ปัญหายาเสพติด ถือได้ว่าเป็นปัญหาระดับโลก ที่นานาประเทศต่างให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด เพราะเป็นหนึ่งในสารตั้งต้นนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ มากมาย
ข้อมูลจากรายงาน World Drug Report 2022 ของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC : United Nations Office on Drugs and Crime) พบว่าในปี 2563 มีจำนวนประชากรกว่า 284 ล้านคนจากทั่วโลก ในช่วงอายุ 15-64 ปี ที่ติดยาเสพติด
ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญกับปัญหายาเสพติดมาโดยตลอด ล่าสุดทางกระทรวงสาธารณสุข หารือร่วมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด มีความเห็นตรงกันเสนอให้กำหนดจำนวน “ยาบ้า” ไม่เกิน 5 เม็ด สันนิษฐานเป็น “ผู้เสพ” โดยพิจารณาจากข้อมูลทั้งด้านการแพทย์ ผลกระทบด้านการบังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การบำบัด และด้านราชทัณฑ์
“ยาบ้า” ไม่เกิน 5 เม็ด ถือเป็นผู้เสพ?
เมื่อไม่นานมานี้ทางกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
หารือการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ตามข้อสั่งการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายเรื่องยาเสพติดโดยการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ซึ่งการออกร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. … ตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 นั้น
กระทรวงสาธารณสุขเคยเสนอร่างฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา และได้ให้มีการทบทวน ซึ่งจากการประชุมร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ทั้งข้อมูลวิชาการทางการแพทย์ ที่มีผู้แทนจากกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มาให้รายละเอียดเกี่ยวกับองค์ประกอบของยาและผลกระทบจากขนาดของยา และผลกระทบในมิติอื่น ๆ เช่น ผู้บังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม มิติต่อสังคมและชุมชน ที่จะเกิดจากกำหนดจำนวนยาเสพติด ระบบจัดการทางกฎหมาย การบำบัด กระบวนการยุติธรรม และระบบราชทัณฑ์
โดยเบื้องต้นมีความเห็นตรงกันว่า ในส่วนของเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้าที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในการครอบครองเพื่อใช้เสพ ควรกำหนดไว้ไม่เกิน 5 เม็ด การกำหนดปริมาณไว้ที่ 5 เม็ด จะเป็นการให้โอกาสกับผู้ที่ครอบครองตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้สันนิษฐานไว้ใช้ในการครอบครองเพื่อเสพ ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น ในการแยกแยะเบื้องต้นว่าเป็นผู้เสพ ซึ่งหากสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาจะไม่ถูกดำเนินคดี แต่หากไม่สมัครใจบำบัด ก็จะดำเนินคดีส่งศาลเพื่อบังคับบำบัดต่อไป
แต่หากสืบสวนพบพฤติกรรมว่ามีการค้า ก็จะมีความผิดต้องถูกดำเนินคดี เพราะไม่ถือว่าเป็นผู้เสพ ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ ตามระเบียบของการออกร่างกฎกระทรวง จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ก่อน จากนั้นจึงจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยจะมีการพิจารณาปริมาณยาเสพติดอื่นๆ ที่ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพไว้ในร่างกฎกระทรวงด้วย
ปัญหายาเสพติดในไทย
ข้อมูลจากทาง ป.ป.ส. เมื่อปี 2564 พบว่า ปัญหายาเสพติดยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย การลักลอบนำเข้ายาเสพติดเปลี่ยนเส้นทางจากชายแดนภาคเหนือ ไปลักลอบนำเข้าผ่านแนวชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่รูปแบบการลักลอบลำเลียงยาเสพติดยังคงใช้การลำเลียงโดยรถยนต์ส่วนบุคคลในรูปขบวนลำเลียง รถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถยนต์กระบะดัดแปลงติดตู้บรรทุกสินค้า เป็นหลัก
