เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2546 เป็นวันแรกของการเปิดฉากโจมตีอิรักภายใต้กองกำลังผสมจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร โดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชของสหรัฐฯ ได้แถลงว่า กองกำลังของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจะเปิดปฏิบัติการทางทหาร เพื่อปลดอาวุธร้ายแรงจากอิรัก และยุติระบบการปกคลองแบบเผด็จการ ภายใต้การปกครองของซัดดัม ฮุนเซน
สหรัฐฯ ได้ยืนยันข่าวกรองที่น่าเชื่อถือและมีหลักฐานว่า อิรักกำลังพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง โดยเฉพาะอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบผลิตแก๊สมัสตาร์ด มีการจัดเก็บและพยายามพัฒนาเชื้อแอนแทร็กซ์ และเชื้อโรคอื่น ๆ เพื่อใช้สร้างอาวุธชีวภาพ
“ผ่านไปแล้ว 20 ปี แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนใด ๆ ว่า ผู้นำอิรัก มีอาวุธร้ายแรงเหล่านั้นไว้ในครอบครอง”
แต่ในระยะเวลาหลายปีของปฏิบัติการที่เกิดขึ้น มีทหารสหรัฐฯ และพันธมิตรจำนวนกว่า 4,700 นาย และพลเรือนชาวอิรักกว่า 1 แสนคน เสียชีวิต ในเหตุการณ์ในครั้งนี้
…
ทำไมถึงเป็นอิรัก
ตลอดระยะเวลาในยุคสงครามเย็น อิรักมีความสัมพันธ์อันดีกับโซเวียต และไม่ลงรายกับสหรัฐฯ มาเป็นระยะ ๆ และยังเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีชาติอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นอิสราเอล – ปาเลสไตน์, อิหร่าน รวมถึงซาอุดิอาระเบีย และคูเวต
จนกระทั่งในเดือน ส.ค. 2533 ความขัดแย้งระหว่างอิรักและคูเวตถึงขีดสุด ส่งผลให้อิรักเปิดฉากโจมตีคูเวต และกลายเป็น “สงครามอ่าว” โดยมีสหรัฐฯ และกองกำลังผสม เข้าตอบโต้การโจมตี และรุกเข้าไปในดินแดนของอิรักเพื่อตอบโต้ จนกระทั่ง ก.พ. 2534 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ประกาศการปลดปล่อยคูเวตจากการโจมตีของอิรักเรียบร้อย
นับแต่นั้น อิรักจึงกลายเป็นเหมือนสายล่อฟ้าอยู่ในอ่าวเปอร์เซีย ที่ถูกสหรัฐฯ จับจ้องมาโดยตลอด โดยเฉพาะ “ซัดดัม ฮุสเซน” ผู้นำอิรัก
พร้อมทั้งมีการกล่าวถึง “อาวุธทำลายล้างสูง” และ “อาวุธชีวภาพ” ในเวทีนานาชาติ นำไปสู่การร้องขอให้มีการตรวจสอบ และให้อิรักทำลาย “โรงงานเคมีและชีวภาพ” รวมถึง “โรงงานนิวเคลียร์” ด้วย ท่ามกลางการลงมติขอให้มีผู้แทนพิเศษจาก UN เข้าตรวจสอบ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับความร่วมมืออย่างที่หวัง
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2543 อิรักกลายเป็นหนึ่งในนโยบายที่แข็งกร้าวของ “จอร์จ ดับเบิลยูบุช” ซึ่งกล่าวถึง “การปลดปล่อยอิรักจากการปกครองของซัดดัม”
ภายหลังเหตุการ์ 9/11 ในปี 2001 อิรักก็ถูกพุ่งเป้าหมายมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานได้ที่ระบุว่า ซัดดัม ร่วมมือกับอัลกออิดะห์ก็ตาม ทำให้ในปี 2002 อิรักถูกกล่าวถึงหลายครั้งถึงการเป็น “ผู้ร้าย” และมีการกล่าวอ้างว่า อิรัก มีอาวุธทำลายล้างสูง, กำลังผลิตอาวุธเคมี, พัฒนาอาวุธชีวภาพ
