ปธ.กมธ.เศรษฐกิจ วุฒิสภา เตือนรัฐบาลเร่งสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง หวั่นถูกลดเครดิตเรตติ้งจาก BBB+ ฉุดการเจริญเติบโต พบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหยุดชะงัก จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า แนะทบทวนโครงการประชานิยม พร้อมมาตรการอื่นไว้แผนงบฯ ปี 69
วันที่ 23 ธันวาคม นายกัมพล สุภาแพ่ง ประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา เปิดเผยว่า หลังปรับปรุงรายงานฐานะทางการคลังปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 พบว่าการขาดดุลเงินสดต่อจีดีพีและหนี้สาธารณะยังสูงมากต่อเนื่อง และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะการขาดทุนทางการคลังร้อยละ 4.31 ของจีดีพี ซึ่งอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตโควิด-19 ระหว่างปี 2563-2565 จึงถือว่ามีความเสี่ยงสูง
นายกัมพลระบุว่า ส่วนภาระหนี้สาธารณะ แม้รัฐบาลจะไม่ได้กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลเงินสดทั้งหมด ใช้เงินคงคลังไป 116,000 ล้านบาท แต่ภาระหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2568 ยังเพิ่มเป็นร้อยละ 64.44 ขณะที่ปัจจัยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกลับอยู่ในระดับต่ำ เพียงร้อยละ 2-3 เท่านั้น ซึ่งเป็นติดต่อกันมาหลายปีนับตั้งแต่วิกฤตโควิด-19
“ขณะเดียวกันพบว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการพัฒนาประเทศก็หยุดชะงัก การจัดเก็บรายได้บางตัว ก็ต่ำกว่าแผน เช่น ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน จากมาตรการลดภาษีน้ำมันเบนซินและดีเซล รวมไปถึงมาตรการลดภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า” ประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจฯ กล่าว
ประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจฯกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าวินัยการคลังของไทยไม่เข้มแข็ง เช่น เมื่อจัดเก็บรายได้ไม่ได้ตามแผนงบประมาณ 2567 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจบางแห่ง เช่น ปตท.นำส่งรายได้เร็วขึ้น จากเดิมนำส่งเดือนตุลาคม เป็นเดือนกันยายน และยังพบปัญหาประสิทธิภาพการเบิกจ่ายเงินของหน่วยงานรัฐและการใช้งบประมาณในโครงการต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติ้ง
นายกัมพลยังได้เสนอให้รัฐบาลเตรียมแผนระยะกลางและระยาว เพราะเป็นช่วงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 จำนวน 5 ด้าน คือ
1. วางกรอบการนำส่งรายได้จากหน่วยงานรัฐ ควบคุมการเบิกจ่ายเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีเท่าที่จำเป็นและบริหารการนำส่งและเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณของทุนหมุนเวียนและกองทุนต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดของรัฐบาล
2. ให้ความสำคัญกับการปัญหาเชิงโครงสร้างแม้ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมากและใช้ระยะเวลา ไม่ละเลยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรัง เช่น หนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ธุรกิจรายย่อย
ประธานคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจฯ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ 3 ที่แนะรัฐบาลก็คือการจัดทำงบประมาณปี 2569 ต้องคำนึงถึงโครงสร้างภาษีที่สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จัดสรรงบการลงทุนให้มีสัดส่วนเพียงพอในการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน
ส่วนประเด็นที่ 4 คือให้รัฐบาลทบทวนนโยบายในลักษณะประชานิยม หรือโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ หรือเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ เพื่อลดหนี้สาธารณะ
และประเด็นที่ 5 คือรัฐบาลต้องปฏิบัติตามกรอบการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด