คัดลอก URL แล้ว
เอล นีโญ – การเมือง – คอรัปชั่น ต้นตอเขื่อนแตกในลิเบีย เสียชีวิตนับหมื่นราย

เอล นีโญ – การเมือง – คอรัปชั่น ต้นตอเขื่อนแตกในลิเบีย เสียชีวิตนับหมื่นราย

จากเหตุการณ์พายุเดเนียลได้พัดถล่มบริเวณชายฝั่งประเทศลิเบีย ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักมากและนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในเมืองเดอร์นา จากการที่เขื่อน 2 แห่งพังทลายลง

น้ำปริมาณมหาศาลหลากเข้าท่วมเมืองเดอร์นา ที่มีประชากรอาศัยอยู่ราว 9 หมื่นคน ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่าหมื่นราย และยังคงสูญหายอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ จะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 หมื่นราย และอาจจะสูงถึง 3 หมื่นราย

ทำให้หลายฝ่ายเกิดความสงสัยว่า สาเหตุใดกันแน่จึงทำให้เหตุดังกล่าว กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากขนาดนี้ โดยเฉพาะคำถามที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจาก “เอล นีโญ” หรือ “คอรัปชั่น” ที่เกิดขึ้นในประเทศลิเบียกันแน่

เขื่อน 2 แห่ง ในเมืองเดอร์นา

เมืองเดอร์นา ประเทศลิเบีย เป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อยู่ทางตะวันออกของประเทศลิเบีย ซึ่งสภาพของเมืองโดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบบริเวณปากแม่น้ำ โดยมีหุบเขาขนาดใหญ่อยู่ด้านใต้ของเมือง กินพื้นที่กว่า 575 ตารางกิโลเมตร โดยทั่วไป เป็นพื้นที่แห้งแล้ง

ทำให้ชุมชนถูกสร้างขึ้นอยู่ใกล้กับแม่น้ำอย่างหนาแน่น โดยในเมืองเดอร์นาประชากรในเมืองเดอร์นามีอยู่ราว 9 หมื่น – 1 แสนคน แต่ในเหตุการณ์ครั้งนี้ คาดว่า มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นราย หรือคิดกว่า 20% ของประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองเดอร์นาแห่งนี้

เมื่อเกิดฝนตกหนักมักจะเกิดอุทุกภัยบ่อยครั้ง เนื่องจากพื้นที่รับน้ำจากหุบเขาที่อยู่สูงกว่า น้ำจึงไหลตามร่องเขาลงสู่แม่น้ำ ดังนั้น เพื่อปกป้องเมืองจากเหตุอุทกภัย จึงได้มีการสร้างเขื่อนหินโดยมีแกนกลางเป็นดินอยู่ตรงกลาง จำนวน 2 แห่งด้วยกัน เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และเป็นเครื่องมือในการจัดการน้ำ ไม่ให้หลากลงสู่เมืองเดอร์นาโดยตรง เขื่อนทั้ง 2 แห่งนี้ คือ

การก่อสร้างเขื่อนเป็นการก่อสร้างโดยบริษัทจากประเทศยูโกสลาเวีย ภายหลังจากการก่อสร้างเขื่อนทั้งสอง ช่วยลดการเกิดอุทกภัยให้กับพื้นที่ได้อย่างมาก

ฝนถล่มกว่า 400 มม. ใน 24 ชม.

พายุเดเนียลก่อตัวขึ้นในทะเลเมดิเตอร์เรเนียล โดยพายุลูกนี้ ก่อนตัวขึ้นในช่วงวันที่ 5 ก.ย. 2566 ซึ่งทำให้บางพื้นที่ของกรีซ บัลแกเรีย รวมถึงตุรกี ได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่ตกหนัก ก่อนที่จะวกลงใต้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศลิเบีย และพัดอ้อมเมืองเดอร์มาไป โดยในการพัดผ่านไปนั้นเฉพาะในวันที่ 10 ก.ย. 2566 พายุนั้นพัดด้วยความเร็วลมประมาณ 70-80 กม./ชม. มีฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยปริมาณฝนอยู่ที่ระหว่าง 150 – 240 มม. ทำให้น้ำท่วมในหลายเมืองที่พายุพัดผ่าน ในขณะที่ปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักมีมากถึง 414.1 มม. ในช่วงเวลาเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น

โดยมีการประเมินว่า ปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่หุบเขาทางตอนใต้ของเมืองเดอร์นา มีปริมาณรวมกันมากกว่า 115 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีปริมาณมากกว่าที่เขื่อนทั้งสองแห่งสามารถรับได้ นับเป็นตัวเลขที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลพวงมาจากปรากฎการณ์เอล นีโญ ที่ส่งผลให้พายุมีความรุนแรงมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน และทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ในหลายประเทศในแถบนี้

ภูมิประเทศบีบให้น้ำหลากสู่เมือง

ด้วยความเป็นเมืองที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำ พื้นที่หุบเขาอยู่ทางใต้ของเมือง เมื่อพายุแดเนียลพัดขึ้นไป ได้พัดพาเอาน้ำฝนจำนวนมหาศาลไปตกในพื้นที่หุบเขาที่อยู่เหนือเมืองขึ้นไป

ปริมาณน้ำฝนจำนวนมากจึงไหลลงมาร่วมกันตามร่องน้ำในหุบเขา และถูกบีบให้ลงมายังแม่น้ำ ซึ่งมีเขื่อนทั้งสองแห่งกั้นอยู่ ด้วยปริมาณน้ำฝนที่มีจำนวนมาก พื้นที่หุบเขาส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แห้งแล้ง ไม่มีต้นไม้หรือสิ่งใดที่จะยับยั้ง หรือชะลอน้ำให้ช้าลงได้

ทำให้น้ำปริมาณมหาศาลถูกบีบลงสู่แม่น้ำสายหลักอย่างรวดเร็วเข้าไปสู่เขื่อน Abu Mansour ที่อยู่ห่างจากเมืองไปราว 13 กม. ทำให้น้ำฝนบางส่วนถูกกักไว้ แต่เมื่อมันมากเกินกว่าที่เขื่อนจะรับได้ ส่งผลเขื่อนพังทลายลง และน้ำที่ถูกบีบให้ไหลตามแม่น้ำที่อยู่ในหุบเขา ยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น พุ่งทะลวงสู่เขื่อน Abu Mansour ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก และอยู่ห่างจากเมืองไปเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น

ซึ่งเขื่อนดังกล่าว จึงไม่สามารถรองรับปริมาณกระแสน้ำที่รุนแรง และมหาศาลเหล่านั้นได้ พังลงในระยะเวลาไม่นานนัก สอดคล้องกับข้อมูลของบรรดาผู้รอดชีวิตที่ระบุว่า ได้ยินเสียงดังคล้ายสิ่งก่อสร้างระเบิด และหลังจากนั้นไม่นาน น้ำทะลักเข้าสู่เมืองไม่ต่างจากสึนามิ

เมื่อกระแสน้ำที่หลากลงจากหุบเขา ก็ไหลเข้าสู่เมืองซึ่งเป็นที่ราบปากแม่น้ำ ส่งผลให้กระแสน้ำแผ่กระจายออกจากแนวแม่น้ำสายหลัก ชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้กับแม่น้ำจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก จากกระแสน้ำที่รุนแรงที่หลากเข้าท่วมพื้นที่

แรงปะทะของน้ำที่มีปริมาณมาก ทำให้สิ่งปลูกสร้างที่ขวางทางน้ำได้รับความเสียหาย พังทลายลงเป็นจำนวนมาก สิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ หรือแม้แต่รถยนต์ของประชาชนจึงถูกน้ำพัดพาออกไปสู่ทะเล รวมถึงร่างของผู้เคราะห์ร้ายอีกจำนวนมากที่ถูกน้ำพัดพาลงสู่ทะเล ทำให้ในขณะนี้ ยังคงมีรายงานผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก

เดอร์นา เมืองกบฎที่ถูกละเลย

เมืองเดอร์นามีประวัติมายาวนานในฐานะเมืองท่าแห่งหนึ่งของลิเบียที่อยู่ทางตะวันออก มีชื่อเสียงและได้รับความสนใจในฐานะเมืองที่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางของศิลปะ วัฒนธรรม

แต่ในช่วงปี 2011 ในช่วงเหตุการณ์ “อาหรับสปริง” ลิเบียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการลุกฮือของประชาชน เพื่อประท้วงการปกครองของ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำเผด็จการของประเทศ เมืองเดอร์นาเป็นหนึ่งในหัวเมืองด้านตะวันออกที่มีแนวร่วมต่อต้านผู้นำเผด็จการอย่างกัดดาฟี มาตั้งแต่ปลายยุค 90 อย่างต่อเนื่อง

เมืองเดอร์นาจึงกลายเป็นหนึ่งในเมืองที่ไม่ได้รับการดูแลและถูกละเลยจากรัฐบาลกลาง ที่สืบเนื่องจากความไม่พอใจของกัดดาฟี หลังประชาชนในเมืองเดอร์นาเข้าวร่วมกลุ่มต่อต้านอำนาจเผด็จการของตนเอง

(Photo by Hamza Turkia/Xinhua)

ภายหลังกัดดาฟีถูกโค่นล้มลงจากอำนาจ เมืองเดอร์นาต้องเผชิญกับการเข้ามาของกองกำลังติดอาวุธกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ กลุ่มไอเอส แม้จะสามารถผลักดันกลุ่มติดอาวุธดังกล่าวออกไปได้สำเร็จ แต่การเมืองภายในประเทศยังคงเป็นปัญหา เนื่องจากลิเบียร์แบ่งขั้วออกเป็นสองฝ่ายคือของกองกำลังทหารฝ่ายตะวันตก และตะวันออก ที่แย่งชิงอำนาจกันตั้งแต่หลังจากกัดดาฟีถูกสังหาร

ความวุ่นวายดังกล่าว จึงทำให้ลิเบียมีทั้งรัฐบาลฝ่ายตะวันออก ที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งอิยิปต์ ฝรั่งเศส UAE เป็นต้น ในขณะที่ฝั่งตะวันตกนั้นถือเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ที่ดูแลเมืองตริโปลี เมืองหลวงของประเทศไว้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชาติอื่น เช่น อิตาลี กาตาร์ ตุรกี และกลุ่มชาติมุสลิมอื่น ๆ ซึ่งนั่นยังไม่รวมกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธอื่น ๆ ที่อยู่ทางตอนใต้ของประเทศ

สถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่เกิดขึ้นนี้ จึงส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานในเมืองเดอร์นา ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร ซึ่งรวมถึงเขื่อนทั้งสองแห่งที่พังทลายในครั้งนี้ด้วยเช่น กัน

(Photo by Hamza Turkia/Xinhua)

คอรัปชั่นซ้ำเติมสู่วิกฤติ

การแบ่งขั้วทางการเมือง ทำให้เงินงบประมาณที่ถูกแบ่งลงมาสู่เมืองเดอร์นาแห่งนี้ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ควรจะได้รับ การพัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จึงทำได้เท่าที่จะมีงบประมาณที่ได้รับมาจากรัฐบาลกลาง แต่นั่นกลับถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาการคอรัปชั่นจำนวนมาก

โครงสร้างพื้นฐานที่มีของเมืองจึงถูกละเลย และไม่ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง มีการก่อสร้าง และซ่อมบำรุงที่ไม่ได้มาตรฐาน ไปจนถึงการลักลอบขโมยทรัพย์สินสาธารณะต่าง ๆ ออกไปขาย เช่น เหล็ก

เขื่อนทั้งสองแห่งในเมืองเดอร์นา มีรายงานว่า ได้ถูกละเลยในการซ่อมบำรุงมาเป็นเวลายาวนานกว่า 10 ปี โดยเฉพาะภายหลังจากการปฏิวัติโค่นล้มกัดดาฟีลงจากอำนาจ มีการศึกษาในปีที่ผ่านมาระบุว่า เขื่อนทั้งสองแห่ง จำเป็นต้องได้รับการซ่อมบำรุงอย่างเร่งด่วน และมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดหายนะแก่เมืองเดอร์นาได้

ในขณะเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ของเมือง เช่น โรงพยาบาล ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ และมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เมื่อต้องเผชิญกับเหตุโศกนาฎกรรมขนาดใหญ่เช่นนี้ จึงไม่สามารถรองรับ หรือให้การช่วยเหลือได้เพียงพอ

(Photo by Hamza Turkia/Xinhua)
(Photo by Hamza Turkia/Xinhua)

ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง