KEY :
- ‘ค่าเงินบาทอ่อน’ ซึ่งแตะระดับอ่อนสุดในรอบ 16 ปี อันเนื่องมาจากการปรับอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ Fed (เฟด)
- ช่วงเช้าวันที่ 28 กันยายน 2565 ค่าเงินบาทแตะที่ระดับ 38 บาท บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
- ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า ได้แก่ ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น / ต้นทุนการกู้ยืมเงินต่างประเทศสูงขึ้น / การเดินทางไปท่องเที่ยวหรือศึกษาต่อ
- นับตั้งแต่ช่วงต้นปีค่าเงินทั่วเอเชียก็อ่อนค่าลงระหว่าง 5.0-8.5% ด้วยเช่นกัน ทั้งญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย
กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นเศรษฐกิจที่หลาย ๆ กำลังจับตามองอย่างใกล้ชิด สำหรับกรณี ‘ค่าเงินบาทอ่อน’ ซึ่งแตะระดับอ่อนสุดในรอบ 16 ปี อันเนื่องมาจากการปรับอัตราดอกเบี้ยตามนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ Fed (เฟด) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน ส่งผลทำให้เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 22 กันยายน 2565 ค่าเงินบาทแตะที่ระดับ 37.37 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันที่ 28 กันยายน 2565 ค่าเงินบาทแตะที่ระดับ 38 บาท บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ซึ่งสาเหตุหลักของค่าเงินบาทอ่อน มาจากภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดของเฟด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 3.00-3.25%
ทำความเข้าใจกับคำว่า ‘ค่าเงินบาทอ่อน’
‘ค่าเงินบาทอ่อน’ หากขยายความให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น คือ สกุลเงินบาทเมื่อนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินหลักอย่าง ดอลลาร์สหรัฐฯ จะใช้จำนวนสกุลเงินบาทเพิ่มมากขึ้นต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนั่นหมายความว่าสกุลเงินบาทมีมูลค่าลดลง โดยหากย้อนไป 1 ปีที่แล้ว สกุลเงินบาทจะใช้จำนวนเงิน 33.84 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น (ข้อมูลย้อนหลัง : 28 ก.ย.64)
ในส่วนของ ‘ค่าเงินบาทแข็ง’ จะตรงข้ามกับ ‘ค่าเงินบาทอ่อน’ คือ สกุลเงินบาทมีมูลค่ามากขึ้น ใช้จำนวนการแลกเปลี่ยนเงินที่น้อยลง
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า ได้แก่ ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น รวมถึงเครื่องจักร ชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ สูงขึ้น เนื่องจากต้องใช้เงินบาทในจำนวนที่มากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าจากต่างประเทศเข้ามา / ต้นทุนการกู้ยืมเงินต่างประเทศสูงขึ้น สำหรับธุรกิจที่มีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศหรือค้างชำระค่าสินค้าบริการอยู่จะมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นทันที เพราะต้องใช้เงินบาทในจำนวนที่มากขึ้นเพื่อชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศ
รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวหรือศึกษาต่อต่างประเทศสูงขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการสินค้าและบริการต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน
แต่กระนั้น ‘ค่าเงินบาทอ่อน’ กลับส่งผลดีกับการส่งออก เนื่องจากมีการแลกเปลี่ยนเป็นเงินตราต่างประเทศ และเมื่อแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นสกุลเงินบาท ทำให้ได้จำนวนเงินบาทที่มากขึ้น
อย่างไรก็ตามไม่ใช่แค่ค่าเงินบาทไทยเท่านั้นที่อ่อนค่า นับตั้งแต่ช่วงต้นปีค่าเงินทั่วเอเชียก็อ่อนค่าลงระหว่าง 5.0-8.5% ด้วยเช่นกัน ทั้งญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย
ท่าทีของเฟด ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์สำหรับในระยะข้างหน้าว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยไปจนถึงสิ้นปีนี้ โดยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน และ ธันวาคม 2565 ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับตัวเลขเงินเฟ้อและเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยหากเงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนแรงลง ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง ความจำเป็นที่เฟดต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึงร้อยละ 0.75 อาจมีลดลง
ส่งผลให้เฟดอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลงที่ครั้งละร้อยละ 0.25-0.50 ในการประชุมที่เหลือในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
อย่างไรก็ดี หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานที่เฟดกังวลยังคงไม่แผ่วลง คาดว่าเฟดคงจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่องไปในการประชุมที่เหลือของปีนี้
ทั้งนี้ในการประชุมรอบนี้จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Dot Plot) ซึ่งคงเป็นอีกจุดสนใจในการประชุมครั้งนี้เนื่องจากจะสะท้อนมุมมองของเฟดต่อการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า
สำหรับผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน ค่าเงินดอลลาร์ฯ คาดว่าจะยังคงอยู่ในทิศทางแข็งค่าอย่าง 3 ต่อเนื่อง ซึ่งจะกดดันค่าเงินในภูมิภาครวมถึงค่าเงินบาทของไทยให้มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อไปอย่างน้อยในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้หากทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงไม่ลดลงอย่างชัดเจนและเฟดยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่องไปในการประชุมในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ค่าเงินในภูมิภาคคงเผชิญแรงกดดันให้อ่อนค่าอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้เช่นกัน
แม้ ‘ค่าเงินบาทอ่อน’ แต่ไม่เข้าขั้นวิกฤต ‘ต้มยำกุ้ง’
ความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินเอเชียในภาพรวมในปีนี้มีสาเหตุสำคัญมาจากความไม่แน่นอนของจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ปรับเปลี่ยนเร็วใน
ระหว่างรอบการประชุม มากกว่าปัจจัยทางด้านปัญหาเศรษฐกิจ โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในเวลานี้กำลังอยู่ในช่วงของการเริ่มทยอยฟื้นตัวขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์เงินบาทในปัจจุบันจึงมีความแตกต่างไปจากสถานการณ์ในช่วง ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ปี 2540 ที่ผ่านมา
ซึ่งในช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาเรื้อรังจากความไม่สมดุลหลายด้านพร้อมกัน และต้องใช้เวลานานกว่าที่จะคลี่คลายลง นอกจากนี้เข้าใจว่า ธปท. ยังคงติดตามสถานการณ์ของเงินบาทอย่างใกล้ชิดและใช้เครื่องมือที่เหมาะสมอย่างระมัดระวัง เพื่อดูแลเสถียรภาพของค่าเงิน
มติ กนง. ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี
ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 28 กันยายน 2565 คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
โดยนายปิติ ดิษยทัต เลขาฯ กนง. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาแม้แรงกดดันด้านอุปทานจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มคลี่คลาย ในภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า คณะกรรมการฯ เห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้
ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับอ่อนค่าเร็วและต่อเนื่องตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว และในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการฯ พร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป