คัดลอก URL แล้ว
ฤดูหนาวไม่ดีต่อใจ สถิติอาการหัวใจวาย พบบ่อยในช่วงฤดูหนาว

ฤดูหนาวไม่ดีต่อใจ สถิติอาการหัวใจวาย พบบ่อยในช่วงฤดูหนาว

หลายๆ คนอาจจะชอบฤดูหนาว แต่ในด้านสุขภาพหากมีอากาศหนาวๆ มากๆ โดยมีอุณหภูมิลดลงกะทันหัน อาจส่งผลเสีย ต่อหัวใจและการไหลเวียนโลหิต เสี่ยงเกิดภาวะต่างๆ เช่น หัวใจวาย หัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง และความดันโลหิตสูง

บทความของอายุรแพทย์โรคหัวใจโรงพยาบาล Wockhardt South Bombay ในอินเดีย อธิบายว่า

อากาศที่หนาวเย็นอย่างกะทันหัน จะกดดันหัวใจมากขึ้น ส่งผลให้หลอดเลือดแคบ จำกัดการไหลเวียนของเลือดทั่วร่างกาย ปริมาณออกซิเจนในหัวใจอาจลดลงไปด้วย ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดออกซิเจนและเลือด
และอากาศหนาวๆ ร่างกายขับเหงื่อได้น้อยลง ส่งผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยด้วยว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังด้วย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หอบหืด ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะมีภูมิต้านทานต่ำ และพบว่า มีแนวโน้มการเสียชีวิตจากภัยหนาวสูงกว่ากลุ่มวัยผู้ใหญ่ที่ไม่มีโรคประจำตัว

โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน เมื่ออากาศเย็นลงจะมีปัญหาระบบการไหลเวียนเลือด ระดับน้ำตาลสะสมในเลือดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงเร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ ยังพบว่า อุณหภูมิที่ลดลงมีผลให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เพราะเลือดมีความหนืดขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยอุณหภูมิที่ลดลง 1 องศาเซลเซียส จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจวายเฉียบพลัน (heart attack) ได้ถึงร้อยละ 2 ดังนั้น ในช่วงหนาวนี้ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และเบาหวาน จึงควรดูแลร่างกายให้อบอุ่นเป็นพิเศษอยู่เสมอ

ดังนั้นอากาศหนาวๆ สำหรับผู้มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ควรตระหนักในการดูแลตัวเองเป็นพิเศษ ดังนี้

1.ดูแลร่างกายให้อบอุ่นเสมอ

สวมหมวก เสื้อคลุมกันหนาว ใส่ถุงมือถุงเท้า และรองเท้าที่ใส่สบาย สวมใส่ชุดนอนที่อบอุ่นและห่มผ้าหนาๆ จัดห้องนอนไม่ให้ลมผ่านมากๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนตอนกลางคืน ควรทาผิวด้วยโลชั่นที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์วันละหลายๆ ครั้ง เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำและเกิดอาการผิวแห้งคันตามมา ภายในบ้านควรดูแลให้อากาศถ่ายเทสะดวกและปิดหน้าต่างที่เป็นทางลมเข้า

2.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

เน้นอาหารที่รสไม่จัด หลีกเลี่ยงลูกอม ขนมหวาน และอาหารไขมันสูง เลือกอาหารประเภทต้ม ธัญพืช ผัก ผลไม้สดที่หวานน้อยซึ่งมีวิตามินแร่ธาตุสูง ช่วยให้ผนังเซลล์แข็งแรงและเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุราเพื่อแก้หนาว เพราะไม่สามารถช่วยได้ และจะทำให้เกิดการขาดน้ำอย่างรุนแรง อาจเสียชีวิตได้

3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ควรออกกำลังกายในร่ม เช่น เล่นโยคะ เต้นแอโรบิกขณะดูทีวี หรือออกกำลังกายกลางแจ้งในช่วงที่ไม่มีแดดจัดและไม่มีลมพัดแรง สำหรับผู้สูงอายุควรออกกำลังกายโดยการเดินเร็ว หรือยืดเหยียดร่างกาย

4.หมั่นตรวจเช็คค่าความดันโลหิต

คอยสังเกตอาการผิดปกติ ระดับน้ำตาลในเลือด และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม

5.รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

ไม่ละเลย ทานยา ดูแลตัวเอง ตามคำสั่งของแพทย์

6.ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่มีคนแออัด

สถานที่ๆ แออัด จะมีการระบายอากาศไม่ดี อาจติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ง่ายและหายยากกว่าคนปกติ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง