มีรายงานว่า วัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 หรือ Cs-37 หายจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่ง ใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ไปทำความรู้จักกันว่า ซีเซียม-137 คืออะไร อันตรายยังไง?
ซีเซียม-137 คืออะไร?
ซีเซียม-137 (Cesium-137) คือ สารไอโซโทปของซีเซียม เป็นธาตุรังสีซึ่งมีประจุไฟฟ้าบวก และยังเป็นหนึ่งในผลผลิตการแบ่งแยกนิวเครียส มีจำนวนมวลเท่ากับ 137 และมีชีวิตครึ่งระยะหนึ่ง (half-life) อยู่ที่ประมาณ 30 ปี
ซึ่งหมายความว่าหลังจาก 30 ปีแล้ว ปริมาณของซีเซียม-137 จะลดลงเหลือครึ่งหนึ่งของปริมาณเริ่มต้น สลายโดยปล่อยรังสีบีตา และรังสีแกมมา
ซีเซียม-137 ใช้ทำอะไรได้บ้าง?
ซีเซียม-137 นับเป็นไอโซโทปรังสีที่นิยมนำมาใช้ทางอุตสาหกรรมมากที่สุดตัวหนึ่ง มีเครื่องมือนับพันชนิดที่ใช้ซีเซียม-137 เช่น
- เครื่องวัดความชื้นและความหนาแน่น ที่มีใช้กันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง
- เครื่องวัดระดับ ใช้ในอุตสาหกรรม เพื่อตรวจวัดการไหลของ ของเหลวในท่อและแท็งก์
- เครื่องวัดความหนา สำหรับวัดความหนาของแผ่นโลหะ กระดาษ ฟิล์ม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ
- เครื่องหยั่งธรณี (well-logging) ในอุตสาหกรรมการขุดเจาะ เพื่อช่วยบอกลักษณะของชั้นดินและหินต่างๆ
- นอกจากนี้ยังใช้ซีเซียม-137 ในทางการแพทย์โดยใชบำบัดมะเร็ง ต้นกำเนิดรังสีแกมมามาตราฐานสำหรับการปรับเทียบระบบการวัดรังสีแกมมาในห้องปฏิบัติการวิจัยทางรังสี
อันตรายของ ซีเซียม -137
ซีเซียม-137 ยังอันตรายต่อมนุษย์เพราะเป็นสารก่อมะเร็ง หากได้รับในรูปแบบสารปนเปื้อนเข้าไปจะสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ ตับ และไขกระดูก ถูกขับออกโดยกระบวนการทางชีวภาพ ทางเหงื่อ และปัสสาวะ
การรับประทานอาหารที่มีซีเซียม-137 สูงเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งนี้ องค์การอาหารและยา กำหนดให้ตรวจปริมาณการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหาร 3 ชนิด คือ ไอโอดีน-131 (Iodine-131) ซีเซียม-137 (Cesium-137) และซีเซียม-134 (Cesium-134) หน่วยวัดปริมาสารกัมมันตรังสีในเครื่องดื่มหรือของเหลวจะใช้หน่วย “เบคเคอเรลต่อลิตร” ส่วนอาหารหรือของแข็งจะมีหน่วยเป็น “เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม”
เกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดคือ อาหาร ต้องมี Iodine-131 ไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซีเซียม-134 และซีเซียม-137 รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม
ซีเซียม-137 มีโอกาสตกค้างในสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ พืช และสัตว์ ซึ่งหมายความว่า คนเราอาจได้รับซีเซียม-137จากการปนเปื้อนไปกับอาหาร จากอาหารและน้ำดื่ม หรือสูดดูดฝุ่น
การรักษาความปลอดภัยและการควบคุมปริมาณซีเซียม-137 เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่มีการรั่วไหลของรังสีหรือเกิดเหตุการณ์นิวเคลียร์
สัญลักษณ์มาตรฐานของรังสี
สัญลักษณ์รังสี ที่ใช้เป็นมาตรฐาน มีรูปเป็นใบพัด (Cross-hatched) 3 แฉก มีสีม่วงอ่อน ม่วงเข้ม หรือดำ (magenta, purple, black) บนพื้นสีเหลือง
มีสัดส่วนของรัศมีวงกลมใน = R รัศมีวงกลมนอก = 1.5R และรัศมีของใบพัด = 5R
โดยมีข้อกำหนด ดังนี้
1.มีพื้นที่ส่วนที่เป็นใบพัด 3 แฉก และวงกลมตรงกลาง เป็นสีม่วงอ่อน สีม่วงเข้ม หรือสีดำ
2.มีสีพื้นเป็นสีเหลือง
3.นอกจากสีที่ใช้ในสัญลักษณ์มาตรฐานนี้แล้ว ผู้ได้รับอนุญาตสามารถใช้วิธีอื่น เช่น ประทับด้วยความร้อน ประทับตราด้วยแรงกด การกัดรอยลงในเนื้อวัสดุ หรือใช้สีอื่นในการติดตราสัญลักษณ์ของรังสี ลงบนภาชนะบรรจุสารรังสี หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับสารรังสี
4.แสดงข้อมูลเพิ่มเติมบนฉลากและเครื่องหมาย ผู้ได้รับอนุญาตควรแสดงข้อมูลปริมาณรังสีลงบนฉลาก หรือตำแหน่งที่ใกล้กับเครื่องหมายรังสี เพื่อให้ผู้ที่พบเห็นมีความระมัดระวัง และได้รับรังสีน้อยที่สุด
ที่มา : flickr,en.m.wikipedia.Caesium-137, nst