โดยบุช ได้ระบุว่า อิรัก อิหร่าน และเกาหลีเหนือ เป็นหนึ่งส่วน กลุ่มอักษะแห่งความชั่วร้าย (Axis of evil) และยังได้กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หากอิรักไม่ปฏิบัติตามมติของสหประชาชาชาติว่าด้วยการลดอาวุธแล้ว คงจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงปฏิบัติการทางทหารได้
หลังจากนั้นไม่กี่วัน สหราชอาณาจักรก็ได้เผยแพร่เอกสารอ้างถึงภัยคุกคามจากอิรัก โดยอ้างว่า ซัดดัมสามารถใช้อาวุธทำลายล้างสูงได้ภายใน 45 นาทีหากต้องการ
“ประวัติศาสตร์เรียกร้องให้อเมริกา และพันธมิตรต้องจัดการ มันเป็นความรับผิดชอบ และเป็นสิทธิ์ของเราในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ” – ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช, ม.ค. 2002
“ไม่ต้องสงสัยเลย ซัดดัมมีอาวุธทำลายล้างสูงอยู่ในตอนนี้” – รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดิก เชนีย์, ส.ค. 2002
“การที่ซัดดัม มีอาวุธ หรือจัดหาอาวุธมาครอบครอง ถือเป็นการกระทำที่ไร้ความรับผิดชอบ” – โทนี แบลร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ, ก.ย. 2002
“สิ่งที่กล่าวนี้ เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของข่าวกรองที่น่าเชื่อถือ” – โคลิน พาวเวลล์, รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯ , ก.พ. 2003
ซึ่งการตรวจสอบเบื้องต้นของ IAEA ระบุว่า ไม่พบหลักฐานการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในอิรัก รวมถึงความพยายามในการตรวจสอบของคณะกรรมการจากสหประชาชาติจำนวนหลายร้อยครั้ง แต่ทางด้านของ โคลิน พาวเวลล์ ของสหรัฐฯ ยังคงยืนยันความถูกต้องของข้อมูลในเวที UN ท่ามกลางข้อสังเกตจากบางชาติที่ระบุว่า ข้อมูลข่าวกรองของสหรัฐฯ ยังไม่ชัดเจน และมีการถอนมติการขออนุมัติใช้กำลังทางทหารต่ออิรักออกจาก UN ในเดือน ก.พ. 2003
แต่สถานการณ์ไม่ได้จบลงเท่านั้น เมื่อสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร โปแลนด์ ออสเตรเลีย เดนมาร์ก และอิตาลี ได้มีการพูดคุยเจรจากันถึงภารกิจในการ “ปลดปล่อยอิรัก” ก่อนที่ในวันที่ 17 มี.ค. 2003 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แถลงข่าวขีดเส้นตาย 48 ชั่วโมง ให้ซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรัก และบุตรชาย ออกนอกประเทศ หรือจะเลือกที่จะเปิดสงครามกับสหรัฐฯ
ซึ่งในแถลงการณ์ดังกล่าว อ้างถึงอาวุธทำลายล้างสูง อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ ที่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ และการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่สหประชาชาตินั้น ถูกคุกคาม หลอกลวงจากทางการอิรัก ส่งผลให้การปลดอาวุธอิรักล้มเหลวมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงการปลดปล่อยชาวอิรักจากอำนาจเผด็จการของซัดดัม อุสเซน
และนั่น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ “สงครามอิรัก”
…
ไทม์ไลน์เหตุการณ์เหตุการณ์สำคัญในสงครามอิรัก
🟠️ 19 มี.ค. 2003 –
ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศว่า กองทัพสหรัฐฯ ได้เริ่มปฏิบัติการทางทหารในอิรักแล้ว เพื่อปลดอาวุธ และปลดปล่อยชาวอิรัก จากอำนาจเผด็จการของซัดดัม ฮุสเซน ภายหลังจากมีการขีดเส้นตายให้ ซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรัก และบุตรชายเดินทางออกนอกประเทศ
โดยการโจมตีระลอกแรกเกิดขึ้นจากการโจมตีทางอากาศ ภายใต้ชื่อปฏิบัติการว่า “Operation Iraqi Freedom”
🟠️ 10 เม.ย. 2003 –
ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช แถลงการระบุว่า “ยุคแห่งความกลัวและความโหดร้ายได้สิ้นสุดลงแล้ว” ซึ่งกองกำลังผสมของสหรัฐฯ และพันธมิตร ยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในกรุงแบกแดด
🟠️ 29 พ.ค. 2003 –
สำนักข่าว BBC ได้รายงานข้อสงสัยของเอกสารที่รัฐบาลอังกฤษระบุว่า อิรักมีอาวุธทำลายล้างสูง ซึ่งดร.เดวิด เคลลี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธได้ให้ข้อมูลกับ BBC ถึงข้อสังเกตต่าง ๆ
ก่อนที่ ดร.เดวิด เคลลี่ จะเสียชีวิตในป่าห่างจากบ้านพักไม่กี่กิโลเมตรเดือน ก.ค. 2003 โดยถูกระบุว่า เป็นการฆ่าตัวตาย ท่ามกลางข้อกังขาของบรรดาญาติและคนใกล้ชิด ถึงความไม่ชอบมาพากลต่อการเสียชีวิตที่อ้างว่า เป็นการฆ่าตัวตาย
🟠️ 22 ก.ค. 2003 –
กองกำลังของสหรัฐฯ ากหน่วยเฉพาะกิจที่ 20 (Task Force 20) พร้อมด้วยกำลังพลจากกองพลส่งทางอากาศที่ 101 (101st Airborne Division) ได้เข้าตรวจค้นบ้านหลังหนึ่งในเมืองโมซุล และได้สังหารลูกชายซัดดัม คือ อูเดย์ ฮุสเซน และ คูเซย์ ฮุสเซน
โดยในภายหลังมีรายงานว่า มีผู้แจ้งเบาะแสของบุตรชายทั้งสองของซัดดัม เพื่อแลกกับข้อต่อรองในการได้สัญชาติสหรัฐฯ และสิทธิในการลี้ภัยไปยังสหรัฐฯ
🟠️ 13 ธ.ค. 2003 –
ภายหลังจากการหลบหนีออกจากกรุงแบกแดด เป็นเวลาหลายเดือน ซัดดัม ฮุสเซนก็ถูกจับกุมตัวได้ในห้องใต้ดินของกระท่อมหลังหนึ่งทางตอนใต้ของเมืองทิกริต ซึ่งเป็นบ้านเกิดของซัดดัมในสภาพหนวดเครายาวรุงรัง พร้อมด้วยปืน AK-47 หนึ่งกระบอก และเงินสด 750,000 เหรียญสหรัฐฯ โดยซัดดัมไม่ได้มีทีท่าขัดขืน พร้อมกับกล่าวว่า
“ฉันคือซัดดัมฮุสเซน ประธานาธิบดีของอิรัก และฉันต้องการเจรจา”
ภายหลังจากข่าวการจับกุมซัดดัมถูกเผยแพร่ออกไป ประชาชนในกรุงแบกแดดต่าง ออกมาเดินขบวนโห่ร้องไปตามถนน
🟠️ ม.ค. 2004 –
สถานการณ์การก่อความไม่สงบในอิรักเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะ โดยมุ่งเป้าการโจมตีไปยังกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแต่เดิมจะมุ่งเป้าไปยังกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตร
🟠️ 24 ม.ค. 2004 –
เกิดแรงกระเพื่อมตีกลับไปยังรัฐบาลของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ภายหลังจากที่เดวิด เคย์ อดีตผู้ตรวจสอบอาวุธระดับสูงของสหรัฐฯ ได้กล่าวต่อสภาคองเกรสถึงประเด็นการตรวจสอบอาวุธทำลายล้างสูงของอิรัก โดยระบุว่า
“เราคิดผิดเกือบทั้งหมด แน่นอน รวมถึงผมด้วย”
ภายหลังจากที่เคย์ ได้เดินทางไปยังอิรัก และเข้าตรวจสอบในสถานที่ต่าง ๆ ที่เขาเคยอ้างถูกสงสัยว่า เป็นแหล่งพัฒนาอาวุธทำลายล้างสูง โรงงานอาวุธเคมี และได้ข้อสรุปว่า สิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่จริง ทั้ง CIA และหน่วยข่าวกรองอื่น ๆ ได้ข้อมูลมาผิด
อย่างไรก็ตาม เคย์ ยืนยันว่า การบุกอิรักนั้นถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และจำเป็นต้องทำ เพื่อปลดปล่อยชาวอิรักจากความทุกข์ทรมาน ภายใต้ผู้นำเผด็จการอย่างซัดดัม ฮุสเซน
และนั่นกลายเป็นผลทำให้การค้นหาอาวุธทำลายล้างสูงในอิรักต้องถูกระงับไป
🟠️ มี.ค. 2004 –
กองกำลังทหารรับจ้างของสหรัฐ ถูกกลุ่มติดอาวุธซุ่มโจมตีขบวนรถ และได้สังหารเจ้าหน้าที่ของ Blackwater จำนวน 4 ราย ก่อนนำร่างของทั้ง 4 ลากไปตามถนนและนำไปแขวนไว้ที่สะพานข้ามแม่น้ำ
ในขณะที่กลุ่มอัลกออิดะห์ ได้เปิดการโจมตีไปยังกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะห์ ในกรุงแบกแดด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน
🟠️ เม.ย. 2004 –
คลิปวิดีโอเหตุการณ์สังหารเจ้าหน้าที่ของ Blackwater 4 รายถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก และเป็นหนึ่งสาเหตุให้มีการโจมตีครั้งใหญ่ในเมืองฟัลลูจาร์
ในขณะเดียวกัน มีข้อมูลหลักฐาน ภาพถ่าย การทารุณนักโทษชาวอิรักในเรือนจําอาบูไกรบ์ โดยทหารสหรัฐฯ และในภายหลังมีทหารสหรัฐฯ ถูกลงโทษจำนวน 7 นาย ท่ามกลางข้อครหาว่า มีเจ้าหน้าที่อาวุโสและเจ้าหน้าที่บางรายรอดพ้นผิด
🟠️ พ.ค. 2004 –
มีการพบรางของนิโคลัส เบิร์ก เจ้าหน้าที่หอวิทยุ ชาวอเมริกัน ถูกลักพาตัว ซึ่งในไม่กี่วันต่อมา กลุ่มหัวรุนแรงในอิรักได้เผยแพร่คลิปการสังหารเบิร์ก และถูกระบุว่า เป็นฝีมือของ Abu Musab al-Zarqawi โดยมีจุดประสงค์เพื่อตอบโต้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในเรือนจําอาบูไกรบ์
🟠️ ก.ค. 2004 –
สำนักข่าว BBC เปิดรายงาน “Butler Review” ที่ระบุว่า ข้อมูลสำคัญของ MI6 ที่ใช้ในการสนับสนุนการเปิดปฏิบัติการโจมตีอิรักนั้น ไม่มีความน่าเชื่อถือ มีข้อบกพร่อง รวมถึงไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่า “อิรัก มีอาวุธทำลายล้างสูง”
เช่น ข้อมูลการซื้อยูเรเนียมจากไนเจอร์ของอิรักนั้นไม่มีข้อมูลใด ๆ อ้างอิง, ไม่มีหลักฐานแสดงการผลิตอาวุธชีวภาพ
🟠️ ก.ย. 2004 –
กองทัพสหรัฐฯ และกองกำลังของอิรัก ได้เปิดฉากสู้รบอย่างดุเดือดในเมืองฟัลลูจาร์ กับกลุ่มกบฏ และสามารถเข้ายึดเมืองได้สำเร็จ มีทหารสหรัฐฯ เสียชีวิต 38 นาย ในขณะที่เพนตากอนระบุว่า มีผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 1,200 ราย
