คัดลอก URL แล้ว
ย้อนรอย เหตุจลาจล – เผาสถานทูตไทยในกัมพูชา ครบ 20 ปี

ย้อนรอย เหตุจลาจล – เผาสถานทูตไทยในกัมพูชา ครบ 20 ปี

ท่ามกลางกระแสข่าวมวยไทย – กุน ขแมร์ ในซีเกมส์ 2023 ที่ประเทศกัมพูชา และนำมาสู่กระแสชาตินิยมของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่บนโลกออนไลน์ที่ต่างฝ่ายต่างออกมาแสดงความเห็นต่าง ๆ กันอย่างกว้างขวาง และมีแนวโน้มที่แรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ซึ่งเหตุการณ์ที่ของกระแสข่าวที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทำให้ต้องนึกหวนกลับไปเมื่อ 29 มกราคม 2546 หรือ เมื่อ 20 ปีก่อนที่เกิดเหตุจลาจลในกรุงพนมเปญ นำไปสู่การเผาสถานทูตไทยในกัมพูชา รวมถึงการเผาทำลายทรัพย์สินของคนไทยหลายแห่งด้วยกัน

ต้นตอของเหตุการณ์

สำหรับสาเหตุของความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น เกิดจากกระแสข่าวลือที่ระบุอ้างว่า ดารานักแสดงชาวไทย ให้สัมภาษณ์ว่า เกลียดชาวกัมพูชา เนื่องจากขโมยนครวัดไปจากไทย และกระแสข่าวลือดังกล่าวลุกลามขึ้นเมื่อหนังสือพิมพ์รัศมีอังกอร์ได้เปิดประเด็นดังกล่าวนี้ ในวันที่ 18 มกราคม 2546 และมีการเผยแพร่ซ้ำในหนังสือพิมพ์เกาะสันติภาพเดลี ในวันที่ 27 มกราคม 2546 นอกจากนี้ ข่าวต้นฉบับของหนังสือพิมพ์รัศมีอังกอร์นั้น ได้ถูกแพร่กระจายออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ

กระแสข่าวที่เกิดขึ้นนี้ ก็ได้ลุกลามและถูกย้ำซ้ำอีกครั้งเมื่อ สมเด็จ ฮุนเซ็น นายกฯ กัมพูชาได้กล่าวถึงประเด็นนี้ ในวันที่ 27 มกราคม 2546 และในวันที่ 28 มกราคม 2546 รัฐบาลกัมพูชาได้สั่งแบนละครไทยทั้งหมด ทางด้านของดาราสาวของไทยได้ปฏิเสธข่าวนี้ โดยยืนยันว่า ไม่ได้พูดตามที่กระแสข่าวนี้แต่อย่างใด

และกระแสข่าวที่เกิดขึ้นนี้ได้มีการตรวจสอบกระแสข่าวลือพบว่า ในช่วงดังกล่าว ไม่มีสื่อมวลชลของกัมพูชาได้สัมภาษณ์ดาราสาวของไทยเลยแม้แต่สำนักเดียว ซึ่งก็ไม่มีข้อมูลยืนยันจากทางสื่อฯ ของกัมพูชาว่า ประโยคดังกล่าวมาจากแหล่งใดกันแน่

เหตุจลาจล

แม้ว่า ดาราสาวของไทยจะปฏิเสธถึงข่าวที่เกิดขึ้นแล้ว แต่กระแสความไม่พอใจยังคงถูกแพร่กระจายออกไปอย่างต่อเนื่อง และทำให้สถานการณ์ได้ลุกลามมากขึ้น ชาวกัมพูชาจำนวนมากได้ออกมารวมตัวประท้วงกันที่ด้านหน้าสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ จำนวนผู้ที่ออกมาชุมนมมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และสถานการณ์ก็บานปลายมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดการณ์ว่า มีผู้มาร่วมชุมนุมเกือบ 1,000 คน

