คัดลอก URL แล้ว
คาดปีใหม่ 68 คึกคัก! ทำไทยเงินสะพัด 1.09 แสนล้าน

คาดปีใหม่ 68 คึกคัก! ทำไทยเงินสะพัด 1.09 แสนล้าน

วันที่ 24 ธันวาคม 2567 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 คาดการณ์การใช้จ่ายของประชาชน ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 25687 ถึง 5 มกราคม 2568 เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากไตรมาส 4/2567 ถึงไตรมาส 2/2568 จากสถานการณ์การท่องเที่ยว และโครงการโอนเงินไร่ละ 1,000 บาท รวมถึงโครงการแจกเงิน 10,000 บาทเฟส1 ที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีเงินสะพัด 109,313.78 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 3.2% (เพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว) จากเดิมปี 2567 การใช้จ่ายอยู่ที่ 105,924.21 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 2.8%

ขณะที่ผลสำรวจสิ่งที่ต้องการได้เป็นของขวัญปีใหม่ จากรัฐบาลมากที่สุด 5 อันดับแรก

  1. ดูแลค่าครองชีพให้เหมาะสม 31.2%
  2. สร้างงานสร้างรายได้ 29.6%
  3. กระตุ้นเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมการลงทุน/การท่องเที่ยว/พัฒนาการเกษตร 16.5%
  4. เพิ่มสวัสดิการสังคมและเพิ่มคุณภาพชีวิต 9.7%
  5. แก้ไขปัญหาการคอรัปชัน 5.8%

ขณะที่ผลสำรวจเรื่องการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10-15% พบว่า

  1. ไม่เห็นด้วย 38.4%
  2. ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง 36.8%
  3. เฉยๆ 19.4%
  4. เห็นด้วย 5.1%
  5. เห็นด้วยอย่างยิ่ง 0.4%

เมื่อถามว่า หากปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะส่งผลดีต่อประเทศในด้านใดมากที่สุด

  1. ไม่เห็นประโยชน์ใด 36.9%
  2. ปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้มีประสิทธิภาพ 20.4%
  3. เพิ่มรายได้ภาครัฐเพื่อการพัฒนาประเทศ 19.8%
  4. เพิ่มงบประมาณด้านสวัสดิการสังคม 15.7%
  5. ลดการขาดดุลงบประมาณ 7.2%

“หอการค้าไทย” ชี้ ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ นายจ้างยอมรับได้

ส่วนเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ที่จะมีผล 1 มกราคม 2568 นั้น นายธนวรรธน์ ระบุว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม จะส่งผลให้แรงงานไทยได้ประโยชน์ราว 3.7 ล้านคน แต่เมื่อรวมทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวได้ประโยชน์ราว 9 ล้านคน หรือ เฉลี่ย 10 บาทต่อวัน ดังนั้น จึงคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับต้นของผู้ผลิตไม่มากนัก อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ จากเดิมที่คาดการณ์ว่าหากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศจะทำให้ราคาสินค้า 10-20% ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ปี 2568 เพิ่มขึ้น 1.2-15%

ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2568 จะส่งผลให้การลงทุนของต่างชาติอาจจะชะลง และเทคโนโลยี AI เข้ามาแทนที่แรงงานคนเร็วขึ้น

ส่วนมาตรการ Easy e-Receipt คาดว่าจะส่งผลต่อผู้เสียภาษี 1,000,000 คน จากฐานภาษี 4,000,000 คน คาดว่าจะมีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ 45 วันของโครงการ 30,000 – 50,000 ล้านบาท และคาดว่าจะส่งผลต่อ GDP ปี 2568 0.2-0.3%

เมื่อประเมินผลทั้ง 2 มาตรการ ทั้งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และ Easy e-Receiptจะทำให้ GDP ปี 2568 เพิ่มขึ้น 0.4-0.5%


ข่าวที่เกี่ยวข้อง