คัดลอก URL แล้ว
“หลินฮุ่ย” และ “ช่วง ช่วง” แพนด้าสองตัวแรกในไทย

“หลินฮุ่ย” และ “ช่วง ช่วง” แพนด้าสองตัวแรกในไทย

ล่าสุดมีการรายงานว่า “หลินฮุ่ย” แพนด้ายักษ์เพศเมียที่อยู่ในสวนสัตว์เชียงใหม่ ได้เสียชีวิตแล้ว ทางสวนสัตว์เตรียมแถลงสาเหตุการตาย 12.30 น.วันนี้ ย้อนอ่านประวัติความเป็นมาของ “หลินฮุ่ย” และ “ช่วง ช่วง” แพนด้ายักษ์ขวัญใจชาวไทย

ทูตสันถวไมตรีจากจีนมาอยู่ในไทย

แพนด้า “ช่วง ช่วง” และ “หลินฮุ่ย” เป็นทูตสันถวไมตรีจากประเทศจีน และมาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2546 จากนั้นได้ให้กำเนิดลูกชื่อ หลินปิง ออกมาเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2552 เป็นลูกแพนด้าตัวแรกที่เกิดในประเทศไทยด้วยวิธีผสมเทียมของนักวิจัยไทย พอออกมาแล้วหลินปิงก็ได้ถูกนำส่งกลับจีนไป โดยพ่อกับแม่คือ ช่วง ช่วง และ หลินฮุ่ย ยังคงอยู่ที่ไทย จนช่วงช่วงได้มาเสียชีวิต และล่าสุดหลินฮุ่ยก็ได้เสียชีวิตตามกันไปในที่สุด

หลินฮุ่ย แพนด้าเพศเมีย

หลินฮุ่ย แพนด้าเพศเมีย เสียชีวิต

หลินฮุ่ย แพนด้าเพศเมีย มีชื่อไทยว่า “เทวี” และมีชื่อล้านนาว่า “คำเอื้อย” เกิดวันที่ 28 ก.ย.2544 ที่ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์แพนด้ายักษ์ เขตอนุรักษ์วู่หลง เมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน มีอายุ 20 ปี น้ำหนักตัว 138 กิโลกรัม ความสูงเมื่อยืนสองขาประมาณ 160 เซนติเมตร

ทั้งนี้ก่อนเสียชีวิต หลินฮุ่ยมีอาการผิดปกติตั้งแต่เมื่อวาน เจ้าหน้าที่จึงนำตัวไปตรวจหาสาเหตุ และได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของจีน หลังจากนั้นมาช่วงเช้าวันนี้ 19 เม.ย. 2566 ก็ได้รับการยืนยันว่าหลินฮุ่ยได้เสียชีวิตแล้ว ด้านสาเหตุยังไม่ระบุ ทางสวนสัตว์เชียงใหม่มีกำหนดจะแถลงข่าวเวลา 12.30 น.วันนี้

ช่วง ช่วง แพนด้าเพศผู้ คู่ของ หลินฮุ่ย

ช่วง ช่วง หัวใจวาย

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2562 “ช่วง ช่วง” แพนดาเพศผู้ คู่ของ “หลินฮุ่ย” ก็ได้เสียชีวิต โดยสาเหตุการตายจากการแถลงของคณะผู้เชี่ยวชาญจากไทยและจีน ไม่พบบาดแผลภายนอก ไม่พบสิ่งแปลกปลอม และพบว่าเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว ส่งผลให้อวัยวะภายในทั่วร่างกายขาดออกซิเจนทำให้เสียชีวิต ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 16 ปี ที่อยู่ในสวนสัตว์เชียงใหม่ มีนักท่องเที่ยวเข้าชมกว่า 15 ล้านคน ทำให้สร้างรายได้ให้กับสวนสัตว์กว่า 295 ล้านบาท

หลินปิง ลูกแพนด้าตัวแรกด้วยวิธีผสมเทียมของนักวิจัยไทย

หลินปิง ลูกของ “ช่วง ช่วง” และ “หลินฮุ่ย” ได้คลอดออกมาเมื่อวันที่ 27 พ.ค.2552 ถือเป็นลูกแพนด้าตัวแรกที่เกิดในประเทศไทยด้วยวิธีผสมเทียมของนักวิจัยไทย

ย้อนกลับไปในช่วงเวลาผสมเทียมให้หลินฮุ่ยได้เกิดขึ้นในวันที่ 18 ก.พ.52 เวลา 10.39 น. ซึ่งเวลานั้นตรงกับที่แพนด้าหลินฮุ่ยเกิดเลยคือเวลา 10.39 น. เช่นแทบจะเรียกว่าเป็นเรื่องปฏิหาริย์ แค่หลินฮุ่ยคลอดลูกออกมาก็แทบจะไม่เชื่อ เพราะอยู่ในช่วงที่กำลังลุ้นว่าท้องไม่ท้อง แต่กลับเกิดลูกออกมาแบบไม่ต้องให้ลุ้นเรื่องนี้ถือว่าเป็นข่าวที่ดีที่สุด

ทีมวิจัยและเจ้าหน้าที่ต่างมั่นใจว่าการผสมเทียมสำเร็จ ได้ติดตามและรอลุ้น เมื่อรู้ว่าหลินฮุ่ยกำลังท้อง พอเข้าวันที่ 130 นับจากผสมเทียม หลินฮุ่ย มีอาการส่งสัญญาณหลายด้านที่ทำให้คาดหมายว่าจะออกลูกทั้งระดับฮอร์โมนที่ขึ้นสูงและลดลงใกล้ปกติ การสร้างรัง นอนนาน และเลียอวัยวะเพศ ทำให้ช่วงเวลาระยะนั้นเจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมรับมือกัน 24 ชม.

27 พ.ค.52 เวลา 10.39 น. แพนด้าหลินฮุ่ย ได้เบ่งพรวดมีแพนด้าน้อยตัวเท่าลูกหนูออกมา โดยใช้ปากคาบลูกอย่างทะนุถนอมและดูหวงลูกเป็นพิเศษ โดยระยะเวลาที่หลินฮุ่ยท้องคือ 97 วัน ถือเป็นเรื่องปกติ

แต่แพนด้าน้อยถือเป็นกรณีพิเศษซึ่งเกิดจากการผสมเทียม และถือเป็นแพนด้าน้อยตัวแรกในโลกที่เกิดในปี 2552 เนื่องจากช่วงระยะเวลามี.ค. – เม.ย.จะเป็นช่วงที่แพนด้าติดสัตว์ แต่แพนด้าส่วนมากมักจะให้กำเนิดลูกในเดือน ก.ค.- ก.ย.

ภาพจาก – ซินหัว


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง