เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น สำหรับ ‘เหตุกราดยิงพารากอน’ นำไปสู่การสูญเสียมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ปัญหาอาชญากรรมด้วยการใช้ความรุนแรงเช่นนี้ หลายหน่วยงานพยายามออกมาตรการเพื่อหยุด!! ‘พฤติกรรมเลียนแบบ’ เพราะเพียง 1 ปี เท่านั้นจากเหตุกราดยิงที่หนองบัว เมื่อปี 2565 ก็มาเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเช่นนี้อีก
ภัยอาชญากรรมสาธารณะเราไม่อาจคาดการณ์ได้เลย แต่การป้องกันระวังตัวก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะเมื่อเราต้องกลายมาเป็น ‘ผู้ประสบเหตุ’ หรือ ไม่ได้เป็นก็ตาม ทักษะความรู้เกี่ยวกับการเอาชีวิตรอดย่อมเป็นสิ่งจำเป็น
เฉกเช่นเดียวกับในประเทศมหาอำนาจอย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ที่มีข่าวเหตุกราดยิงอยู่บ่อยครั้ง จนต้องมีการออกกลยุทธ์วิธีโดยทาง FBI หรือ Federal Bureau of In vestigation หน่วยสืบสวนคดีอาญาของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ความรู้กับพลเรือน ในชื่อ “Run Hide Fight” หนี ซ่อน สู้ หรือ วิ่ง ซ่อน สู้
“วิ่ง ซ่อน สู้” คืออะไร
“Run Hide Fight” หรือ วิ่ง ซ่อน สู้ ของทาง FBI เป็นการเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต ด้วยการใช้ยุทธวิธีการวิ่ง ซ่อนตัว และต่อสู้ ตลอดจนการรู้พื้นฐานของการปฐมพยาบาลผู้อื่น โดยแบ่งขั้นตอนเป็นดังนี้
วิ่ง (Run)
เป็นการวิ่งเพื่อหนีจากที่เกิดเหตุ
- 1. ต้องทิ้งสัมภาระส่วนตัวที่ไม่จำเป็น เพื่อทำให้เคลื่อนไหวได้เร็ว
- 2. หากเจอคนอื่นสามารถช่วยเหลือได้
- 3. ในระหว่างวิ่งหนี ควรแจ้งเหตุให้บุคคลภายนอกได้รับทราบ
กรณีอยู่ในจุดที่มือปืนกราดยิง การวิ่งหนีจะมี 2 กรณีคือ การวิ่งเป็นเส้นตรง ซึ่งจะใช้ในกรณีที่มือปืนกราดยิงในลักษณะซ้ายขวาไปมา กับการวิ่งแบบซิกแซก จะเหมาะกับสถานการณืที่มือปืนเลือกยิงเฉพาะจุด ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือต้องมีสติและประเมินสถานการณ์เบื้องต้น
ซ่อน (Hide)
เป็นการซ่อนตัวในกรณีที่ไม่สามารถหนีได้
- 1.พยายามซ่อนให้พ้นจากสายตาของผู้ก่อเหตุ
- 2.เลือกสถานที่ซ่อนตัวที่มีผนังหนาและหน้าต่างน้อย
- 3.ล็อกประตูและเครื่องกีดขวาง
- 4.ปิดไฟ , ปิดผ้านม่าน
- 5.ปิดเสียงโทรศัพท์และปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ
- 6.กรณีที่อยู่ในที่โล่งแจ้ง สามาถแอบหลังกำแพง ต้นไม้ ได้
ทั้งนี้ในระหว่างซ่อนตัว หากจำเป็นต้องติดต่อแจ้งเหตุให้ใช้วิธีการส่งข้อความ และแชร์โลเคชั่น และรอเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาช่วยเหลือ นอกจากนี้ในการซ่อนตัวพยายามหมอบตัวไว้ เนื่องจากโดยปกติรัศมีการยิงจะอยู่ในระดับเอวขึ้นไป
สู้ (Fight)
เป็นการเตรียมพร้อมต่อสู้ในกรณีที่เข้าตาจน คนร้ายเข้ามาในระยะประชิดในจุดที่ซ่อนตัว
- 1. การโจมตีที่รุนแรงที่สุด โดยเน้น 3 จุด คือ ตา คอ และหว่างขา ซึ่งเป็นจุดที่คนร้ายจะหยุดชะงักและสามารถซ้ำได้
