ช่วงหน้าฝนนอกจาก ไข้เลือดออก ระบาดแล้ว อีกหนึ่งโรคที่ต้องระวังคือ โรคไข้มาลาเรีย (Malaria) โดยในประเทศไทยมีเชื้อมาลาเรียในคนทั้งหมด 5 ชนิด รู้เท่าทันโรคมาลาเรีย อาการไข้มาลาเรีย และวิธีป้องกันไว้ก่อน เพื่อสุขภาพของตัวคุณเองและคนในครอบครัว
สาเหตุ โรคไข้มาลาเรีย
โรคไข้มาลาเรียเป็นโรคติดต่อที่มียุงก้นปล่องบางชนิดเป็นพาหะ เกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่อาศัยในเลือด มีวงจรของเชื้อระยะต่างๆ สลับกัน คือระยะมีเพศและไม่มีเพศ และมีวงจรชีวิตอยู่ทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลังและสัตว์จำพวกยุง โดยในประเทศไทยมีเชื้อมาลาเรียในคนทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่
- Plasmodium falciparum (Pf)
- Plasmodium vivax (Pv)
- Plasmodium malariae (Pm)
- Plasmodium ovale (Po)
- Plasmodium knowlesi (Pk)
ลักษณะของ ยุงก้นปล่อง ชอบกัดคนเวลาไหนบ้าง?
เป็นแมลงชนิดหนึ่ง มีปากคล้ายงวงยื่นยาวออกไปข้างหน้า มักยกส่วนท้องขึ้นสูงเป็นปล่องอย่างเห็นได้ชัดในขณะดูดเลือด
ยุงก้นปล่องอาศัยได้หลายที่ เช่น บ้านเรือน ป่า ภูเขา จึงพบมากในชนบทที่อยู่แถวชายป่า ชอบวางไข่ในแหล่งน้ำใสไหลริน แอ่งน้ำสะอาด ธารน้ำไหล หรือน้ำตก ยุงชนิดนี้ชอบกัดคนในเวลาพลบค่ำ ตอนดึก และเช้าตรู่
ไข้มาลาเรีย ติดต่อทางไหน?
สาเหตุหลักของ ไข้มาลาเรีย คือถูก “ยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัด” และยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น จากแม่ที่ป่วยเป็นไข้มาลาเรียสู่ลูกในครรภ์ การถ่ายโลหิต เป็นต้น เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียกัดผู้ป่วยที่มีเชื้อไข้มาลาเรีย เชื้อจะอยู่ในตัวยุงประมาณ 10 – 12 วัน เมื่อยุงนั้นไปกัดคนอื่นต่อก็จะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายเข้าสู่คน จึงทำให้คนที่ถูกยุงกัดเป็นไข้มาลาเรียต่อๆ ไป
อาการ ไข้มาลาเรีย
อาการเริ่มแรกเกิดขึ้นหลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัดประมาณ 10 -14 วัน จะเกิดการจับไข้ไม่เป็นเวลา ไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ อาจมีอาการคลื่นไส้และเบื่ออาหาร หลังจากนั้นจะจับไข้เป็นเวลา มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ เหงื่อออก ผู้ป่วยจะอ่อนเพลียและเหนื่อย ถ้ามีอาการแนะนำให้ไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
การป้องกัน
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนและไม่มียากินเพื่อป้องกัน ดังนั้นหากต้องเข้าป่าหรือไปในพื้นที่เสี่ยงควรป้องกันตนเองดังนี้
- สวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมแขนขาให้มิดชิด
- ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุง
- นอนในมุ้งชุบน้ำยาทุกคืน
- ใช้มุ้งชุบน้ำยาคลุมเปลเวลาต้องไปค้างคืนในไร่นาป่าเขา
ที่มา: กระทรวงสาธารณสุข