ภายหลังจากเกิดเหตุอันน่าเศร้าของเรือดำน้ำไททันในภารกิจดำลงไปเยี่ยมชมเรือไททานิกที่ระดับความลึก 3,800 เมตร โดยจากแถลงการณ์ของหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ ได้ระบุว่า ตัวเรือดำน้ำไททัน น่าจะถูกแรงดันของน้ำบีบอัดและแตกกระจายออกเป็นชิ้น ๆ
ซึ่งชิ้นส่วนที่ใหญ่ที่สุดคือบริเวณกรวยท้ายเรือ, ส่วนบริเวณฝาครอบของตัวเรือ และโครงสร้างขาลงจอด ในขณะที่ชิ้นส่วนอื่น ๆ นั้นกระจายออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ เป็นบริเวณกว้าง
โครงสร้างตัวเรือดำน้ำไททัน
สำหรับตัวเรือดำน้ำไททันนั้น มีความยาวประมาณ 6.7 เมตร และสูงประมาณ 2.5 เมตร ตัวเรือเป็นโครงสร้างคาร์บอนไฟเบอร์ มีฝาครอบหัวท้ายที่ทำจากไทเทเนียม รวมถึงแหวนโลหะที่รัดและยึดระหว่างตัวเรือ ซึ่งเป็นห้องแรงดัน กับฝาครอบหัวและท้าย
บริเวณฝาด้านหน้าเป็นทางเข้าและออก ซึ่งจะเปิดจากด้านนอกได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถเปิดจากด้านในได้ และมีช่องหน้าต่าง
ส่วนระบบขับเคลื่อนนั้นมีมอเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 4 ตัว ทำหน้าที่สำหรับขับเคลื่อนเดินหน้า-ถอยหลัง 2 ตัว และทำหน้าที่ขับเคลื่อนขึ้น-ลง อีก 2 ตัว โดยทำความเร็วได้ราว 3 น็อต หรือประมาณ 5 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ตัวเรือสามารถบรรทุกผู้เดินทางได้ 5 คน (รวมผู้บังคับ) และมีออกซิเจนเพียงพอสำหรับทุกคนในระยะเวลา 96 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ตัวเรือยังมีระบบให้สามารถทิ้งน้ำหนัก และปล่อยถุงลมเพื่อลอยตัวขึ้นสู่อากาศได้ทันทีหากมีเหตุฉุกเฉิน รวมถึงระบบถ่วงน้ำหนักที่ออกแบบมาให้กลับขึ้นสู่ผิวน้ำได้เอง เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง ซึ่งตัวล็อกตุ้มน้ำหนักจะละลายและทิ้งตุ้มถ่วงน้ำหนักลงสู่พื้น ลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำ
…
ความล้าของวัสดุ
ในขณะที่เรือดำน้ำยังคงอยู่ที่ผิวน้ำ ตัวเรือจะไม่ได้รับผลกระทบแรงดันของน้ำแต่อย่างใด แต่เมื่อตัวเรือดำลึกลงไปเรื่อย ๆ แรงดันน้ำก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามระดับความลึก
แรงดันที่ระดับความลึกราว 3,000 เมตร มีแรงบีบอัดราว 3,000 ตันต่อตารางเมตร หรือเทียบเท่ากับทุก ๆ ตารางเมตรของพื้นผิวเรือ จะมีฮิปโปฯ น้ำหนัก 3 ตัน เหยียบอยู่ 1,000 ตัว
และหากลงไปที่ระดับความลึก 3,800 เมตร แรงดันของน้ำจะยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก เทียบได้กับช้างขนาดเกือบ 4 ตันจำนวน 1,000 ตัว เหยียบตัวเรือในทุก ๆ ตารางเมตร
แรงดันน้ำจะบีบอัดตัวเรือในทุกทิศทาง และเมื่อเรือลอยกลับขึ้นมา แรงบีบอัดก็จะลดลง ตัวเรือจึงบีบอัดและคลายออก เมื่อมีการบีบอัดและคลายออกหลาย ๆ ครั้ง ตัวเรือก็จะเกิด “ความล้า” ของวัสดุ สะสมตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ
เรือดำน้ำไททันเคยดำลงไปยังจุดที่เรือไททานิกอยู่มาแล้ว รวมถึงเคยดำลงไปถึงระดับความลึก 4,000 เมตร ที่นอกชายฝั่งบาฮามาสมาแล้ว ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ อาจจะมีสาเหตุมาจากความล้าของวัสดุที่สร้างตัวเรือขึ้นก็ได้ และหากไม่ได้มีการซ่อมบำรุงที่ดีพอก็จะส่งผลกระทบกับความทนทานของวัสดุที่ลดลง
ในขณะเดียวกัน เรือดำน้ำของกองทัพที่มีการใช้งานกันอยู่ในขณะนี้ ตัวเรือทำด้วยโลหะเป็นหลัก และระดับของการดำน้ำก็ไม่ได้ลึกในระดับเดียวกันนี้ด้วยเช่นกัน การใช้โครงสร้างจำพวกคาร์บอนไฟเบอร์คอมโพสิตนั้น หลายฝ่ายก็ตั้งขอสังเกตถึงความไม่ปลอดภัย ในวัสดุ แม้ว่าจะมีความทนทานได้ดี แต่หากเส้นใยมีรอยแตก-ขาดออกจากการ แม้เพียงเล็กน้อย เมื่อต้องไปเจอกับแรงดันในระดับ 3-4 ร้อยเท่าของบรรยากาศ ก็มีโอกาสที่จะพังได้ในพริบตา
…
แรงดันมหาศาล บี้ทุกสิ่งในเสี้ยววินาที
ทาง OceanGate อ้างถึงระบบที่เรียกว่า Live health monitor ในการตรวจสอบโครงสร้าง ซึ่งหากมีปัญหาจะมีการแจ้งเตือน แต่จากสิ่งที่เกิดขึ้นหลายคนจึงตั้งข้อสังเกตต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่า ระบบดังกล่าวทำงานได้ตามปรกติหรือไม่
แต่ภายใต้แรงดันในระดับที่สูงกว่า 300 เท่าของบรรยากาศ ทุก ๆ ตารางเมตรของผิวเรือดำน้ำไททัน จะรับแรงเทียบเท่ากับช้าง 1,000 ตัวกดทับอยู่ ดังนั้น หากเกิดปัญหากับโครงสร้างและนำไปสู่หายนะ
และรายงานข้อสังเกตเรื่องความปลอดภัยเมื่อปี 2018 ก็เคยมีกล่าวถึงของการฉีกขาดของเส้นใยไฟเบอร์ ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนของโครงสร้างจำพวกไฟเบอร์คอมโพสิตที่ต้องพึ่งพาแรงเหนี่ยวระหว่างเส้นใยให้โครงสร้างแข็งแรง แต่หากเส้นใยที่เชื่อมต่อนั้นขาดออกจากกันก็จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างที่รุนแรงกว่าวัสดุที่เป็นกลุ่มโลหะ
ระบบเตือนภัยก็จะแทบไม่มีประโยชน์ เมื่อแรงดันจะบดขยี้ทุกสิ่งอย่างอย่างรวดเร็วในระดับ “มิลลิวินาที” และก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้วที่ความลึกในระดับนั้น
นอกจากนี้ ตัวผนังที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์คอมโพสิตที่มีความหนามากกว่า 5 นิ้ว ยังถูกตั้งของสังเกตว่า อาจจะหนาเกินกว่าที่จะสามารถทำการสแกนตรวจหาร่องรอยของความเสียหายได้ทั้งหมด และนั่นอาจจะทิ้งรอยแผลเล็ก ๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้าในครั้งนี้
…
ในแถลงการณ์ของ OceanGate ได้มีการกล่าวถึงผู้เสียชีวิตทั้ง 5 รายนี้ ว่า ถือเป็นนักผจญภัยที่แท้จริง แต่หลายคนก็มองว่า การผจญภัยของพวกเขาเหล่านี้ แม้จะมีความเสี่ยง แต่นั่นไม่ใช่เรื่องของอุปกรณ์ไม่ใช่เรื่องที่จะเสี่ยงดวงกันได้เช่นกัน