- 2. ในกรณีที่มีผู้อื่นด้วย ให้ร่วมกันช่วยต่อสู้กับคนร้าย
- 3. พยายามหาสิ่งของใกล้ตัวที่สามารถนำมาป้องกันตัว หรือ ต่อสู้กับคนร้ายได้
ในประเทศไทยมีการฝึกอบรม ‘วิ่ง ซ่อน สู้’ หรือไม่
การฝึกอบรม ‘วิ่ง ซ่อน สู้’ เริ่มมีการนำเข้ามาเผยแพร่ได้ประมาณ 1-2 ปี โดยหลังเหตุการณ์กราดยิงที่โคราชปี 63 และ กราดยิงที่หนองบัวลำภู ปี 65 ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. (ตำแหน่งในขณะนั้น) ให้นโยบายในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเร่งถอดบทเรียนให้ความรู้ “หนี-ซ่อน-สู้” รับมือภัยร้ายในพื้นที่สาธารณะ และสถาบันการศึกษา
โดยเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์ แผนกมัธยม เจ้าหน้าที่ได้จัดอบรมหลักสูตร Active Shooter เป็นการฝึกใช้วิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ( กราดยิง )
ซึ่งการสาธิตในครั้งนั้นมีการบันทึกภาพและเสียงทำเป็นวิดีโอเผยแพร่ ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงศึกษาธิการได้ทำข้อตกลงกันเพื่อที่จะส่งครูฝึกที่เป็นตำรวจที่ได้รับการฝึกมาแล้วทุก สน. ให้ไปสอนให้กับคุณครูตามโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนทั้งประเทศมีกว่า 20,000 กว่าโรงเรียน โดยเน้นความเข้าใจที่ง่ายอย่างเช่น Run Hide Fight คือการหลีกเลี่ยง หลบซ่อน การเข้าสู้
ทั้งนี้ในกิจกรรมฝึกครั้งนั้นมีส่วนสถานการณ์จำลองโดยจะมีคนร้ายเข้ามาในสถานที่ที่กำหนดแล้วกราดยิงใส่กลุ่มผู้ฝึกซ้อมเพื่อให้ผู้ฝึกซ้อมใช้ทักษะที่อบรมมาในการปฎิบัติภารกิจ โดยจะสามารถประยุกต์ใช้ในสถานที่ต่างๆเช่นสถานประกอบการห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา สถานที่โล่งแจ้งรับมือกับอาวุธได้ทั้งปืนและมีด
การตัดวงจรการลอกเลียนแบบความรุนแรง (เหตุกราดยิง)
โดยเมื่อปี 2563 คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการเสวนาทางวิชาการ ถอดบทเรียนทางจิตวิทยา “เหตุกราดยิง” พร้อมขอความร่วมมือสื่อมวลชนและทุก ๆ ท่านในทิศทางการสื่อสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว โดยจำแนกดังนี้
สิ่งที่ไม่ควรทำ
- 1.การเปิดเผยชื่อ ภาพ เครื่องแบบ เรื่องราวส่วนตัว ประวัติ และแรงจูงใจในการก่อเหตุของผู้กระทำผิด
- 2.การสื่อความในลักษณะที่ทำให้ผู้ก่อเหตุดูเท่ ดูเก่ง เช่น ใช้คำบรรยายว่า “อุกอาจ”
- 3.การรายงานเน้นจำนวน ผู้เสียชีวิต / ผู้บาดเจ็บเปรียบเทียบว่าครั้งนี้เส้ยชีวิต/บาดเจ็บกี่คน มากกว่าหรือน้อยกว่าครั้งก่อนเท่าไร
สิ่งที่ควรทำ
- 1.ไม่เอ่ยชื่อ ไม่ให้ตัวตนคนร้าย
- 2.นำเสนอเรื่องราวของผู้ประสบเหตุแทน เพื่อสร้างตัวแบบทางบวกกว่าคนเหล่านี้ ผ่านเรื่องราวเลวร้ายร่วมกันมาได้อย่างไร
- 3.เล่าเรื่องราวของผู้ที่แจ้งเหตุก่อนผู้ที่ตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น
- 4.อัปเดตเหตุการณ์ตามจริง ตรงไปตรงมา ไม่เร้าอารมณ์
- 5.เน้นเรื่องการป้องกันและการเยียวยา
…
ข้อมูล :
- https://www.fbi.gov/
- สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย