คัดลอก URL แล้ว
ศึกชิงเก้าอี้ ‘ประธานสภา’ กับปัญหาของ 2 พรรคใหญ่

ศึกชิงเก้าอี้ ‘ประธานสภา’ กับปัญหาของ 2 พรรคใหญ่

เป็นระยะเวลากว่า 1 เดือนแล้วหลังจากมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และมีการรับรองผลการเลือกตั้งจากทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีการจับมือของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ทั้งพรรคก้าวไกล อันดับ 1 และพรรคเพื่อไทยอันดับ 2 ในการเป็นหัวเรือร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับอีก 6 พรรค

โดยได้มีการทำ MOU เกี่ยวกับแนวทางนโยบาย ของทางฝั่งพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งในส่วนของการเจรจาเก้าอี้คณะรัฐมนตรีเหมือนว่าจะมีการแบ่งสรรปันส่วนกันอย่างลงตัว โดยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแน่นอนว่าทางพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล พร้อมสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

แต่อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือเรียกสั้น ๆ ว่าประธานสภาฯ ถือได้ว่าเป็นตำแหน่งที่สำคัญในสภาซึ่งดูเหมือนว่าทั้ง 2 พรรคใหญ่ ต่างจ้องยึดเก้าอี้ในตำแหน่งนี้มาเป็นของพรรคตนเองให้ได้

ซึ่งดูเหมือนว่าศึกแย่งชิงเก้าอี้ประธานสภาในครั้งนี้ของทั้ง 2 พรรค ยังไม่ลงตัวเพราะต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลเป็นของตนเอง นำไปสู่การหารือที่ยังไม่ได้ข้อยุติเสียที ซึ่งล่าสุดในการนัดร่วมหารือถึงประเด็นดังกล่าวในวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ของทั้ง 2 พรรค ก็ถูกเลื่อนออกไป

‘ก้าวไกล’ กับการปักธงตำแหน่งประธานสภา

ในเรื่องตำแหน่งประธานสภาทางพรรคก้าวไกลได้มีการย้ำจุดยืนและแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าตำแหน่งนี้ต้องเป็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น เพื่อผลักดันกฎหมายและวาระต่าง ๆ ของทางพรรค

โดยล่าสุดทางพรรคก้าวไกลพร้อมส่ง นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก ในฐานะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) สัดส่วนภาคเหนือ ลงชิงตำแหน่งประธานสภาฯ โดยระบุถึงภารกิจของรัฐสภา จะประกอบไปด้วย 3 ป. ได้แก่ ประสิทธิภาพ โปร่งใส ประชาชน

พร้อมระบุว่ารัฐสภาคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะสภาคือศูนย์กลางอำนาจที่สถาปนาโดยประชาชน เป็นตัวแทนของประชาชนเจ้าของประเทศ ประเทศไทยที่เราอยากเห็นจะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องเริ่มสร้างจากในรัฐสภาเป็นแห่งแรก รัฐสภายังเป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตยของประเทศ ความเป็นนิติรัฐ เป็นประชาธิปไตย ของประเทศ ย่อมขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติเป็นสำคัญ

‘เพื่อไทย’ ปรับสูตรเก้าอี้ หวังชิงที่นั่งประธานสภา

ท่าทีของพรรคเพื่อไทยภายหลังมีการจัดประชุมสัมมนาของว่าที่ส.ส. เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ก็มีการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในตำแหน่งประธานสภาว่าต้องเป็นของพรรคเพื่อไทย ซึ่งว่าที่สสเพื่อไทยหลายคนก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภาว่าสมควรที่จะเป็นของพรรคเพื่อไทย

ซึ่งทางนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ได้เปิดเผยว่า การประชุมกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.พรรคเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน เป็นการที่พรรคยืนยันหลักการในสิ่งที่ได้เสนอไปในการเจรจาครั้งแรกที่ออกมาเป็น 14+1 คือ พรรคก้าวไกลเป็นรัฐมนตรี 14 ตำแหน่งกับนายกรัฐมนตรีดูแลฝ่ายบริหาร และพรรคเพื่อไทย เป็นรัฐมนตรี 14 และจะรับหน้าที่ในการเป็นประธานสภา

ประเด็นตำแหน่งประธานสภา จะไม่นำไปสู่ปัญหาความแตกแยกของพรรคร่วมทั้ง 8 พรรค อีกทั้งในส่วนของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลนั้นได้รับฉันทามติมาจากพี่น้องประชาชนในการเลือกตั้งว่าต้องการรัฐบาลประชาธิปไตย หากเพียงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งมาทำให้แตกแยกพี่น้องประชาชนจะรับไม่ได้