ด้านสภากาชาดระบุว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตที่รายงานนั้น มีพลเรือนชาวอิรักถึง 800 ราย
🟠️ ต.ค. – ธ.ค. 2004 –
แนวโน้มสถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางความพยายามของสหรัฐฯ ในการจัดการเลือกตั้งในอิรัก ท่ามกลางกระแสการคว่ำบาตรการเลือกตั้ง การก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย เพื่อล้มการเลือกตั้งและตอบโต้ต่อกองกำลังสหรัฐฯ
🟠️ 2005 – ปีแห่งการเลือกตั้ง และความรุนแรง
การเดินหน้าจัดการเลือกตั้งเพื่อจัดตั้งรัฐบาลของอิรัก เพื่อเดินหน้าประเทศยังคงเกิดขึ้น ท่ามกลางการคว่ำบาตรการเลือกตั้งของชาวซุนนี โดยมีชาวเคิร์ดและชีอะห์เข้าร่วม
โดยการเลือกตั้งถูกจัดขึ้นในระหว่างเดือนก.พ. – เม.ย. 2005 ท่ามกลางกองกำลังคุ้มกันของสหรัฐฯ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของอิรัก โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของอิรักก็ได้รับการอนุมัติและผ่านการทำประชามติในเดือน ต.ค. 2005 และมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในเดือน ธ.ค. 2005
ซึ่งสถานการณ์ในอิรักกับมีความวุ่นวายมากยิ่งขึ้น ระหว่างนิกายชีอะห์และซุนนิ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
🟠️ 2006 – ประหาร
สถานการณ์ในอิรักยังคงมีความวุ่นวายและการก่อความรุนแรง และมีผู้เสียชีวิตมากขึ้น แม้ว่าจะมีความพยายามในการจัดการเลือกตั้ง
กองทัพสหรัฐฯ ได้โจมตีและสังหาร Abu Musab al-Zarqawi ได้สำเร็จ ซึ่งทางวอชิงตันเชื่อว่า จะลดความรุนแรงได้ ในขณะที่อีกหลายฝ่ายมองว่า นี่เป็นเพียงการแก้แค้นของสหรัฐฯ เท่านั้น เพราะการก่อเหตุรุนแรงยังคงเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ ๆ
ซึ่งในช่วงปลายปีสถานการณ์ความรุนแรงก็ก่อตัวขึ้นอีกครั้ง ภายหลังจากที่ศาลได้ตัดสินโทษประหารชีวิต ซัดดัม ฮุสเซน ด้วยการแขวนคอ ในข้อหา “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” และกลายเป็นความขัดแย้งกัน เนื่องจากชาวชีอะห์ นั้นออกมาร่วมแสดงความยินดีกับคำตัดสิน ในขณะที่ชาวซุนนี เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการปิดปาก
โดยการประหารซัดดัม ฮุสเซน เกิดขึ้นในวันที่ 30 ธ.ค. 2006 ที่ Camp Justice หรือ อีกชื่อหนึ่งคือ Camp Al-Adala ซึ่งเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐฯ – อิรัก ในกรุงแบกแดด และได้มีการเผยแพร่คลิปเหตุการณ์นี้ด้วย โดยปรากฎภาพของซัดดัม ในชุดสูท ถืออัลกุรอานอยู่ในมือ สงบนิ่ง ในขณะที่เพชรฆาตนำเชือกคล้องคอของซัดดัม ในช่วงนาทีสุดท้ายก่อนที่จะลงมือประหาร
และคลิปการประหารซัดดัม ฮุสเซนก็กลายเป็นประเด็นถึงความเหมาะสม ถูกต้องในการเผยแพร่สิ่งที่เกิดขึ้นต่อรัฐบาลอิรักในขณะนั้น รวมถึงกองทัพสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรด้วย ด้วย
🟠️ อิรัก ในยุคใหม่ และความวุ่นวายที่ไม่จบสิ้น
