คัดลอก URL แล้ว
6 สัญญาณเตือน มะเร็งปอด ไม่สูบบุหรี่ก็เป็นได้ ตรวจเร็ว…รักษาทัน

6 สัญญาณเตือน มะเร็งปอด ไม่สูบบุหรี่ก็เป็นได้ ตรวจเร็ว…รักษาทัน

โรคมะเร็งปอด โรคยอดฮิตที่พบได้บ่อยทั้งในผู้ชายและผู้หญิง เกิดจากพฤติกรรมต่าง ๆ ที่คอยทำร้ายสุขภาพ ทั้งแบบรู้ตัวและแบบไม่รู้ตัว อาทิ การสูบบุหรี่ หรือการได้รับมลพิษในสิ่งแวดล้อม เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิวของปอดเจริญเติบโตผิดปกติอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถควบคุมได้ และเกิดเป็นก้อนเนื้อร้ายในที่สุด โดยเนื้อร้ายนี้สามารถลุกลามและกระจายไปอวัยวะอื่น ๆ ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัวก็มักจะอยู่ในระยะโรคที่รุนแรงแล้ว

พญ.มัณฑนา สันดุษฎี อายุรแพทย์ด้านโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ และเวชบำบัดวิกฤต ศูนย์โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า เล่าว่า “มะเร็งปอด แบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลักๆ ขึ้นกับชนิดของเซลล์ ได้แก่

มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer) เป็นมะเร็งปอดชนิดที่พบได้บ่อยกว่า สามารถแบ่งเป็นชนิดเซลล์ได้อีกหลายชนิด เช่น adenocarcinoma, squamous cell carcinoma ซึ่งชนิดของเซลล์จะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันเล็กน้อย

มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) เป็นมะเร็งปอดชนิดที่พบได้น้อยกว่า แต่เป็นชนิดที่ตอบสนองได้ดีต่อยาเคมีบำบัดและการฉายแสง ทั้งนี้ สามารถวินิจฉัยได้โดยการเอาชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา โดยมะเร็งปอดแต่ละชนิดจะมีวิธีการรักษาและพยากรณ์โรคที่แตกต่างกันออกไป

ปัจจุบันแม้จะยังไม่สามารถบอกถึงสาเหตุของมะเร็งปอดได้ชัดเจนนัก แต่มีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด ได้แก่

1.การสูบบุหรี่ ทั้งผู้ที่สูบบุหรี่เอง และผู้ใกล้ชิดที่ได้รับควันบุหรี่ หรือที่เรียกว่า “ควันบุหรี่มือสอง” การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหลัก 80-90% เพราะในบุหรี่เต็มไปด้วยสารก่อมะเร็ง เมื่อสูดควันเข้าไปสารเหล่านี้จะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อในปอดโดยตรงทำให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ และเกิดเป็นมะเร็งในที่สุด โดยคนที่สูบบุหรี่ 1 ซองต่อวันเป็นเวลา 20 ปี จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 8 – 20 เท่า

2.สารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่น

3.อายุ อายุที่มากขึ้น อวัยวะรวมถึงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายจะยิ่งทำงานเสื่อมสภาพลง โดยผู้ที่เสี่ยงจะเป็นมะเร็งปอดมากที่สุดจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 55 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่สูบบุหรี่

4.พันธุกรรม ถ้ามีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอด จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น

“มะเร็งปอดส่วนใหญ่มักจะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มแรก แต่จะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคเมื่อมีการเจริญเติบโตของมะเร็งมากขึ้น และอาการจะแตกต่างกันไปแล้วแต่ตำแหน่งของก้อนที่เกิดขึ้น

โดย 6 สัญญาณเตือนของอาการที่พบ ได้แก่

1.ไอเรื้อรัง (พบมากถึง 50-75%) ตลอดจนอาการไอมีเสมหะปนเลือด หรือไอมีเลือดสด (พบ 25-50%)

2.เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก (พบได้ 25%)

3.เจ็บหน้าอก (พบได้ 20%)

4.เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยหาสาเหตุไม่ได้

5.หายใจมีเสียงดังผิดปกติ

6.เสียงแหบ

การวินิจฉัยมะเร็งปอด ต้องยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งการตรวจชิ้นเนื้อจะเกิดขึ้นได้ แพทย์ต้องตรวจพบก้อนเนื้อที่ผิดปกติในปอดให้เจอก่อน ซึ่งหากตรวจตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม การรักษามะเร็งปอดในระยะแรกด้วยการผ่าตัดสามารถหายขาดได้เลย

สำหรับการรักษาจะขึ้นอยู่กับ ชนิดของมะเร็ง ระยะของมะเร็ง และความแข็งแรงของผู้ป่วย ซึ่งทางเลือกการรักษาในปัจจุบันมีความทันสมัยขึ้นมาก มีทั้งการผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด (chemotherapy) การรักษาด้วยการฉายแสง (radiotherapy) และการใช้ยาแบบจำเพาะเจาะจง (targeted therapy) โดยแพทย์จะร่วมตัดสินใจกับคนไข้และครอบครัว เพื่อเลือกการรักษาให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน”

ถึงอย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งปอดคือ การสูบบุหรี่ รวมถึงสารพิษและมลภาวะที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ฉะนั้น การป้องกันมะเร็งปอดที่ดีที่สุดคือ การงดสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า หรือหลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่มือสอง และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การตรวจคัดกรองสุขภาพปอดอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี และ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบ low-dose CT lung scan ในคนที่มีความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด จะช่วยให้สามารถตรวจพบและรักษามะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิตและทำไห้ผู้ป่วยมีโอกาสหายจากโรคมะเร็งปอดได้

“มะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ดังนั้น การตรวจคัดกรองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง