คัดลอก URL แล้ว
จัดตั้งรัฐบาลช้า มีผลอย่างไรกับประเทศ

จัดตั้งรัฐบาลช้า มีผลอย่างไรกับประเทศ

ยังคงอยู่กับประเด็นการเมืองที่หลายฝ่ายจับตามองอยู่ในขณะนี้ ว่าท้ายที่สุดแล้วการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 2566 บทสรุปแล้วใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่จะเข้ามาบริหารประเทศ โดยตามกรอบระยะเวลาเดิมจะรู้ผลภายในต้นเดือนสิงหาคม 2566

ซึ่งดูเหมือนว่าทุกอย่างที่เคยมีการคาดการณ์กำหนดกรอบเวลาเอาไว้จะถูกยืดเยื้อออกไป เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการลงมติในญัตติการโหวตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และทางศาลรัฐธรรมนูญยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ

ส่งผลทำให้การประชุมสภา ที่เดิมมีกำหนดประชุมในวันพุธที่ 26 ก.ค.66 และนัดโหวตนายกรัฐมนตรีในวันพฤหัสบดีที่ 27 ก.ค.66 ต้องเลื่อนออกไป โดย ‘วันนอร์’ ประธานสภา ให้เหตุผลว่าต้องรอผลจากทางศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน เพราะหากมีการเปิดประชุมนั้นอาจขัดต่อข้อกฎหมายได้

ประกอบกับสถานการณ์ยังไม่ชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล ที่ ‘เพื่อไทย’ ได้ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างเต็มตัว หลังพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ การเชิญพรรคขั้วอำนาจเดิมมาร่วมหารือของพรรคเพื่อไทย ก็ยิ่งทำให้ข่าวลือต่าง ๆ ดูจะมีน้ำหนักมากขึ้น ในการผลักพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน

อีกทั้งความเห็นจาก 8 พรรคร่วมเริ่มสั่นคลอนมีความเห็นไม่ลงรอยกันทั้งกรณีของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ในเชิงลบกับพรรคก้าวไกลอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงโจทย์ สว. ก็ยังไม่ยอมถอยในจุดยืนเดิม คือ ‘มีก้าวไกล ไม่มี สว.’

นอกจากนี้ยังมีกระแสดึงเกมการโหวตนายกฯ ออกไปร่วม 10 เดือน เพื่อให้ สว. หมดอำนาจในวันที่ 11 พ.ค.67 ตามบทเฉพาะกาลว่าด้วย สว.สามารถโหวตนายกฯได้ ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลทำให้สถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบันนำไปสู่ ‘การจัดตั้งรัฐบาลช้า’ รัฐบาลรักษาการที่ยังทำหน้าที่อยู่ก็มีอำนาจที่จำกัด โดยเฉพาะด้านงบประมาณต่าง ๆ ซึ่งเรื่องนี้ต่างฝ่ายต่างมองคนละมุม ทั้งมุมข้อดีและข้อเสีย หากการโหวตนายกฯ ยืดระยะเวลาออกไปเรื่อย ๆ

รอ 10 เดือน หมดวาระ สว. ในมุมมอง ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นเกี่ยวเรื่องนี้ ว่า การรอวันหมดอำนาจวาระของ สว. จะเป็นผลดีในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่ง สว. จะไม่ได้สมการ หรือ ร่วมโหวตนายกฯ หลังหมดวาระ แต่ไม่เชิงเห็นด้วยในการรอ 10 เดือน เพราะระหว่างนี้ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องมุ่งมั่นร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ก่อนเช่นกัน

มองว่าการรอ 10 เดือน เมื่อช่วงใกล้หมดวาระ สว. อำนาจการต่อรองของ สว. เองก็จะยิ่งหมดไปเรื่อย ๆ ท้ายที่สุด กระบวนการในรัฐสภาก๋สามารถสามารถดำเนินการไปได้ ตามฉันทามติของประชาชนที่ลงคะแนนเสียงให้กับ 8 พรรคร่วมรัฐบาล ในการจัดตั้งรัฐบาล

พร้อมให้เหตุผลว่าการที่ไม่สารถจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น เนื่องมาจาก สว. ที่เข้ามาขวางเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร

จัดตั้งรัฐบาลช้า มีผลอย่างไรกับประเทศ

เกี่ยวกับเรื่องนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า การยืดเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลออกไปนั้น ย่อมไม่เกิดผลดีต่อประเทศอย่างแน่นอน ทั้งเรื่องงบประมาณ การผลักดันนโยบายต่าง ๆ หรือ มาตรการเร่งด่วน ซึ่งต้องรอทางรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ รวมไปถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเช่นกัน

ซึ่งถึงแม้ปัจจุบันการมีรัฐบาลรักษาการอยู่ก็ตาม แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่เช่นกัน ซึ่งในส่วนของงบประมาณที่จะใช้บริหารในระหว่างนี้ ก็จะใช้งบประมาณของงบกลางปีที่แล้ว ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง เช่น ผู้ว่าฯ ปลัดกระทรวง อธิบดี สามารถเสนอชื่อแต่งตั้งได้ตามปกติแต่ต้องได้รับความเห็นชอบจาก กกต. เช่นกัน

นอกจากนี้หากรอให้ถึง 10 เดือน เพื่อให้ สว. หมดอำนาจในการโหวตนายกฯ ที่จะครบวาระวันที่ 11 พ.ค.67 ถึงแม้จากหมดวาระแล้วก็ตาม แต่ก็ต้องอยู่รักษาการจนกว่าจะมีการสรรหา สว. ชุดใหม่เข้ามาทำงานอยู่ดี ส่วนจะได้ชุดใหม่เมื่อไร่นั้น ทาง กกต. จะวางไทม์ไลน์จัดการเกี่ยวกับเรื่องนี้เอง

รัฐบาลรักษาการ 10 เดือน อาจกระทบเบิกจ่ายงบลงทุน

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำานวยการสํานักงบประมาณ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การมีรัฐบาลรักษาการนานขนาดนั้นยังไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งต้องประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจว่าหากยืดเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลออกไปนานถึง 10 เดือนนั้น จะกระทบในส่วนใดบ้าง

โดยสำนักงบประมาณ ได้เตรียมพร้อมสำหรับรองรับการจัดทำงบประมาณปี 2567 ที่คาดว่าจะล่าช้าออกไปประมาณ 6 เดือน จากเดิมที่จะประกาศใช้ในวันที่ 1 ต.ค.2566 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของปีงบประมาณใหม่ โดยจะต้องเตรียมประกาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ไปพลางก่อน เป็นระยะเวลา 6 เดือนคือตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 – 31 มี.ค.2567

รวมท้ังจัดทําร่างการปรับปรุงปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และ เตรียมข้อเสนอการจัดทํากรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยหารือร่วมกัน 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สํานักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณารายรับ รายจ่าย และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้ได้กรอบวงเงินงบประมาณที่สอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลใหม่ให้ความสําคัญ

รัฐบาลรักษาการ คืออะไร?

หลังการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 และมีการเลือกตั้งจนมาถึงปัจจุบันในขั้นตอนการเลือกนายกฯ รัฐบาลเดิมภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องอยู่รักษาการจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จ

ซึ่ง ‘รัฐบาลรักษาการ’ เป็นคำที่ใช้เรียกรัฐบาลที่ยังอยู่ในตำแหน่งในระยะเปลี่ยนผ่าน ในกรณีที่ฝ่ายบริหารของรัฐมีเหตุให้ต้องยุติบทบาทลง จึงต้องยังมี “ฝ่ายบริหารชั่วคราว” นั่งทำงานอยู่จนกว่าจะได้ฝ่ายบริหารชุดใหม่มารับไม้ต่อ เพื่อดูแลงานเฉพาะหน้าให้ยังเดินหน้าไปได้ไม่ให้การทำงานของระบบกลไกต่างๆ ต้องหยุดชะงัก

รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 169 กำหนดข้อห้ามว่า ด้วยเรื่องสำคัญๆ สำหรับรัฐบาลรักษาการไว้ ได้แก่

นอกจากนี้รัฐบาลรักษาการยังถูกจำกัดอำนาจโดย ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563


ข่าวที่เกี่ยวข้อง