ฯพณฯ ชัชเวทย์ ชาติสุวรรณ เอกอัครราชทูตไทยในขณะนั้น เห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังจะเริ่มบานปลาย เนื่องจากมีการจุดเผาธงชาติไทย ทำลายป้ายสถานทูตไทย รวมถึงมีเจ้าหน้าที่ของไทยเห็นว่า ผู้ชุมนุมชาวกัมพูชาบางส่วนมีอาวุธด้วย จึงได้ประสานไปยัง พลเอก เตียร์ บัน รมต.กลาโหมของกัมพูชา เพื่อขอกำลังเสริมมาช่วยดูแลความปลอดภัยของสถานทูต แต่ได้รับคำตอบว่า สถานการณ์นี้เป็นหน้าที่ของทางตำรวจ และน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้

แต่การชุมนุมเริ่มส่อแววรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มจะเอาไม่อยู่ จึงได้มีการสั่งอพยพเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยออกจากสถานทูตทันที โดยเจ้าหน้าที่ไทยบางส่วนได้ปีนรั้วสถานทูตด้านหลัง เพื่อไปลงเรือข้ามแม่น้ำออกไป และบางส่วนปีนข้ามรั้วเข้าไปยังสถานทูตญี่ปุ่นที่อยู่ติดกัน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สถานทูตญี่ปุ่นได้ให้การช่วยเหลือ

ซึ่งการอพยพเกิดก่อนการบุกเข้ามายังสถานทูตไทยเพียงไม่กี่นาที และหลังจากนั้นกลายเป็นการจลาจล เผาทำลายสถานทูตไทย รวมถึงมีรายงานการปล้น ทำลายร้านค้า บริษัทของคนไทยในกัมพูชา โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เจ้าหน้าที่ของกัมพูชาไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้เลย นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยข่าวว่า มีชาวกัมพูชาบางส่วนถูกสังหารในกรุงเทพฯ อีกด้วย ยิ่งทำให้การจลาจลลุกลามมากยิ่งขึ้นและต่อเนื่องตลอดทั้งคืน

ไทยยกระดับมาตรการต่าง ๆ

ภายหลังเหตุการณ์ที่ลุกลามขึ้น ได้มีการประสานระหว่างทางการไทยและกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงแรก แหล่งข่าวในขณะนั้นระบุว่า ท่าทีของทางการกัมพูชา ดูค่อนข้างแข็งกร้าว แต่เมื่อเหตุการณ์ลุกลามมากขึ้น จึงเริ่มค่อย ๆ ผ่อนคลายท่าทีลง

ซึ่งการบุกเข้าไปยังสถานทูตไทย ถือว่า เป็นการละเมิดและรุกล้ำอธิปไตยของไทย และทางการไทยพร้อมที่จะส่งเจ้าหน้าที่ ทหาร ออกปฏิบัติการ เนื่องจากทางการกัมพูชาไม่สามารถดูแลสถานการณ์ และปกป้องความปลอดภัยให้กับคนไทยได้ โดยเริ่มตั้งแต่การประกาศเรียกทูตไทยกลับประเทศ ลดระดับความสัมพันธ์เหลือในระดับอุปทูต ระงับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ปิดด่านชายแดนไทย-กัมพูชา ทั้งหมด เรียกร้องให้ทางการกัมพูชาดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุ และชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งทรัพย์สินของทางการไทย และเอกชน ที่ถูกทุบทำลายเสียหาย

ปฏิบัติการโปเชนตง

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เริ่มลุกลาม รัฐบาลไทยได้มีการเรียกประชุมด่วนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งในขณะนั้น มีดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี โดยข้อสรุปของคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น จะมีการประท้วง ลดระดับความสัมพันธ์ รวมถึงการยกเลิกโครงการและความร่วมมือต่าง ๆ รวมถึงการปิดด่านชายแดนไทย-กัมพูชาทั้งหมด

ในขณะเดียวกัน  พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมต.กลาโหมของไทย ได้เรียกเปิดวอร์รูม โดยมีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น เป็นผบ.เหตุการณ์ ร่วมกับผบ.เหล่าทัพ ทั้งหมดมาร่วมกันวางแผนอพยพคนไทยอย่างเร่งด่วน รวมถึงเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตหากสถานการณ์ลุกลามและบานปลายไปถึงระดับที่ “ไม่คาดฝัน” อีกด้วย และในเวลา 23.00 น. ของคืนวันนั้น ปฏิบัติการ “โปเชนตง 1” และ “โปเชนตง 2” ได้รับการอนุมัติเป็นที่เรียบร้อย

ข้อสรุปของแผนปฏิบัติการ คือ “เมื่อฟ้าสาง เมื่อจะไปรับคนไทยกลับบ้าน”

โดย โปเชนตง เป็นชื่อสนามบินเก่าของกัมพูชาในกรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นจุดนัดหมายสำหรับคนไทยที่จะไปขึ้นเครื่องบินกลับประเทศ ภายหลังจากที่ทางการไทยได้ประสานไปยังกัมพูชา เพื่อเปิดปฏิบัติการพิเศษในครั้งนี้ ซึ่งหลังเหตุการณ์บานปลายแล้ว ท่าทีของทางการกัมพูชาดูจากอ่อนลง

ภายหลังจากได้แผนปฏิบัติการ “โปเชนตง 1” และ “โปเชนตง 2” ของทั้งสามเหล่าทัพเป็นที่เรียบร้อย เวลา 05.15 น. ของวันที่ 30 มกราคม เครื่องบิน C-130 ก็ได้ออกจากประเทศไทยมุ่งหน้าสนามบินโปเชนตง เพื่อรับคนไทยกลับบ้านตามแผนปฏิบัติการ “โปเชนตง 1” ท่ามกลางการเตรียมความพร้อมของทั้งสามเหล่าทัพ ที่จะออกไปปฏิบัติ “โปเชนตง 2” ทันที หากสถานการณ์รุนแรง และลุกลามเกินกว่าที่จะดำเนินการปฏิบัติการโปเชนตง 1 จะสำเร็จได้

ซึ่งการอพยพคนไทยกลับประเทศนั้น ก็ลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยเที่ยวบินแรกที่นำคนไทยกลับมายังสนามบินดอนเมืองในเวลา 07.50 น. และเที่ยวสุดท้าย 09.40 น.

สรุปความเสียหาย

ภายหลังจากสถานการณ์สงบลง ทางการกัมพูชาระบุว่า สามารถจับกุมตัวผู้ประท้วงได้กว่า 100 ราย ซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุจลาจล นอกจากนี้ ยังได้มีการจับกุมบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยผู้ก่อเหตุถูกสั่งจำคุกประมาณ 6 เดือน ในขณะที่บก.ของหนังสือพิมพ์ และสื่อฯ ที่เกี่ยวข้องกับการปลุกระดมในเหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่ได้ถูกดำเนินคดีใด ๆ

ในขณะเดียวกัน ความล่าช้าและคลุมเครือในการพิจารณาคดี ก็มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชน โดยอ้างว่า กระบวนการในการพิจารณาคดีนั้นไม่ชอบธรรม การควบคุมตัว รวมถึงสวัสดิภาพในเรือจำ และส่งผลให้

รัฐบาลกัมพูชาได้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับค่าเสียหายของสถานทูตไทยที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งหลังจากที่ทางการไทยได้รับเงินดังกล่าว จึงได้ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการไว้ก่อนหน้า เช่น การเปิดด่านพรมแดนระหว่างกันอีกครั้ง

ซึ่งแหล่งข่าวที่รายงานในขณะนั้น คาดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในการจลาจลในครั้งนี้ น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองภายในประเทศกัมพูชา ที่ต้องการสร้างกระแสชาตินิยม เนื่องจากการออกมาประท้วงนั้นดูเป็นระบบ เป็นขั้นตอนตั้งแต่การมีข่าวลือ การปลุกกระแสต่อเนื่องต่าง ๆ ไปจนถึงการออกมาชุมนุมบริเวณหน้าสถานทูตไทย รวมไปถึงการโปรยใบปลิวต่าง ๆ และปล่อยข่าวการเสียชีวิตของชาวกัมพูชาในกรุงเทพ ทำให้สถานการณ์ลุกลามใหญ่โตกว่าที่คาดไว้


ข้อมูล –


ข่าวที่เกี่ยวข้อง