ระมัดระวังอย่างยิ่ง ไม่ให้เกิดการฟรีโหวต เพราะไม่เป็นประโยชน์กับทั้งสองพรรค และยังจะเกิดประโยชน์กับกลุ่มที่สามที่รอโอกาส ดังนั้น พรรคเพื่อไทยเสนอหลักการเดิมแล้ว หากสองพรรคได้ข้อสรุปตรงกันก็เดินหน้าต่อ แต่ถ้ายังไม่ได้ข้อสรุปก็ควรไปหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันให้ได้

กระแสเก้าอี้ประธานสภา มุมมองจากคนวงนอก

นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านทีวีรัฐสภา ในรายการ 91 ปี โดยระบุว่า ที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่ ประธานสภาฯ ไม่ได้มาจากพรรคอันดับหนึ่ง เพราะเป็นข้อตกลงของพรรคร่วม บางครั้งที่ผลเลือกตั้งออกมา พบว่าพรรคการเมืองมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกัน สามารถตกลงกันได้ว่าใครจะเป็นนายกฯ หรือ ประธานสภาฯ

พร้อมมองว่า ฝ่ายที่ตั้งรัฐบาล ไม่ใช่เอาทุกอย่างเป็นของตนเอง ต้องต่อรอง เพราะนอกจากเรื่องนี้ยังมีการต่อรองอื่น ๆ อีก การแบ่งอำนาจ จะทำให้เกิดความขัดแย้งน้อยลง แต่ที่มีความขัดแย้งมาก เพราะไม่เข้าใจหลายเรื่อง

นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ก็ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน โดยล่าสุดมีการโพสต์ข้อความระบุว่า เกมสลายขั้ว มติพรรคเพื่อไทย 2 พรรคแกนนำให้ใช้สูตร 14+1 เพื่อไทยได้ รัฐมนตรี 14 ประธานสภา 1 ก้าวไกลได้ รัฐมนตรี 14 นายกรัฐมนตรี 1 ดูเหมือนดี แต่แฝงความเขี้ยวของเพื่อไทย

เพราะประธานสภาของตายได้ สุชาติ ตันเจริญ แต่นายกรัฐมนตรี พิธา ออกแนวลูกผีมากกว่าลูกคน เพราะ ส.ว. ไม่โหวตให้

ตัวแปรสำคัญเพื่อไทย ดูคลื่นลมที่ทักษิณเงียบสงบ ปณิธาน “ลอนดอน” เริ่มทันทีที่เครื่องบินแตะพื้นเมืองไทย เกม “สลายขั้ว” ให้ประธานสภากลับเป็นเพื่อไทย ผลักให้ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน ให้ “บิ๊กป้อม” เป็นนายกฯ เพื่อไทยเดินเกมตามสเตป 3 ขั้นตอน ได้ ประธานสภา สุชาติ ได้ บิ๊กป้อม เป็นนายกฯ ผลักก้าวไกล เป็นฝ่ายค้าน เพื่อไทยกับก้าวไกลแยกกันกลายเป็น “ปลาคนละน้ำ”

ผมเคยบอกไว้ตั้งแต่เห็น หมอชลน่านแสดงท่าทีว่า “จะรักกันตลอดไป” แต่เป็น “รักที่ต้องหวาดระแวง” อย่างนี้ไม่มีความสุขหรอกครับ วันหนึ่งเมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนถึงจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินกลืนเลือดไว้ วันนี้ไม่ใช่วันของเรา แต่บอกได้เลยว่า อายุรัฐบาลอยู่ได้ไม่นาน

ตำแหน่ง ‘ประธานสภาผู้แทนราษฎร’

ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตำแหน่งหัวหน้าสภาผู้แทนราษฎร ของประเทศไทย โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้ประธานสภาผู้แทนราษฏรเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่งด้วย

การเลือกประธานสภารัฐธรรมนูญกำหนดให้มีประธานสภาคนหนึ่งและรองประธานคนหนึ่งหรือสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภาผู้แทนราษฎรตามมติของสภา ในการเลือกประธานสภาและรองประธานสภานั้น สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้หนึ่งชื่อ

โดยการเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่ายี่สิบคน ถ้าหากว่ามีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้าหากมีการเสนอชื่อหลายชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ เมื่อลงมติเสร็จสิ้นแล้ว ให้ประธานประกาศชื่อผู้ใดรับเลือกต่อที่ประชุม และให้เลขาธิการมีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์

อำนาจหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร กำกับดูแลการดำเนินกิจการของสภาควบคุมการรักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมสภา ตลอดถึงบริเวณสภา เป็นผู้แทนสภาในกิจการภายนอก แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินการใดๆ อันเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสภา มอบหมายกิจการต่างๆ ให้รองประธานสภา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง