ข้อมูลจาก อธิบดีกรมสุขภาพจิตตลอดในปี 2560 มีผู้ป่วยจิตเวชเข้าถึงบริการรักษาแล้ว 2 ล้าน 6 แสนกว่าคน หัวใจสำคัญที่สุดที่จะไม่ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชอาการกำเริบ คือต้องกินยาต่อเนื่อง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว ความผิดปกติที่เคยมีเช่น หูแว่ว ประสาทหลอนจะไม่มีแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ได้แปลว่าหายขาด รู้เท่าทัน โรคจิตเวช อาการเป็นอย่างไร วิธีรักษา แนวทางการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยจิตเวช
โรคจิตเวช คืออะไร?
โรคที่มีปัญหาเกี่ยวกับจิตใจ เกิดจากความผิดปกติของสมองที่ควบคุมเรื่องความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพล่าร์ โรคจิตเภท โรควิตกกังวล โรคแพนิค โดยศาสตร์ความรู้เกี่ยวกับโรค และการรักษาเรียกว่าจิตเวชศาสตร์ และแพทย์ที่ศึกษาเฉพาะทางด้านนี้เรียกว่า จิตแพทย์
โรคจิตเภท เป็นส่วนหนึ่งในโรคทางจิตเวช
โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นส่วนหนึ่งในโรคของจิตเวช โดยกลุ่มอาการของโรคนี้ ภาวะสมองมีความผิดปกติ ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง เช่น หลงเชื่อผิดๆ ว่าจะมีคนมาทำร้าย หูแว่น เห็นภาพหลอน ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมหรือคำพูดที่ดูแปลกกว่าคนทั่วไป มักจะเกิดในวัยรุ่นเมื่ออายุประมาณ 14-16 ปี ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
สาเหตุโรคจิตเวช
สามารถแบ่งสาเหตุออกได้สองปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ดังนี้
1.ปัจจัยภายใน เกิดจากสารสื่อประสาทรวน อาจมาจากร่างกายของผู้ป่วยพันธุกรรม หรือสารเคมีที่ได้รับ เช่น สารเสพติด หรือยารักษาโรคอื่นๆ ของผู้ป่วย
2.ปัจจัยภายนอก อาจมาจากโรคเครียด การเลี้ยงดู ครอบครัว การทำงาน หรือปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเครียดมาก ซึ่งอาจเข้าไปกระตุ้นให้เกิดอาการได้
อาการโรคจิตเวช มีแบบบวกและแบบลบ
สำหรับอาการของโรคนี้มีอาการแบบบวก คือ แสดงกิริยามากกว่าคนทั่วไป และอาการแบบลบ คือ แสดงกิริยาน้อยกว่าคนทั่วไป
อาการแบบบวก
- หลงผิด เชื่อว่าเกิดขึ้นจริง ทั้งที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
- รับรู้ผิดปกติ เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน การได้กลิ่น หรือสัมผัส
- พูดผิดปกติ ตอบไม่ตรงคำถาม พูดไม่ปะติดปะต่อ มีภาษาแปลกๆ ฟังแล้วไม่เข้าใจ
- พฤติกรรมแปลกไป เช่น ลุกขึ้นรำ เดินไปเดินมาไม่มีเหตุผล หัวเราะคนเดียว
อาการแบบลบ
- ไม่ค่อยมีอารมณ์กับสิ่งรอบตัว
- หน้านิ่ง เฉยเมย พูดน้อย
- เก็บตัว ซึม ไม่อยากพบใคร
- ไม่อยากทำอะไร ไม่มีแรงบันดาลใจ
ระยะของโรคจิตเภท แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะเริ่ม หรือระยะก่อโรค
- ผู้ป่วยเริ่มมีอาการด้านลบ แยกตัว ไม่ค่อยอยากทำอะไร อาการจะเริ่มก่อตัวใช้เวลา 6 เดือนขึ้นไป
ระยะกำเริบ
- เริ่มเห็นอาการด้านบวกมากขึ้น เช่น หูแว่ว หลงผิด ระแวง พูดจาแปลกๆ ควรรีบพบแพทย์
ระยะหลงเหลือ
- ระยะที่ผ่านการรักษามาแล้ว แต่ยังมีอาการหลงเหลืออยู่ เช่น จากระแวงมั่นใจว่ามีคนมาทำร้าย เหลือเป็นสงสัยว่าอาจมีคนจะทำร้าย ผู้ป่วยหลายคนเมื่อรักษาแล้วหายสนิทจะไม่มีอาการช่วงนี้
โรคจิตเภท มีการดูแลรักษาอย่างไร
- การรักษาด้วยยา เพื่อควบคุมอาการและลดการกำเริบซ้ำของโรค
- การฟื้นฟูสภาพจิตใจ โดยฝึกการเข้าสังคมและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย
- การทำจิตบำบัด โดยผู้เชี่ยวชาญพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเองและปัญหาของตนเองมากขึ้น
- ครอบครัวบำบัด โดยแพทย์เป็นผู้ให้ความรู้ในเรื่องโรคและสิ่งที่ญาติควรปฏิบัติต่อผู้ป่วย
- กลุ่มบำบัด เป็นการจัดกิจกรรมกลุ่มระหว่างผุ้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีเพื่อนคอยสนับสนุนให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
แนวทางการดูแล ผู้ป่วยโรคจิตเภท
- ครอบครัว และคนรอบข้างทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผู้ป่วยเป็น ว่าผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจสร้างความรำคาญเดือดร้อน หากผู้ป่วยเกิดความผิดปกติไม่ควรถือโทษ ไม่ควรโต้เถียงกับ
- ควรแสดงความเห็นใจในความทุกข์ที่ผู้ป่วยได้รับจากอาการทางจิต ให้ความช่วยเหลือ ไม่กดดันให้ผู้ป่วยรู้สึกเครียด
- กระตุ้นผู้ป่วยแต่ไม่บังคับ เช่น กระตุ้นให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเอง ช่วยทำงานบ้านง่ายๆ
- หลีกเลี่ยงการตำหนิผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น
- ดูแลผู้ป่วยเรื่องการกินยาให้ครบ
ทั้งนี้ หากคนในครอบครัวหรือคนรอบข้างของคุณมีอาการเกี่ยวข้องกับโรคจิตเวช ที่มีลักษณะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต เช่น ไม่สามารถไปทำงานได้ มีปัญหาด้านสัมพันธภาพกับผู้อื่น พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม ลองให้คำปรึกษาก่อน หากพบว่าไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบแพทย์โดยด่วน
ขอบคุณที่มาจาก : รพ.เปาโล, รพ.มนารมย์