ภายหลังจากการประหารชีวิต ซัดดัม ฮุสเซน ความรุนแรงและการก่อการร้ายยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอิรัก ทำให้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ต้องสั่งเพิ่มกำลังทหาร เพื่อควบคุมความรุนแรง
แต่ก็ยังคงมีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงมากขึ้น จากทั้งกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง และกองกำลังพันธมิตรที่เข้าโจมตี เพื่อหวังถอนรากถอนโคนกลุ่มผู้ก่อเหตุเหล่านี้
ในขณะที่สหรัฐฯ นั้น บารัก โอบามา ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี และให้คำมั่นถึงการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอิรัก ทำให้ความวุ่นวายในช่วงหลังเปลี่ยนเป็นความวุ่นวายทางการเมือง ควบคู่การก่อเหตุรุนแรง
จนกระทั่ง ธ.ค. 2011 ทหารสหรัฐฯ คนสุดท้าย ได้ถอนตัวออกจากอิรัก ส่งมอบภารกิจต่อให้กับกองทัพและตำรวจอิรัก ท่ามกลางปัญหาที่ยังคงอยู่ และกลายเป็นการรวมกลุ่มผู้ก่อการร้ายกลุ่มก้อนต่าง ๆ ทั้งในอิรัก ซีเรีย
และนั่นกลายเป็นต้นกำเนิดของกลุ่มรัฐอิสลามในอิรักและซีเรีย (ISIS) ก่อนกลุ่มไอซิสจะเปิดฉากบุกยึดครองเมืองโมซุล, ฟัลลูจาห์, ทิกริต และรามาดี ด้วยปฏิบัติการสายฟ้าแล่บ สามารถยึดครองพื้นที่ราว 40% ของประเทศอิรัก
ก่อนที่กองทัพอิรักจะได้ขอความช่วยเหลือจากพันธมิตร รวมถึงสหรัฐฯ ในการโต้กลับ และทวงคืนพื้นที่กลับมาได้ ในช่วงปี 2018 แต่การสู้รบระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ยังคงเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกล ภายหลังการถอนตัวของกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตร
แม้ว่า ในช่วงปี 2019 การต่อสู้กับกลุ่ม ISIS จะลดลง แต่ความวุ่นวายทางการเมืองในอิรักยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอยู่เป็นระยะ ๆ จากความไม่พอใจในการบริหารประเทศ มีการคอรัปชั่น ในขณะที่ประชาชนยังคงเผชิญกับความยากจน และการว่างงานในอัตราที่สูง
ม.ค. 2020 ความวุ่นวายในตะวันออกกลางก็ลุกลามอีกครั้ง หลังจากสหรัฐฯ เปิดปฏิบัติการสังหาร นายพล Qassim Soleimani ผู้บัญชาการกองกำลัง Quds ของอิหร่าน ในกรุงแบกแดดของอิรัก ภายใต้คำสั่งโดนัลด์ ทรัมป์ ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และนำไปสู่การที่อิหร่าน โจมตีไปยังสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงแบกแดด
…
บทสรุปของสงครามอิรัก ในปฏิบัติการ Iraqi Freedom
ภายหลังจากที่มีการถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอิรักเมื่อปี 2011 และประกาศยุติภารกิจทางการทหารที่ยาวนานกว่า 8 ปี สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรต่าง ๆ ใช้เงินในภารกิจนี้ไปกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์ โดยมีทหารและเจ้าหน้าที่มากกว่า 1 ล้านคนในการปฏิบัติหน้าที่และสับเปลี่ยนกันเข้าประจำการในอิรัก ซึ่งส่งผลให้มีชาวอเมริกันเสียชีวิตไปมากกว่า 4 พันคน ยังไม่รวมถึงทหารที่กลับมาจากการสู้รบและเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพจิต นำไปสู่การฆ่าตัวตายอีกหลายพันคน ในขณะที่ชาวอิรักจำนวนกว่า 1 แสนคนต้องเสียชีวิต
ซึ่งในรายงานของ IBC ที่ได้รวบรวม คาดว่า ตั้งแต่มีการเปิดฉากสงครามอิรักเมื่อปี 2003 ถึงปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางทหาร การโจมตีและการก่อการร้ายต่าง ๆ ราว 186,736 – 210,090 ราย ในขณะตัวเลขที่แท้จริงของความเสียหายที่เกิดขึ้นในปฏิบัติการครั้งนี้ คาดว่า สูงกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในสงครามครั้งนี้ อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกพูดถึงมาก ๆ นั่นคือ “บทเรียนของการข่าว” เนื่องจากยังคงมีรายงานตามหลังมาโดยตลอดถึง “ปัญหาความน่าเชื่อถือด้านข่าวกรอง” ของทั้งสหรัฐฯ และสหราชอาณาจัก จากรายงานของ Lord Butler, The Chilcot inquiry ที่แสดงถึงปัญหาของการรวมรวมข่าวกรองต่าง ๆ ที่มีปัญหา และเป็นต้นตอของการเปิดสงครามในครั้งนี้
และสิ่งที่หลายฝ่ายมองกลับไปยังสงครามอิรักที่เกิดขึ้น นั่นคือ “ความล้มเหลวของการปลดปล่อยอิรัก” เนื่องจากในขณะนี้ อิรักยังคงประสบปัญหาความวุ่นวายต่าง ๆ อย่างมาก โดยเฉพาะภายหลังจากการถอนทหารของสหรัฐ และสหราชอาณาจักร
การมุ่งเป้าไปยังซัดดัม ฮุสเซน และนำไปสู่การโค่นซัดดัมลงจากอำนาจ กลายเป็นภาวะสูญญากาศ และเปิดให้กลุ่มก้อนต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จากความหลากหลายของเชื้อชาติ กลุ่มความเชื่อทางศาสนาต่าง ๆ ที่มีจำนวนมากในอิรัก การจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาใหม่ จึงยังคงกระท่อนกระแท่น ไม่ว่าจะเป็นการเกิดสงครามกลางเมืองในช่วงปี 2006 ก่อให้เกิดระบบการเมืองใหม่ ส่งผลให้เกิดการประท้วงและมีการปฏิรูปการเมืองอีกครั้งในปี 2019 – 2021
ความเท่าเทียม ความเสมอภาคยังคงไม่เกิดขึ้น
อันตรายกลับเพิ่มมากขึ้น จากการเคลื่อนย้ายของกลุ่มหัวรุนแรงต่าง ๆ มีเพิ่มขึ้น
และยังคงไม่มีหลักฐานยืนยันใด ๆ ว่า “อิรักครอบครองอาวุธทำลายล้างสูง หรืออาวุธเคมี” แต่อย่างใด
ข้อมูล :
- https://georgewbush-whitehouse.archives.gov/news/releases/2003/03/20030317-7.html
- http://news.bbc.co.uk/1/hi/world/middle_east/3317429.stm
- http://edition.cnn.com/2004/US/01/28/kay.transcript/
- http://news.bbc.co.uk/2/hi/uk_news/politics/3892809.stm
- https://www.iraqbodycount.org/database/
- https://theconversation.com/its-been-20-years-since-the-us-invaded-iraq-long-enough-for-my-undergraduate-students-to-see-it-as-a-relic-of-the-past-199460
- https://webarchive.nationalarchives.gov.uk/ukgwa/20171123123237/http://www.iraqinquiry.org.uk//
- The U.S. National Archives