ฝุ่น PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เป็นภัยต่อสุขภาพหากสูดเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ เข้าสู่กระแสเลือดแล้ว สามารถส่งผลเสียต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย มีอันตรายต่อร่างกายเทียบเท่ากับคนที่สูบบุหรี่ ดังนั้นแล้วการหลีกเลี่ยงฝุ่น PM 2.5 คือสิ่งที่ทุกคนต้องตระหนักและระมัดระวัง ขอแนะนำวิธีป้องกันตนเองในช่วงภาวะ ฝุ่น PM 2.5
ผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 ต่อสุขภาพ
- องค์การอนามัยโลกระบุว่า หากในอากาศมีฝุ่น PM 2.5 เกิน 10 – 25 ไมโครกรัมใน 1 ลูกบาศก์เมตรแล้วร่างกายได้รับเข้าไปติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดการอักเสบ ในระยะยาวผลกระทบจะเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ กระตุ้นการอักเสบทั่วร่างกาย หลอดเลือดหนาตัวมากขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อผนังหลอดเลือดเติบโตขึ้น มีอันตรายต่อร่างกายเทียบเท่ากับคนที่สูบบุหรี่ ในอนาคตคาดว่าจะเพิ่มเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ
- มลพิษทางอากาศมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคระบบทางเดินหายใจ เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดเกิดความเสียหายและเกิดความเครียดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย และหัวใจล้มเหลวในอัตราที่สูงขึ้น
- ข้อมูลจากสมาคมโรคหลอดเลือดหัวใจแห่งยุโรป (European Society of Cardiology – ESC) ระบุว่า มลพิษทางอากาศ (Air Pollution) ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตในยุโรปเพิ่มขึ้น มีอัตราผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 800,000 คนต่อปี ด้วยวิธีการใหม่ของแบบจำลองผลกระทบที่หลากหลายของแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศภายนอกที่ส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิต พบว่า 40 – 80% ของผู้เสียชีวิตเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ(CVD) เช่น หัวใจวายและหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่า มลพิษทางอากาศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นประมาณ 8.8 ล้านรายทั่วโลกมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.5 ล้านคน
- ทั้งนี้ในแต่ละปีมลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากกว่าการสูบบุหรี่ ซึ่งบุหรี่สามารถเลิกสูบได้ แต่มลพิษทางอากาศไม่สามารถเลี่ยงได้
วิธีป้องกันตนเองจาก ฝุ่น PM 2.5
1.หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในวันที่มีฝุ่น PM 2.5 เช่น คนที่ชอบออกกำลังกายกลางแจ้ง ให้งดชั่วคราวและเปลี่ยนมาออกกำลังกายภายในยิม หรือภายในอาคารแทนไปก่อน
2.สวมหน้ากากหรือใช้ผ้าปิดจมูก แนะนำหน้ากากที่ได้มาตราฐานกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้
3.ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศภายในที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยกรองฝุ่น
4.ไม่เปิดประตูหรือหน้าต่างในช่วงภาวะ PM 2.5 สูง เพื่อป้องกันฝุ่นเข้ามา
5.งดการเผาไหม้ที่ “ไม่” สมบูรณ์ เช่น งดจุดเทียนในตัวอาคาร และนอกตัวอาคาร งดการเผาในที่โล่ง งดใช้รถดีเซลที่ปล่อยควันดำ
6.กลุ่มเสี่ยงคือกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ กลุ่มผู้สูงอายุและเด็ก
7.ติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำ
8.หากเกิดความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
ข้อมูลจาก : รพ.จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