เมื่อการเมืองกับความเห็นต่างเป็นของคู่กัน ก็ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัยแต่ละรัฐบาล มักจะมีกลุ่มประชาชนที่ออกมาจัดกิจกรรม การชุมนุม เพื่อแสดงออกทางการเมืองในเชิงสัญลักษณ์ต่าง ๆ
แน่นอนว่าการชุมนุมรวมถึงการแสดงออกทางการเมืองย่อมกระทำได้ ภายใต้กรอบกฎหมายตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ แต่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดว่ามีนักเคลื่อนไหวทางการเมือง หลายร้อยหลายพันคนถูกดำเนิคดีทางการเมือง
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เปิดเผยข้อมูลเฉพาะตั้งแต่มีการชุมนุมของ ‘เยาวชนปลดแอก’ ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 63 จนถึง เมษายน 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,902 คน ในจำนวน 1,203 คดี
ซึ่งถูกดำเนินคดีทั้ง คดี ม.112 , ม.116 , ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ , ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ , ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวมไปถึงกลุ่มเยาวชนอีกหลาย ๆ คนก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหา จากการชุมนุมหรือแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ตามที่เราได้เห็นจากหน้าสื่ออยู่ตลอดในช่วงที่ผ่านมา จนนำไปสู่ข้อถกเถียงในเรื่องการออกร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ที่ทางพรรคก้าวไกลได้พยายามเสนอเข้าที่ประชุมสภา
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาในอดีตมีการพยายามเสนอ พรบ.นิรโทษกรรม อย่างในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็กลับกลายไปสู่ความเห็นต่างทางการเมือง จนนำไปสู่ความขัดแย้งภายในประเทศ
สถิติคดีทางการเมืองปี 2563-2566
ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,902 คน ในจำนวน 1,203 คดี
ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 284 ราย ใน 211 คดี โดยแยกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 41 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 243 คน แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
- 1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 242 คน ในจำนวน 262 คดี
- 2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 130 คน ในจำนวน 41 คดี
- 3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง)
- 4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 144 คน ในจำนวน 79 คดี
- 5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 167 คน ในจำนวน 186 คดี
- 6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 28 คน ใน 9 คดี
จากจำนวนคดี 1,203 คดีดังกล่าว มีจำนวน 343 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 860 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ
ที่มาของ พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับก้าวไกล
อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้นในช่วงตั้งแต่หลังรัฐบาลปี 2557 และเข้าสู่ยุคของ ‘บิ๊กตู่’ หลังการเลือกตั้งปี 2562 การชุมนุมทางการเมือง โดยเฉพาะบทบาทของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาเรียกร้องและแสดงความเห็นต่างทางการเมือง รุนแรงไปถึงการสลายการชุมนุมต่าง ๆ
สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นแกนนำกลุ่ม ผู้ชุมนุม ไม่เว้นแต่แอดมินเพจที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ล้วนถูกแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีทางการเมืองทั้งสิ้น
และเป็นที่ทราบการดีว่าตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ หรือ พรรคก้าวไกล ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะมองว่าการที่กลุ่มผู้ชุมนุมออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองเช่นนี้ แต่กลับถูกรัฐบาลแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินนั้น มันไม่เป็นธรรมกับประชาชนที่ถูกดำเนินคดี
นั้นจึงนำไปสู่การเสนอร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ของพรรคก้าวไกล ที่เปิดตัวร่าง พรบ.นิรโทษกรรมประชาชน เมื่อ 19 พ.ย.66 ที่ผ่านมา
เนื้อหาสำคัญ ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม (ฉบับก้าวไกล)
เนื้อหาสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของพรรคก้าวไกล คือกำหนดให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลผู้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ตลอดจนการกระทำทางกายภาพหรือการแสดงความคิดเห็นใด ๆ ที่เป็นความผิดตามกฏหมายในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2549 (การชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มพันธมิตรฯ) จนถึงวันที่ พ.ร.บ.นี้ มีผลบังคับใช้ หากการกระทำดังกล่าวมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดต่อพันธกรณีตามกฏหมายระหว่างประเทศ
เงื่อนไขการนิรโทษกรรม
- จะไม่ครอบคลุมถึงการกระทำของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม หากเป็นการกระทำที่เกินสมควรกว่าเหตุ
- จะไม่นิรโทษกรรมการกระทำความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา และจะไม่นิรโทษกรรมการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113
กลไกการนิรโทษกรรม กำหนดให้มี ‘คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม’ ซึ่งในร่างของพรรคก้าวไกลเสนอให้มี 9 คน ประธานรัฐสภาจะเป็นผู้แต่งตั้ง ประกอบด้วย
- ประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 คน
- ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 1 คน
- บุคคลที่ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรี 1 คน
- บุคคลที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกอีก 2 คน
และเพื่อให้มีความรอบคอบ จะมีองค์ประกอบ
- มาจากผู้พิพากษาหรืออดีตผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม 1 คน ซึ่งมาจากการเสนอของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
- มาจากตุลาการหรืออดีตตุลาการศาลปกครอง 1 คน
- มาจากพนักงานอัยการหรืออดีตพนักงานอัยการ 1 คน ซึ่งมาจากการเสนอของศาลปกครองและอัยการเอง
- คนสุดท้าย คือเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
นอกจากนี้ ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรือจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง อันเนื่องมาจากระเบียบ ประกาศ คำสั่ง คำวินิจฉัย หรือมติ หรือการกระทำของคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดฯ ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีสิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้
ตั้งแต่ปี 2549 มีการร่าง พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับ?
นิรโทษกรรม คปค.
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งรัฐประหารปี 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการนิรโทษกรรม คปค. ซึ่งถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 มาตรา 37
โดยนิรโทษกรรม คปค. รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมาย ในการกระทำจากการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ไม่ว่าการกระทำจะมีผลในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ รวมถึงการลงโทษและการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่าการกระทำนั้นจะกระทำก่อนหรือหลัง 19 กันยายน 2549 นอกจากนี้ มาตรา 36 ยังกำหนดให้คำสั่งและประกาศคปค. ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม รัฐบาลยิ่งลักษณ์
“นิรโทษกรรมเหมาเข่ง” หรือ “นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย” มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน” โดย “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” เป็นจุดพลิกผันสำคัญอันนำไปสู่การประกาศยุบสภาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ที่เสนอโดยนายวรชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และคณะ
มีวัตถุประสงค์ต้องการนิรโทษกรรมผู้ต้องขังจากคดีเผาศาลากลางจังหวัดจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประกอบด้วย 7 มาตรา
แต่สุดท้าย ร่าง พรบ.นิรโทษกรรม รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ไปถึงฝั่งฝัน เนื่องด้วยกระแสการกดดันของกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน ที่นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ การชุมนุม “กปปส.” จนสุดท้ายต้องยุบสภาลงไป และไม่มีการผลักดัน พรบ.นิรโทษกรรม ฉบับดังกล่าวอีก
นิรโทษกรรมการรัฐประหารปี 2557
เมื่อครั้งที่เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ได้กำหนดบทบัญญัตินิรโทษกรรม คสช. ไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 48
ซึ่งกำหนดให้บรรดาการกระทำเนื่องจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของคสช. รวมไปถึงผู้ที่ได้รับมอบหมายหรือได้รับคำสั่ง ไม่ว่าจะเป็นการกระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือในทางตุลาการ
รวมทั้งการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลัง 22 พฤษภาคม 2557 หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง และมาตรา 47 รับรองว่าประกาศหรือคำสั่งคสช. ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
ข้อมูล :
- ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
- พรรคก้าวไกล
- iLaw