และยังพบบางกรณีมีการใช้บริษัทขนส่งพัสดุภัณฑ์เอกชนลำเลียงยาเสพติดจำนวนมากจากพื้นที่ชายแดนเข้าสู่พื้นที่ตอนใน และส่งไปจังหวัดทางภาคใต้ โดยยาเสพติดที่ถูกตรวจยึดในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเป็นการลำเลียงผ่านไปยังต่างประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนประเทศในแถบเอเชียตะวันออก และภูมิภาคโอเชียเนีย
นอกจากปัญหาการลักลอบนำเข้ายาเสพติด ปัญหาการค้ายาเสพติดก็เพิ่มระดับความรุนแรงขึ้น กลุ่มการค้าทุกระดับ สามารถจัดหายาเสพติดได้หลายชนิด และในปริมาณที่มาก เครือข่ายสังคมออนไลน์กลายเป็นช่องทางสำคัญในการติดต่อซื้อขายยาเสพติด ส่งผลให้มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว
ส่วนปัญหาการแพร่ระบาดภายในประเทศ ยาบ้า ไอซ์ เฮโรอีน และ คีตามีน มีปัญหาการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นตามลำดับ โดยประชากรกลุ่มเยาวชนยังคงมีสัดส่วนการเข้าไปเกี่ยวข้องมากที่สุด
แนวโน้มสถานการณ์ยาเสพติด
รายงานด้านการปรามปราบยาเสพติดของทาง ป.ป.ส. เมื่อปี 2564 ได้มีการประเมินสถานการณ์ยาเสพติดภายในประเทศไว้ดังนี้
- 1) ปัญหายาเสพติดภายในประเทศจะยังคงรุนแรง โดยเฉพาะปัญหาการลักลอบนำเข้า ภายหลังการเปิดประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ
- 2) จากปัญหาการขยายตัวของยาเสพติดสังเคราะห์ในกลุ่มประเทศนอกภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประเทศไทยอาจจะเผชิญการลักลอบลำเลียงผ่านยาเสพติดผ่านทางท่าเรือ ท่าอากาศยาน และพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ไปยังประเทศที่สามมากขึ้น
- 3) การขยายตัวของเครือข่ายอาชญากรรมยาเสพติดข้ามชาติ ที่เข้ามาเคลื่อนไหวในประเทศไทย ยังคงเป็นแนวโน้มปัญหาสำคัญ
- 4) ปริมาณยาเสพติดที่แพร่กระจายในทุกภาคส่วนของสังคม ทำให้ความต้องการยาเสพติดภายในประเทศยังคงมีสูง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงวิธีการมาเสพยาเสพติดแบบผสมผสาน
คดีการจับกุมสูงสุดในพื้นที่ภาค 9 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อหาเสพและครอบครองเพื่อจำหน่ายยาบ้า รองลงมาในพื้นที่ภาค 4 แต่เมื่อพิจารณาถึงคดีการจับกุมที่มีปริมาณของกลางจำนวนมาก อาทิ ยาบ้า พบมากในพื้นที่ ภาค 5 (จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแพร่) รองลงมาคือ ภาค 4 (จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ และเลย)
เฮโรอีน พบมากในพื้นที่ ภาค 4 (จังหวัดนครพนม บึงกาฬ และมุกดาหาร) รองลงมาคือ ภาค 5 (จังหวัดแพร่ เชียงใหม่ และเชียงราย) ไอซ์ พบมากในพื้นที่ ภาค 4 (จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ และกาฬสินธุ์) รองลงมาคือ ภาค 9 (จังหวัดสงขลา ปัตตานี และนราธิวาส) กัญชาแห้ง พบมากในพื้นที่ ภาค 4 (จังหวัดนครพนม มุกดาหาร และขอนแก่น) รองลงมาคือ ภาค 1 (จังหวัดสระบุรี นนทบุรี และสมุทรปราการ) ตามลำดับ
ตัวเลขผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด
จากข้อมูลการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2566 ของ ระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) และสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) มีผู้เข้ารับการบำบัด ทั้งหมด 186,104 ราย
ซึ่งผู้ที่เข้ารับการบำบัดมีอายุมากกว่า 39 ปี เป็นสัดส่วนจำนวนมาก และพบผู้เข้ารับการบำบัดอายุน้อยสุดอายุต่ำกว่า 7 ปี โดยแบ่งเป็นการใช้ ยาบ้า เฮโรอีน และกัญชา ตามลำดับ
หากแบ่งอาชีพ 5 อันดับแรกที่มีการใช้ยาเสพติดและเข้ารับการบำบัด โดยพบ อาชีพรับจ้าง 95,043 ราย ว่างงาน 32,732 ราย การเกษตร 30,518 ราย การค้าขาย 7,438 ราย นักเรียน นักศึกษา 4,805 ราย ตามลำดับ
ข้อมูล :
- ป.ป.ส.
- กระทรวงสาธารณสุข