KEY :
- ที่ประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและราคาพลาสติกในประเทศ อีกทั้งยังมีเป้าหมายให้ประเทศไทยไม่เป็นที่รองรับเศษขยะจากประเทศอื่น
- เมื่อสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ
- ในช่วงตั้งแต่ปี 2561-2565 ประเทศไทยมีการนำเข้าเศษพลาสติกรวมกว่า 1,300 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 7,500 ล้านบาท
…
ปัญหา ‘ขยะพลาสติก’ ถือได้ว่าเป็นปัญหาระดับโลก ซึ่งประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เผชิญภาวะปัญหาขยะพลาสติกเช่นกัน จากสถิติการนำเข้าเศษพลาสติกของประเทศไทยจากต่างประเทศพบว่าในช่วงตั้งแต่ปี 2561-2565 ประเทศไทยมีการนำเข้าเศษพลาสติกรวมกว่า 1,300 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 7,500 ล้านบาท
โดยเศษพลาสติกเหล่านี้ถูกนำเข้าโดยอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่นำมารีไซเคิลแปรรูปเศษพลาสติกเพื่อนำไปจำหน่ายสู่ท้องตลาด ให้ประชาชนได้ใช้อุปโภค ส่งต่อไปยังภาคธุรกิจต่าง ๆ มันจึงไม่แปลกที่จำนวนขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
เมื่อจำนวนการใช้พลาสติกเพิ่มมากขึ้นย่อมส่งผลกระทบไปถึงขยะพลาสติก ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าขยะพลาสติกเหล่านี้ย่อยสลายได้ยาก ต้องผ่านกระบวนการกรรมวิธีการทำลาย แต่มันก็ยังส่งผลกระทบไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่จบสิ้น
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานานาประเทศ รวมถึงประเทศไทยเริ่มเล็งเห็นถึงข้อเสียของการใช้พลาสติกมากขึ้น นำไปสู่การรณรงค์การลดขยะพลาสติก ให้พลเมืองหันมาใช้ถุงผ้า งดการใช้ถุงพลาสติก หรือการรณรงค์ต่าง ๆ เพื่อมุ่งหวังที่จะลดปริมาณขยะพลาสติก
ซึ่งล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ประชุม ครม. ได้มีมติเห็นชอบนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและราคาพลาสติกในประเทศ อีกทั้งยังมีเป้าหมายให้ประเทศไทยไม่เป็นที่รองรับเศษขยะจากประเทศอื่น
สาระสำคัญของนโยบายกำกับการนำเข้า ‘เศษพลาสติก’
โดยนโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติกตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาระสำคัญดังนี้ เมื่อสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศกำหนดให้เศษพลาสติกเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร
การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่เขตปลอดอากร (ในช่วงปี 2566-2567) โดยจะอนุญาตเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม 14 แห่งที่กำหนด ได้แก่ โรงงานทั้งหมดที่ใช้เศษพลาสติกเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร นำเข้าไม่เกินความสามารถในการผลิตจริง รวม 372,994 ตันต่อปี สำหรับปีที่ 1 (2566) ให้นำเข้าปริมาณร้อยละ 100 ของความสามารถในการผลิตจริง, ปีที่ 2 (2567) ให้นำเข้าปริมาณไม่เกินร้อยละ 50 ของความสามารถในการผลิตจริงโดยการนำเข้าจะต้องมีมาตรการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อมิให้เกิดมลพิษในประเทศ
อาทิเช่น เศษพลาสติกที่นำเข้าต้องแยกชนิดและไม่ปะปนกัน สามารถนาเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด ต้องใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น เป็นต้น
การนำเข้าเศษพลาสติกในพื้นที่ทั่วไป (ในช่วงปี 2566-2567) ให้นำเข้าเฉพาะกรณีที่ไม่มีเศษพลาสติกในประเทศหรือมีปริมาณไม่เพียงพอ โดยมีหลักเกณฑ์ เช่น ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องแสดงหลักฐานว่ามีความจำเป็นในการนำเข้าและไม่สามารถหาได้ในประเทศ, นำเข้าได้ในปริมาณที่สอดคล้องกับกำลังการผลิต, นำเข้ามาเพื่อเป็นวัตถุดิบเท่านั้น (ไม่รวมถึงการคัดแยกหรือย่อยพลาสติก), สามารถนำเข้าสู่กระบวนการผลิตโดยไม่ต้องทำความสะอาด
มาตรการควบคุมในช่วง 2 ปี (2566-2567)
สำหรับมาตรการควบคุม ‘เศษพลาสติก’ ในช่วง 2 ปี ก่อนสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 จะมีมาตรการคร่าว ๆ ดังนี้
- 1.ควบคุมปริมาณนำเข้าให้สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการรีไซเคิลขยะพลาสติกในประเทศ
- 2.ป้องกันการลักลอบนำเข้า
- 3.ควบคุมการประกอบกิจการพลาสติกไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับทุกฝ่ายจึงให้มีมาตรการลดผลกระทบจากการห้ามนำเข้าเศษพลาสติก 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.การป้องกันการขาดแคลนเศษพลาสติกบางชนิดที่ใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม 2.การคัดแยกขยะที่เป็นระบบตั้งแต่ต้นทางเพื่อนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม 3.งานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับการนำพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์ และ 4.การมีกฎหมายเพื่อกำกับดูแลและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกโดยเฉพาะ
สติถิการนำเข้า ‘เศษพลาสติก’ ของไทย (2561-2565)
‘พลาสติก’ เป็นวัสดุพอลิเมอร์ที่ผ่านกระบวนการสังเคราะห์โดยใช้วัตถุดิบจากแหล่งปิโตรเคมีเป็นหลัก ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน โดยส่วนใหญ่จะถูกแบ่งตามหมายเลข เพื่อจะได้ทราบว่าผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นใช้พลาสติกประเภทใด
เนื่องจากพลาสติกแต่ละชนิดมีการใช้งานแตกต่างออกไป บางชนิดนำมาใช้ซ้ำได้ บางชนิดนำมารีไซเคิลได้ แต่หลายชนิดก็ไม่สามารถแตกตัวหรือนำมารีไซเคิลได้
ซึ่งประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศนำเข้า ‘เศษพลาสติก’ ในแต่ละปีจำนวนไม่น้อย และเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน และประเทศอื่น ๆ รวมกว่า 60 ประเทศ ซึ่งหากแยกย่อยในแต่ละปีมีดังนี้
- ปี 2561 : นำเข้าเศษพลาสติก 552,721,267 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.3 พันล้านบาท
- ปี 2562 : นำเข้าเศษพลาสติก 323,167,065 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.4 พันล้านบาท
- ปี 2563 : นำเข้าเศษพลาสติก 150,807,312 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 7 ร้อยล้านบาท
- ปี 2564 : นำเข้าเศษพลาสติก 158,646,004 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.3 พันล้านบาท
- ปี 2565 : นำเข้าเศษพลาสติก 179,259,767 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.6 พันล้านบาท
ผลกระทบของ ‘ขยะพลาสติก’
ทุกวันนี้หากมองแค่เรื่องใกล้ตัวเรา ‘ขยะพลาสติก’ อยู่รอบตัวเรื่องเกือบทุกที่ ทั้งบนพื้นถนน ท่อน้ำ แม่น้ำ ลำคลองต่าง ๆ ส่งต่อปัญหาไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ทรุดโทรม ทำลายระบบนิเวศของเหล่าสัตว์หลาย ๆ ชนิด ซึ่งพลาสติกส่วนใหญ่ใช้เวลานานในการย่อยสลายนาน หรือ บางชนิดไม่สามารถย่อยสลายเองได้
โดยในแต่ละปีจะมีขยะพลาสติก 12 ล้านตันถูกทิ้งลงทะเลและมหาสมุทร โดยมีเพียง 5% ที่พบเห็นเป็นชิ้นส่วนลอยอยู่ในทะเล ส่วนที่เหลือจะจมอยู่ใต้นํ้าหรือถูกกระแสนํ้าพัดไปอยู่ใต้ท้องมหาสมุทรทั่วโลก
‘ขยะพลาสติก’ นอกจากส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและระบบนิเวศ ยังรวมถึงการที่พลาสติกแตกตัวออกเป็นเศษเล็กเศษน้อย ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ที่เรียกกันว่า ‘ไมโครพลาสติก’ ซึ่งท้ายที่สุดนอกจากจะทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศแล้ว มันยังส่งผลย้อนกลับมาสู่มนุษย์ด้วยเช่นกัน
หลายประเทศมีการแบน ‘พลาสติก’ อย่างจริงจัง
อย่างในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีมาตรการควบคุม ‘พลาสติก’ อย่างจริงจัง อาทิ เก็บภาษีถุงขยะพลาสติกในบางรัฐ แต่ก็มีบางเมือง เช่น ซานฟรานซิสโกของรัฐแคลิฟอร์เนียที่ประกาศแบนถุงพลาสติกไปเลย และให้ใช้ถุงกระดาษแทน
ในขณะที่ประเทศจีน ออกคำสั่งห้ามห้างสรรพสินค้าและร้านค้าเตรียมถุงพลาสติกที่บางกว่า 0.25 มิลลิเมตรให้กับลูกค้า ประเทศไต้หวัน ห้ามใช้ถุงพลาสติกหรือแก้วพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่มีการแจกหลอดพลาสติก ถ้าอยากได้ต้องเสียเงินซื้อ
ญี่ปุ่น มีข้อเสนอให้ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก ร้านขายยา เก็บเงินค่าถุงจากลูกค้า และนำ เงินดังกล่าวไปปลูกป่าหรือให้ความรู้เรื่องมลพิษทางทะเล
หรือแม้แต่ในประเทศไทยเอง ถึงแม้จะมีตัวเลขการนำเข้าเศษพลาสติกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก แต่เราจะเห็นได้ว่าในช่วงหล่ายปีที่ผ่านมา ก็เริ่มมาการรณรงค์การงดใช้พลาสติกกันมาเป็นระยะ ๆ รวมทั้งในภาคเอกชนธุรกิจ ห้าง ร้านต่าง ๆ เริ่มงดให้บริการถุงพลาสติก ถ้าจะใช้ต้องเสียเงินซื้อเพิ่ม หรือ แม้แต่การบริการเครื่องดื่มในบางร้านที่หากลูกค้านำแก้วส่วนตัวมาเองก็ได้จะรับส่วนลด
…
จริงอยู่ที่เมื่อก่อนนี้ ‘พลาสติก’ ถูกสร้างและออกแบบมาเพื่อทดแทนการใช้ ‘กระดาษ’ เพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่า แต่ปัจจุบัน ‘พลาสติก’ กลับกลายมาเป็นส่วนที่สร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและตัวมนุษย์เสียเอง นั้นก็มาจาก ‘มนุษย์’ ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นปัญหาดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่หลาย ๆ ประเทศกังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มมีผลกระทบให้เห็นกันบ้างแล้ว ทั้งการทำลายระบบนิเวศของสัตว์ ฉะนั้นปัญหาดังกล่าวต้องร่วมมือกันทั่วโลก และเราก็สามารถเป้นส่วนในการช่วยรักษ์โลกได้เช่นกัน
ข้อมูล :
- Greenpeace Thailand
- กรมศุลกากร
- สสส.