หลายคนใจหายโดยเฉพาะผู้ใช้บริการรถไฟอยู่เป็นประจำ เพราะอุ่นใจทุกครั้งในการเดินทาง เนื่องด้วยการมี ‘ตำรวจรถไฟ’ ค่อยอำนวยความสะดวกดูแลด้านความปลอดภัยให้กับประชาชน
ซึ่งล่าสุดทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เป็นการปรับโครงสร้างหน่วยงานภายใน ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 โดยการยุบ “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” หรือที่เรารู้จักในชื่อ ‘ตำรวจรถไฟ’ เป็นการปิดตำนาน 72 ปี ในการให้บริการประชาชนมาอย่างยาวนาน
ทำความรู้จัก ‘ตำรวจรถไฟ’
กองตำรวจรถไฟ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2437 สามปีหลังจากการจัดตั้งกรมรถไฟหลวง ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการดำเนินการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2443 ในเส้นทางรถไฟสาย กรุงเทพ-นครราชสีมา มีหน้าที่ป้องกันภัยรถไฟ และผู้โดยสาร จากการก่ออาชญากรรม ตลอดจนการป้องกันขับไล่สัตว์ป่าดุร้าย
ภายหลังในช่วงปี พ.ศ.2494–2500 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้มีคำสั่งให้ยกสถานะเป็น กองบังคับการ เพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่และอัตรากำลังพลให้เพียงพอต่ออัตราการเกิดอาชญากรรมที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงเส้นทางเดินรถ สถานี และปริมาณการเดินรถและผู้โดยสารที่มากขึ้น ในปี 2548 ได้มีการโอนให้หน่วยมาสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
โครงสร้างหน่วยงาน
กองบังคับการตำรวจรถไฟ มีสถานะเป็นกองบังคับการในสังกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดยมีอัตรากำลังพลกว่า 738 นาย กระจายอยู่ใน 15 สถานีตำรวจรถไฟ (ส.รฟ.) ตามเส้นทางรถไฟ และมีหน่วยบริการอยู่ตามสถานีรถไฟ 40 แห่ง ซึ่งมี พล.ต.ต.ชัยรพ จุณณวัตต์ เป็นผู้บังคับการ (ผบก.รฟ.) คนสุดท้ายก่อนยุบหน่วยงาน
กองกำกับการอำนายการ
- งานธุรการและกำลังพล
- งานการข่าว ความมั่นคง และเทคโนโลยี
- งานยุทธศาสตร์ และงบประมาณ
- งานกิจการพิเศษและจิตอาสา
- งานส่งกำลังบำรุง
- งานกฎหมายและนิติกร
- งานการเงินและบัญชี
กองกำกับการ 1
- สถานีตำรวจรถไฟ นพวงศ์
- สถานีตำรวจรถไฟ มักกะสัน
- สถานีตำรวจรถไฟ ธนบุรี
- กองกำกับการ 2
- สถานีตำรวจรถไฟ อยุธยา
- สถานีตำรวจรถไฟ นครสวรรค์
- สถานีตำรวจรถไฟ ศิลาอาสน์
กองกำกับการ 3
- สถานีตำรวจรถไฟ หัวหิน และหน่วยกอ.ปภ.97 บก.รฟ.
- สถานีตำรวจรถไฟทุ่งสง
- สถานีตำรวจรถไฟ หาดใหญ่
- กองกำกับการ 4
- สถานีตำรวจรถไฟ สุวรรณภูมิ
- สถานีตำรวจรถไฟ ฉะเชิงเทรา
- สถานีตำรวจรถไฟ อรัญประเทศ
- กองกำกับการ 5
- สถานีตำรวจรถไฟ นครราชสีมา
- สถานีตำรวจรถไฟ อุบลราชธานี
- สถานีตำรวจรถไฟ หนองคาย
หลังจากนี้หน่วยงานไหนดูแลต่อ?
ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ฉบับใหม่ มีเนื้อหาให้มีการดำเนินการยุบยกเลิก ‘กองบังคับการตำรวจรถไฟ’ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ซึ่งแผนการดำเนินการดังกล่าวนั้นก็ไม่เป็นที่เห็นด้วยนักในหมู่ประชาชนผู้ใช้รถไฟ ตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เจ้าหน้าที่ประจำขบวน และเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟ
อย่างไรก็ตามทาง กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ประกาศ แจ้งเขตอำนาจรับผิดชอบหลังยุบเลิก “ตำรวจรถไฟ” ไว้ ดังนี้
- 1. ขอบเขตความรับผิดชอบ และการดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ความรับผิดชอบของตำรวจรถไฟเดิม ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะอยู่ในความรับผิดชอบของ “กองบัญชาการตำรวจนครบาล” ในพื้นที่ของ สน. ต่าง ๆ
- 2. ขอบเขตความรับผิดชอบ และการดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ความรับผิดชอบของตำรวจรถไฟเดิมในเขตภูมิภาค จะอยู่ในความรับผิดชอบของ
“กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9” ในพื้นที่ของ สภ. ต่าง ๆ - 3. กรณีเกิดการกระทำความผิดอาญาบนขบวนรถไฟ จะอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ของ สน./สภ. ในพื้นที่ต่างๆ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ.2477 มาตรา 19 แล้วแต่กรณี
รฟท. วางมาตรการดูแลความปลอดภัยทดแทน
การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตรถไฟ เพื่อดูแลยกระดับความปลอดภัย ป้องกันและปราบปรามปัญหาอาชญากรรมในเขตรถไฟ โดยทางตำรวจสอบสวนกลาง มีขอบเขตความรับผิดชอบ และการดูแลรักษาความปลอดภัยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ความรับผิดชอบของตำรวจรถไฟเดิม
พร้อมได้กำหนดแผนโดยจัดส่งเจ้าหน้าที่ช่วยดูแลความปลอดภัย และตรวจตราความเรียบร้อยบนขบวนรถ และสถานีรถไฟอย่างสม่ำเสมอ ในส่วนการดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ความรับผิดชอบของตำรวจรถไฟในเขตภูมิภาค จะอยู่ในความรับผิดชอบของกองปัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 – 9 ในพื้นทีของ สถานีตำรวจภูธรต่าง ๆ
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกันสนับสนุน แลกเปลี่ยน วางแผน ป้องกัน ปราบปราม แก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตพื้นที่ของการรถไฟฯ ทั้งในเรื่องของข้อมูลคนร้าย ผู้ก่อเหตุ ผู้ต้องสงสัย ข้อมูลระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตพื้นที่รถไฟทุกรูปแบบ
ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มาใช้บริการ อีกทั้งยังเป็นการช่วยป้องกันปัญหาการโจรกรรมทรัพย์สินของการรถไฟฯ อีกด้วย