คัดลอก URL แล้ว
9 งูพิษในไทย ที่ต้องระวัง เจองูเข้าบ้าน แจ้งจับได้ที่ไหน?

9 งูพิษในไทย ที่ต้องระวัง เจองูเข้าบ้าน แจ้งจับได้ที่ไหน?

ช่วงนี้ประเทศไทศอยู่ในช่วงฤดูฝน สัตว์มีพิษที่ต้องระวังหนึ่งในนั้นคือ งูพิษ ซึ่งอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้หากโดนกัด โดย งูพิษในไทย ที่พบได้บ่อยๆ ดังต่อไปนี้ สังเกตจดจำกันไว้ให้ดีเพื่อจะได้ไม่เป็นอันตรายกับตัวเองและคนในครอบครัว พร้อมบอกเบอร์แจ้งจับงูเมื่อพบงูเข้าบ้าน วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด ให้ด้วย

1.งูจงอาง

ภาพจาก : สถานเสาวภา สภากาชาดไทย

ขนาน : 200 – 540 เซนติเมตร ความยาวเฉลี่ย 400 เซนติเมตร ยาวที่สุดที่เคยบันทึกไว้ 585 เซนติเมตร
แหล่งที่พบ : พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย

ลักษณะ : ตัวโตเต็มวัยมีความผันแปรของขนาดและสีสันลำตัวที่เด่นชัด ซึ่งเกี่ยวข้องกับขอบเขตทางภูมิศาสตร์

เมื่อถูกรบกวนงูจงอางจะแผ่แม่เบี้ยได้เช่นเดียวกับงูเห่า โดยยกตัวตั้งได้สูงถึง 1 ใน 3 ของความยาวลำตัว แต่แม่เบี้ยของงูจงอางจะแคบกว่าของงูเห่า ลักษณะเด่นอีกอย่างคือ งูจงอางมีเกล็ดท้ายทอยขนาดใหญ่ 1 คู่ (occipital scales) บนศีรษะค่อนไปทางด้านหลังของเกล็ดกระหม่อม ลูกงูเกิดใหม่มีสีลำตัวที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือมีลายขวางเป็นวงรอบตัวสีเหลืองอ่อนตั้งแต่ปลายจมูกไปจนตลอดความยาวของลำตัวที่มีพื้นเป็นสีดำ ลวดลายขวางสีเหลืองนี้จะหายไปเมื่องูมีอายูมากกว่า 6 เดือนหรือมีความยาว 1 เมตรขึ้นไป

2.งูเห่า

ภาพจาก : สถานเสาวภา สภากาชาดไทย

ขนาด : 100 – 180 เซนติเมตร ขนาดยาวที่สุดที่วัดได้ของสถานเสาวภาคือ 225 เซนติเมตร

แหล่งที่พบ : พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย บริเวณที่ลุ่มค่อนข้างชื้น อาศัยอยู่ในจอมปลวก ทุ่งนา หรือพบบนภูเขาที่ระดับความสูง 900 เมตร ออกหากินในเวลาพลบค่ำ ตามพื้นดิน

ลักษณะ : งูที่แผ่แม่เบี้ยได้โดยตั้งส่วนหัวและคอขึ้น แล้วแผ่กางส่วนคอให้ขยายกว้างออกไป มีลายตรงกลางแม่เบี้ยบนด้านหลังของส่วนคอเรียกว่า “ลายดอกจัน” ลักษณะส่วนใหญ่เป็นรูปวงแหวนเดี่ยว สีลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม สีดำ หรือ สีเหลืองนวล

3.งูสามเหลี่ยม

ภาพจาก : สถานเสาวภา สภากาชาดไทย

ขนาด : 100 -180 เซนติเมตร อาจยาวได้ถึง 200 เซนติเมตร เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้

แหล่งที่พบ : ตามที่ราบลุ่ม ป่าชายเลน ทุ่งนา และอาจพบได้ที่ระดับความสูงถึง 2,300 เมตร

ลักษณะ : ลำตัวมีสีดำสลับเหลืองเป็นปล้องขนาดใกล้เคียงกันตลอดตัวทั้งส่วนบนและส่วนท้อง โดยส่วนท้องมีสีจางกว่า ลักษณะเด่นคือ แนวของกระดูกสันหลังยกตัวสูงเด่น ทำให้เห็นเป็นรูปสามเหลี่ยมชัดเจน ปลายหางทู่มน

4.งูทับสมิงคลา

ขนาด : 100 -150 เซนติเมตร

แหล่งที่พบ : อาศัยตามพื้นดินที่ลุ่มชื้นใกล้แหล่งน้ำ ในป่าที่ระดับความสูง 540-1,525 เมตร

ลักษณะ : ลำตัวค่อนข้างกลมไม่เป็นสันชัดเจนอย่างงูสามเหลี่ยม มีสีดำสลับขาวเป็นปล้องตลอดความยาวลำตัว มีเกล็ดดำแซมอยู่ในปล้องขาว ส่วนท้องมีสีขาว ส่วนบนของหัวมีสีดำปนเทา ส่วนหางเรียวยาวและปลายหางแหลม เป็นงูที่ว่องไวปราดเปรียวและพิษมีความรุนแรงกว่างูสามเหลี่ยม

5.งูแมวเซา

ภาพจาก : freepik

ขนาด : 90 – 150 เซนติเมตร

แหล่งที่พบ : ชอบอาศัยอยู่ตามที่ดอนแห้ง ทุ่งนา ขดตัวนอนตามโพรงดิน ซอกหินหรือพงหญ้ารก ไม่ขึ้นต้นไม้ อาจพบได้ที่ระดับความสูง 2,000 เมตร

ลักษณะ: ลำตัวอ้วนเทอะทะ พื้นลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนแต้มลายเป็นวงสีน้ำตาลเข้มกระจายอยู่ทั่วตัวโดยมีขอบด้านในสีดำ ส่วนขอบด้านนอกสีขาว ลายบางลายเชื่อมติดกันหรือมีขนาดแตกต่างกันไป หัวเป็นรูปสามเหลี่ยมปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็กมีสัน ลวดลายบนหัวมีสีน้ำตาลเข้มมองดูคล้ายหัวลูกศร เมื่อถูกศัตรูคุกคามจะขดตัวเป็นวง แล้วทำเสียงขู่โดยการสูบลมเข้าไปในตัวจนตัวพอง แล้วพ่นลมออกมาทางรูจมูกแรงๆ เป็นเสียงดังฟังดูน่ากลัว และสามารถฉกกัดได้อย่างรวดเร็วจากท่านี้

6.งูกะปะ

ภาพจาก : สถานเสาวภา สภากาชาดไทย

งูกะปะ : Malayan Pitviper [Calloselasma rhodostoma (Boie in Boie, 1827)]
ขนาด : 50-80 เซนติเมตร อาจยาวได้ถึง 100 เซนติเมตร เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้

แหล่งที่พบ : ชอบขดตัวนอนนิ่งๆ อยู่ตามซอกหิน ใต้ใบไม้ร่วง ในสวนยางพารา พบบริเวณที่ลุ่มในป่าชื้นจนถึงระดับความสูง 2,000 เมตร

ลักษณะ : ลำตัวสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเทา มีลายรูปสามเหลี่ยมสีน้ำตาลเข้มขอบขาวเรียงเป็นแถวอยู่สองข้าง โดยที่ปลายแหลมของสามเหลี่ยมมาจดกันที่เส้นสีน้ำตาลซึ่งพาดผ่านตามแนวของกระดูกสันหลัง ส่วนหัวสีน้ำตาลเข้มมีเส้นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีขาวนวลพาดจากปลายจมูกผ่านขอบบนของลูกตาไปที่มุมขากรรไกรบนปลายจมูกแหลมเชิดขึ้น

7.งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง

ภาพจาก : สถานเสาวภา สภากาชาดไทย

ขนาด : ความยาวโดยเฉลี่ย 70 เซนติเมตรในเพศผู้ และ 90 เซนติเมตรในเพศเมีย อาจยาวได้ถึง 100 เซนติเมตร เพศเมียมักมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้

แหล่งที่พบ : มักพบอยู่ในสวนใกล้บ้านคน หรือในพื้นที่ระดับความสูงต่ำกว่า 400 เมตร

ลักษณะ : รูปร่างค่อนข้างอ้วนใหญ่ปกคลุมด้วยเกล็ดมีสันชัดเจน ลำตัวและหัวเป็นสีเขียวอ่อนส่วนหัวเป็นรูปสามเหลี่ยมหลิมยาวปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็กๆผิวเรียบ และมีขนาดใหญ่กว่าลำคออย่างเด่นชัด ส่วนท้อง ริมฝีปาก และคางมีสีเหลือง ขาว หรือสีเขียวอ่อนกว่าสีของลำตัว ในเพศผู้มักมีเส้นข้างตัวสีขาวพาดผ่านเกล็ดลำตัวแถวนอกสุดตั้งแต่คอถึงหาง ซึ่งไม่พบในเพศเมีย หางสีน้ำตาลแดง

8.งูเขียวหางไหม้ตาโต

ภาพจาก: freepik

ขนาด : 60 – 70 เซนติเมตร
แหล่งที่พบ : พบอาศัยอยู่ตามต้นไม้ในสวนใกล้บ้านเรือน หรือใกล้แหล่งน้ำลำธาร
ลักษณะ : ลำตัวค่อนข้างเพรียว สีเขียวแก่หรือสีเขียวอมฟ้า ส่วนท้องมักมีสีเขียวอมฟ้าโดยเฉพาะริมฝีปากล่างและคาง ส่วนหัวรูปทรงสามเหลี่ยมค่อนข้างอ้วนป้อม ขนาดใหญ่กว่าลำคอชัดเจน ลักษณะเด่นคือมีดวงตากลมโตสีเหลืองขนาดใหญ่กว่างูเขียวหางไหม้ทุกชนิด

9.งูลายสาบคอแดง

ภาพจาก : สถานเสาวภา สภากาชาดไทย

ขนาด : 80 – 130 เซนติเมตร

แหล่งที่พบ : อาศัยอยู่ตามพื้นดินในเขตพื้นที่ราบลุ่มของป่าร้อนชื้นถึงพื้นที่ภูเขาที่ระดับความสูง 1,780 เมตร

ลักษณะ : ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเขียวมะกอก ส่วนหัวมีสีเขียวมะกอก มีขีดสีดำพาดจากมุมตาไปยังริมฝีปากบน ลักษณะเด่น คือ ส่วนคอมีสีเเดงอมส้ม จัดเป็นงูพิษอ่อนที่พิษอาจออกฤทธิ์รุนเเรงต่อระบบโลหิต ในบางรายที่ถูกกัดอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

เจองูเข้าบ้าน โดนงูกัด แจ้งได้ที่ไหน?

การปฐมพยาบาลผู้ถูกงูกัด

  1. ทำความสะอาดแผลที่ถูกงูกัด ด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ไอโอดีน
  2. ไม่ควรเอาใบไม้ รากไม้ หรือสมุนไพรมาใส่แผล เพราะจะทำให้แผลสกปรก เกิดการติดเชื้อ อาจเป็นบาดทะยักได้
  3. ตำแหน่งขาหรือแขนที่ถูกกัดควรให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด ใช้ไม้กระดานหรือกระดาษแข็งๆ รองหรือดามไว้
  4. ห้ามดื่มของมึนเมาหรือกินยากลางบ้าน เนื่องจากอาจเกิดการสำลักและอาเจียน หรือปิดบังอาการที่เกิดจากพิษงู
  5. อย่าตกใจเกินไป ต้องพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุด นำเอาซากงูที่กัดไปด้วย (ถ้ามี) เพื่อความถูกต้องในการรักษา

วิธป้องกันไม่ให้ถูกงูกัด

งูกลัวคนเช่นเดียวกันกับคนกลัวงู

นิสัยของงูจะกลัวคนเช่นเดียวกันกับคนก็กลัวงู ส่วนใหญ่คนถูกงูกัดจะเป็นไปโดยบังเอิญ เช่น เหยียบงู หรือเข้าใกล้งู โดยธรรมชาติงูกัดคนเป็นการป้องกันตัวเอง

แนะนำสำหรับคนเดินป่า

ก่อนเดินป่าควรระวังและป้องกัน ใส่กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว สวมรองเท้าหุ้มส้น ยิ่งเป็นรองเท้าบู๊ทยิ่งดี มือถือไม้แกว่งไปมาระหว่างเดินป่าเพื่อให้เกิดเสียงดังงูจะได้หนีไปก่อน ไม่ควรเดินป่าในเวลากลางคืน มีไฟฉายติดมือไปด้วยจะทำให้การเดินป่าปลอดภัยขึ้น

แนะนำสำหรับชาวสวน

แนะนำให้ชาวสวนยางพาราภาคใต้ หรือชาวสวนผลไม้ภาคตะวันออก ใส่รองเท้าบู๊ทเวลาทำงานจะลดอัตราเสี่ยงต่อการถูกงูกะปะกัด แต่ชาวนาซึ่งต้องทำงานในท้องนาที่เป็นน้ำและโคลน การใส่รองเท้าอาจทำงานไม่สะดวก ควรลดความเสี่ยงโดยวิธีอื่นเช่น พยายามเดินในที่ไม่รก และเวลา เสร็จงานแล้วเดินทางกลับบ้านควรใส่รองเท้า

ขอบคุณข้อมูลจาก : สถานเสาวภา สภากาชาดไทย , rama.mahidol


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง