลง และระมัดระวังไม่ให้เกิดคลื่นน้ำซัดเข้าหารถจากรถที่สวนมาในเลนตรงข้าม เพื่อลดความเสี่ยงที่น้ำจะกระจายเข้าสู่ห้องเครื่องยนต์ หรือไปก่อให้เกิดคลื่นน้ำกระทบกับผู้ขับขี่หรือผู้สัญจรภายนอกจนเกิดอันตรายได้ รวมถึงระมักระวังรถลอยน้ำจนทำให้ล้อไม่สามารถเกาะถนนได้เต็มที่
และหลังจากขับรถพ้นน้ำแล้ว นอกจากตรวจสภาพของใต้ท้องรถแล้ว ควรตรวจเช็คสภาพห้องเครื่อง ไส้กรองอากาศไอดี กับบริเวณท่อไอเสียร่วมด้วย
ระดับน้ำ 60-80 เซนติเมตร
เป็นระดับน้ำที่เป็นอันตรายกับรถยนต์ทุกชนิดไม่ควรที่จะขับลุยน้ำเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในรถจนสามารถทำให้รถดับ แอร์พัง วงจรอิเล็กทรอนิกส์ล้มเหลวได้
ระดับน้ำ 80 เซนติเมตร ขึ้นไป
ระดับน้ำที่สูงสุดที่รถยนต์ทุกประเภทที่ไม่สามารถวิ่งไปได้ หรือไม่สามารถจอดรถ ซึ่งระดับน้ำนี้สามารถเข้าไปยังห้องเครื่องได้เต็มที่แล้ว ยังสามารถซึมเข้าสู้ห้องโดยสารอีกด้วย และยังทำให้รถลอยขึ้นจากพื้นถนน จนไม่สามารถวิ่งได้
สิ่งสังเกตภายนอกเพื่อประเมินความสูงของระดับน้ำบนพื้นถนน
ทางเท้า, แบริเออร์หรือเสาไฟความสูงจากพื้นถึงกันชนหลังของรถคันหน้า ไปจนถึงแท่งไม้ หรือธงเตือนระดับน้ำท่วมสูง
วิธีรับมือขับรถลุยน้ำท่วม หลังจากประเมินความสูงและเส้นทางแล้ว
รถยนต์
- ตั้งสติเพื่อเตรียมการขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ ห้ามเร่งเครื่องในระหว่างลุยน้ำ
- ปิดแอร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ดึงละอองน้ำจากระบบไอดีเข้าเครื่องยนต์
- ปิดระบบไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น เช่นอุปกรณ์ความบันเทิง
- ลดความเร็วขณะที่ขับรถสวนกัน
- เว้นระยะห่างรถคันหน้าให้มากขึ้น
- หากรถดับ ไม่ควรสตาร์ทรถ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าเครื่องยนต์มากขึ้น ควรหาผู้ที่ขับรถสูงกว่าหรือเรียกหน่วยกู้ภัยช่วยลากออกไปแทน
- เมื่อขับรถพ้นน้ำท่วมแล้วก็ยังคงใช้ความเร็วต่ำ และเวลาขับขี่ควรเหยียบเบรกซ้ำ ๆ เป็นระยะเพื่อไล่น้ำออกจากผ้าเบรก
มอเตอร์ไซค์
- ตั้งสติเพื่อเตรียมการขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ
- ไม่ควรเร่งเครื่องในระหว่างลุยน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อไอดีดูดน้ำหรือละอองน้ำรวดเร็วจนทำให้การจุดระเบิดมีปัญหา ขณะเดียวกันแรงดันจากท่อไอเสียสามารถผลักน้ำที่จะเข้าท่อไอเสียให้ออกไปได้ จึงไม่ควรกังวลจุดนี้
- หมั่นเหยียบเบรกเป็นจังหวะเพื่อไล่น้ำออกจากผ้าเบรก
- ลดความเร็วขณะวิ่งสวนทางกัน
- เว้นระยะห่างรถคันหน้าให้มาก
- หมั่นเหยียบเบรกซ้ำ ๆ เป็นจังหวะเป็นระยะเพื่อไล่น้ำออกจากผ้าเบรกหรือจานเบรก
- เมื่อถึงที่หมายอย่างเพิ่งดับเครื่อง แต่ให้เดินเครื่องเพื่อระบายน้ำออกไปให้มากที่สุดก่อนทั้งจากแรงดันท่อไอเสีย และการระเหยความร้อนจากเครื่องยนต์
เช็คสภาพเมื่อถึงที่หมายแล้ว
สำหรับรถยนต์ เมื่อถึงที่หมายแล้วควรหาที่จอดรถที่ปลอดภัย หากรถคุณยังทำงานอยู่อย่าเพิ่งดับเครื่อง ให้เดินเครื่องเพื่อไล่น้ำออกจากท่อไอเสีย และทำให้น้ำระเหยไวด้วยความร้อน พร้อมเช็คการทำงานระบบต่าง ๆ ผ่านเรือนไมล์ว่ามีอะไรที่มีปัญหาบ้าง รวมถึงเหยียบเบรกซ้ำ ๆ เป็นจังหวะเพื่อไล่น้ำออกจากผ้าเบรก
จากนั้งจึงดับเครื่อง เปิดฝากระโปรงและประตูรถ แยกพรม วัสดุซับน้ำ หรือสิ่งของที่ไวต่อความชื้นให้เอาออกทั้งหมด เพื่อทิ้ง หรือทำให้แห้งก่อน ตรวจสอบไส้กรองอากาศ ไส้กรองแอร์ น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันและน้ำยาต่าง ๆ และหากมีแดดควรจอดตากแดดไว้สักพัก (แต่ควรมีคนเฝ้าด้วย)
สำหรับมอเตอร์ไซค์ เมื่อถึงที่หมายอย่างเพิ่งดับเครื่อง แต่ให้เดินเครื่องเพื่อระบายน้ำออกไปให้มากที่สุดก่อนทั้งจากแรงดันท่อไอเสีย และการระเหยความร้อนจากเครื่องยนต์ และหลังจากดับเครื่องหมั่นตรวจเช็คทั้งท่อไอดี น้ำมันต่าง ๆ ระบบเบรก ระบบไฟฟ้า โซ่สเตอร์ และท่อไอเสียในขั้นเบื้องต้น
หากพบอาการผิดปกติตามมา เช่น ห้องอับชิ้นอยู่ เครื่องดับ ระบบไฟช็อต ควรนัดหมายที่ศูนย์บริการเพื่อตรวจสภาพอีกครั้ง
แม้จะไม่สามารถคุมฟ้าฝน หรือคาดการณ์ล่วงหน้าว่าฝนจะตกหนัก หรือพื้นที่เดินทางนั้นน้ำจะท่วมสูงแค่ไหน แต่ผู้ขับขี่สามารถควบคุมสติ และประเมินสถานการณ์ในระหว่างก่อนขับรถลุยน้ำได้ว่าควรจะเลี่ยงด้วยการศึกษาเส้นทางเพิ่มเติม หรือเลือกวิ่งลุยน้ำด้วยความระมัดระวังสูงสุด เพื่อความปลอดภัยทั้งตัวรถ กับผู้ขับขี่
รวมถึงหมั่นตรวจเช็คสภาพรถทั้งในช่วงถึงที่หมาย หรือช่วงวันหยุดไร้ฝนตกเพื่อประเมินทั้งสภาพ อาการ และการซ่อมแซมเพื่อให้รถยนต์และมอเตอร์ไซค์พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา