คัดลอก URL แล้ว
มติเอกฉันท์! บอร์ดไตรภาคี “ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ” 7-35 บ. ทั่วประเทศ

มติเอกฉันท์! บอร์ดไตรภาคี “ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ” 7-35 บ. ทั่วประเทศ

คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 11/2567 ในวันที่ 23 ธันวาคม 2567 เห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2568 โดยให้ปรับอัตรา ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 7 – 55 บาท (เฉลี่ยร้อยละ 2.9) แบ่งเป็น 17 อัตรา ซึ่งพิจารณาจากค่าครองชีพและโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยมีอัตราสูงสุด คือ วันละ 400 บาท และอัตราต่ำสุด คือ วันละ 337 บาท ดังนี้

  1. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท ใน 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  2. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 380 บาท ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
  3. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราวันละ 372 บาท ในเขตท้องที่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5)
  4. กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 67 จังหวัดที่เหลือให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0

โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ เป็นการปรับเพื่อให้แรงงานทั่วไป แรกเข้าทำงาน สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก่มาตรฐานการครองชีพ สภาพ เศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น ซึ่งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้จะทำให้ลูกจ้างได้รับประโยชน์ จำนวน 3,760,697 คน

สำหรับ ปี 2568 คณะกรรมการค่าจ้างฯ ได้กระจายอำนาจการพิจารณา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปยังภูมิภาค โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด รวม 77 คณะ เพื่อนำข้อเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดมาพิจารณาประกอบ ข้อเท็จจริงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 มาตรา 87 แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 ด้านความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง

กลุ่มที่ 2 ด้านความสามารถ ในการจ่ายของนายจ้าง

กลุ่มที่ 3 ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม โดยพิจารณาจากค่าครองชีพ ที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อให้ลูกจ้างมีค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และพิจารณา อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะได้นำเรื่องนี้ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง