คัดลอก URL แล้ว
ภัยทางการเงิน กับมาตรการป้องกันความเสี่ยง

ภัยทางการเงิน กับมาตรการป้องกันความเสี่ยง

KEY :

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ภัยทางการเงิน’ เข้าถึงประชาชนได้อย่างง่ายดาย ทั้ง SMS หลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอปพลิเคชันให้สินเชื่อปลอม และแอปพลิเคชันดูดเงิน ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก ภัยหลอกลวงเหล่านี้ส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องสูญเสียทรัพย์สิน หรือรายได้ที่เก็บออม แม้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแจ้งเตือนประชาสัมพันธ์ตลอดในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีคนตกเป็นเหยื่อของขบวนการมิจฉาชีพเหล่านี้อยู่เรื่อย ๆ

จากสถิติการแจ้งความในเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 – มีนาคม 2566 มีการแจ้งความผ่านระบบออนไลน์กว่า 2 แสนเคส มูลค่าความเสียหายกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยเป็นคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงกว่า 2 หมื่นเคส มูลค่าความเสียหายกว่า 3.5 พันล้านบาท

นอกจากนี้หากย้อนดูข้อมูลเมื่อปี 2564 พบว่าสถิติแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โทรหลอกลวงประชาชนสูงถึง 6.4 ล้านครั้ง ในขณะที่การส่ง SMS ข้อความหลอกลวงต่าง ๆ สูงขึ้นตลอดในช่วงหลังปี 2564 ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากสถาบันการเงินแล้วว่าเป็นการฉ้อโกงจริง มีมูลค่าความเสียหายกว่า 1.5 พันล้านบาท และยังพบว่าเป็นการดำเนินการผ่าน อินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งและโมบายแบงก์กิ้ง เป็นจำนวนมากที่สุดด้วยเช่นกัน

ต้องยอมรับการหลอกลวงจากมิจฉาชีพนั้นมีมานานแล้ว เพียงแต่คนร้ายมีการพัฒนารูปแบบมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ คือ โทรศัพท์มือถือ จึงไม่แปลกที่มิจฉาชีพจะใช้ช่องทางนี้เป็นช่องทางหลักในการติดต่อกับเหยื่อ ผ่านทาง SMS การโทรคุยโดยตรง หรือผ่านแอปพลิเคชันแชทต่าง ๆ

ประเทศไทยจัดการเรื่องนี้อย่างไรบ้าง?

ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกภาคการเงินดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง บนหลักการป้องกัน ตรวจจับ และตอบสนองรับมือ เพื่อลดช่องทางของมิจฉาชีพ และช่วยแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อภัยการเงิน

ซึ่งหลายเรื่องดำเนินการแล้ว เช่น ร่วมกับสำนักงาน กสทช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคธนาคาร (TB-CERT) ปิด SMS ที่แอบอ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน เพื่อป้องกันมิจฉาชีพใช้แอบอ้างติดต่อประชาชน ซึ่งทำให้ภัยหลอกลวงทาง SMS เหล่านี้ลดลง

อย่างไรก็ดี การจัดการและแก้ปัญหาภัยการเงินในปัจจุบันยังมีจุดที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเข้าถึงประชาชนของมิจฉาชีพที่ทำได้หลายช่องทางและหลายรูปแบบ กระบวนการอายัดบัญชีผิดปกติของถาบันการเงิน ที่ยังใช้เวลานาน การซื้อขายบัญชีม้าที่ยังมีอยู่มาก ทำให้ขบวนของมิจฉาชีพเหล่านี้ใช้ช่องโหว่ในการหลอกลวงประชาชน

บัญชีม้า

3 มาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน

ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกแนวนโยบายเป็นชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินที่ดูแลตลอดเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยกำหนดเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงิน ทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมีการรักษาสมดุลระหว่างการบริหารจัดการความเสี่ยงกับการส่งเสริมบริการทางการเงินดิจิทัล โดยมี 3 มาตรการ ดังนี้

สถาบันการเงินงดการส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล และงดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน และเลขบัตรประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย จำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งาน mobile banking (username) ของแต่ละสถาบันการเงิน ให้ใช้ได้ใน 1 อุปกรณ์เท่านั้น โดยสถาบันการเงิน ต้องจัดให้มีการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ mobile banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง และพัฒนาระบบความปลอดภัยบน mobile banking ให้เท่าทันภัยการเงินรูปแบบใหม่อยู่ตลอดเวลา

ตลอดจนต้องยกระดับความเข้มงวดในกระบวนการยืนยันตัวตนขั้นต่ำด้วยการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพของลูกค้า (biometrics) เช่น สแกนใบหน้า ในกรณีลูกค้าขอเปิดบัญชีโดยผ่านแอปพลิเคชันของสถาบันการเงิน (non-face-to-face) หรือทำธุรกรรมผ่าน mobile banking ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น โอนเงินมากกว่า 50,000 บาท หรือปรับเพิ่มวงเงินทำธุรกรรมต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาท ขึ้นไป นอกจากนี้ จะกำหนดเพดานวงเงินถอน/โอนสูงสุดต่อวันให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการแต่ละประเภท โดยลูกค้าสามารถขอปรับได้ตามความจำเป็น และต้องยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดเงื่อนไขการตรวจจับและติดตามธุรกรรมเข้าข่ายผิดปกติ หรือกระทำความผิด เพื่อให้ สง. รายงานไปสำนักงาน ปปง. รวมทั้งให้ สง. ต้องมีระบบตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัยแบบ near real-time เพื่อให้สามารถระงับธุรกรรมได้ทันทีเป็นการชั่วคราวเมื่อตรวจพบ

ให้สถาบันการเงินทุกแห่งต้องมีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (hotline) ตลอด 24 ชั่วโมง แยกจากช่องทางให้บริการปกติ เพื่อให้ผู้ใช้บริการแจ้งเหตุได้โดยเร็ว รวมทั้งให้ดูแลรับผิดชอบผู้ใช้บริการ หากพบว่าความเสียหายเกิดจากข้อบกพร่องของสถาบันการเงิน

รวมเบอร์ศูนย์รับแจ้งเหตุ

ทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่าจะถูกหลอก หรือ โดนหลอกแล้ว

การระมัดระวังตัวเองเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุด ทางที่ดีควรท่องไว้ในใจว่า อย่ากด อย่าโอน อย่าแชร์ข้อมูลให้ใคร แต่หากสงสัยว่ากำลังจะถูกหลอกให้พยายามตั้งสติ อย่าเพิ่งหลงเชื่อโดยง่าย หากได้รับโทรศัพท์ที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ เช่น DSI กรมสรรพากร กรมศุลกากร กสทช. ไปรษณีย์ หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้วางสายแล้วโทรกลับไปเช็กที่หน่วยงานนั้นโดยตรง

ซึ่งปกติแล้วหน่วยงานเหล่านี้จะไม่มีนโยบายโทรมาแจ้งให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบข้อมูล ยืนยันความบริสุทธิ์ หรือโทรมาขอข้อมูลส่วนตัว หากส่งลิงก์มาให้กดกู้เงิน ให้เช็กชื่อบริษัทเงินกู้ที่ได้รับอนุญาตในเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน

ในกรณีที่มีคนโทรมาอ้างว่าโอนเงินผิดและขอให้โอนกลับไปให้ อย่าโอนคืนกลับไปเองเด็ดขาด เพราะอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของบัญชีม้าที่ไปพัวพันกับการกระทำความผิดได้ แนะนำว่าควรแจ้งให้บุคคลนั้นโทรไปแจ้งที่ธนาคารต้นทางของตัวเองเพื่อให้ธนาคารดำเนินการตามกระบวนการในการขอเงินคืนหรือเพื่อความปลอดภัยไม่ว่าจะมีการโอนเงินเข้ามาผิดมากน้อยแค่ไหนควรไปแจ้งความไว้ก่อน


ข้อมูล :


ข่าวที่เกี่ยวข้อง