อัปเดตล่าสุด! เกี่ยวกับ ฝีดาษลิง ในประเทศไทย นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ได้รับรายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) จากสถาบันบำราศนราดูร จึงส่งทีมปฏิบัติการลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบ พบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย อายุ 34 ปี มีประวัติเป็นไข้ ปวดศีรษะ คัน มีผื่น และตุ่มขึ้นบริเวณผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.66 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ใน จ.ชลบุรี และเสียชีวิตในคืนวันที่ 11 ส.ค.66
สรุปข้อมูล โรคฝีดาษลิง คืออะไร ติดกันได้อย่างไร อันตรายแค่ไหน มีวัคซีนรักษาหรือยัง เป็นแล้วจะรักษาได้อย่างไร มาให้ได้อ่านเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันและจะได้ไม่ตื่นตระหนก
ที่มาของ โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)
โรคฝีดาษลิง (หรือโรคฝีดาษวานร) คล้ายกับไข้ทรพิษแต่รุนแรงน้อยกว่า ถูกค้นพบครั้งแรกในโลกเมื่อปี พ.ศ. 2501 จากลิงที่ป่วย จึงถูกเรียกว่า โรคฝีดาษลิง พบการติดเชื้อในคนเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2513 ที่ประเทศคองโก โดยมักพบการติดเชื้อในประเทศแถบอัฟริกากลางและอัฟริกาตะวันตก ปัจจุบันมีรายงานการเกิดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์อัฟริกากลาง และสายพันธุ์อัฟริกาตะวันตก ซึ่งสายพันธุ์อัฟริกากลางเป็นสายพันธุ์ที่มีการรายงานการติดต่อจากคนสู่คน
ภาพจาก : Dr Graham Beards
1. โรคฝีดาษลิง เกิดจากอะไร?
โรคฝีดาษลิง เกิดจาก ไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกันกับ เชื้อไวรัสโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า ส่วนใหญ่จะพบเชื้อนี้ในพื้นที่ห่างไกล ประเทศทางตอนกลางและตะวันตกของทวีปแอฟริกา ใกล้บริเวณป่าดิบชื้น พบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะหลายชนิด เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น สัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยงรวมถึงคนก็อาจติดเชื้อได้
ภาพจาก : REUTERS
2.การติดเชื้อ – สัตว์สู่คน และ จากคนสู่คน
ข้อมูลจาก bbc เผยว่า ผู้เชี่ยวชาญระบุ โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ โดยไวรัสชนิดนี้จะแพร่เชื้อโดยเข้าสู่ร่างกายผ่านทางรอยแตกบนผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หรือ ผ่านทางตา จมูก หรือปาก
ทั้งนี้ คนสามารถติดโรคฝีดาษลิงนี้ได้จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ จากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด การกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก สัมผัสกับวัตถุที่ปนเปื้อนไวรัสชนิดนี้ อย่างผ้าปูที่นอนและเสื้อผ้า เป็นต้น โอกาสจากการแพร่เชื้อจากคนสู่คนมีโอกาสเกิดขึ้นจากการสัมผัสใกล้ชิดแต่ก็น้อยมากที่จะแพร่จากคนสู่คนได้
สรุปการติดเชื้อจาก สัตว์สู่คน และ จากคนสู่คน
สัตว์สู่คน : ติดต่อได้จากสัตว์กัดแทะทุกชนิด จากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง น้ำหนอง ตุ่มหนองของสัตว์ ผื่นสัตว์ การถูกสัตว์ติดเชื้อกัดหรือข่วน การรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์ติดเชื้อและปรุงไม่สุก
คนสู่คน : สัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งอย่างไอ จาม ผื่น ตุ่มหนอง น้ำหนอง, สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อของผู้ป่วย ซึ่งมักมาจากการใช้ของร่วมกันกับผู้ป่วย, การกอดจูบ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ และ ติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์
โดยผู้ป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ตั้งแต่มีไข้ และหมดระยะในการแพร่กระจายให้ผู้อื่หลังตุ่มหนองแตกและแผลแห้งดีแล้ว
3.อาการ โรคฝีดาษลิง
- หากได้รับเชื้อ ร่างกายจะแสดงอาการหลังติดประมาณ 12 วัน โดยมีอาการดังนี้เบื้องต้น
- มีไข้ มีอาการหนาวสั่น
- ปวดหัว ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- เจ็บคอ บวก อ่อนเพลีย อาการซึมเซา
- บางรายอาจเกิดผื่นขึ้นเมื่อไข้ลดลง โดยผื่นจะขึ้นบนหน้าก่อนและลามไปส่วนอื่นๆ ในร่างกาย เช่น ฝ่ามือและฝ่าเท้า ผื่นจะมีอาการระคายเคืองรุนแรง กลายเป็นตุ่มหนอง เป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา อาจทำให้เกิดแผลเป็น
- อาการป่วยจะเป็นประมาณ 2-4 สัปดาห์ ส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้
4.ฝีดาษลิง อันตรายแค่ไหน?
อาการของโรคฝีดาษลิงรุนแรงน้อยกว่าโรคฝีดาษคน (smallpox) แต่ก็ทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการไม่รุนแรง บางครั้งอาจพบว่าอาการคล้ายกับโรคอีสุกอีใส (chickenpox) และสามารถหายเองได้ แต่ก็มีรายงานว่ามีผู้ป่วยอาการรุนแรงได้ในบางกรณี จนบางรายเสียชีวิต แต่ผู้ที่เสียชีวิตมักจะมีโรคอื่นร่วมด้วยอยู่แล้ว เช่น คนป่วยเป็น HIV อยู่แล้ว และเป็นผู้สูงวัยอายุมาก
ภาพจาก : REUTERS
5.มีวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงหรือยัง?
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยว่า ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนที่สามารถป้องกันฝีดาษและฝีดาษลิงรุ่นที่ 3 ซึ่งลดผลข้างเคียงจากวัคซีนรุ่นเก่า ได้รับการรับรองให้ใช้ในยุโรป และอเมริกา ในปี พ.ศ. 2562 คือวัคซีน MVA-BN(modified vaccinia Ankara-Bavarian Nordic) โดยการนำไวรัสวัคซีเนียมาทำให้อ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถแบ่งตัวได้มีความปลอดภัยมากขึ้น
ใครควรฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษลิง?
- ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อ ได้แก่ ผู้ทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจหาฝีดาษลิง และบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย
- ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยฝีดาษลิงที่ได้รับการยืนยันโดยควรได้รับภายใน 4 วันหลังสัมผัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อ แต่สามารถได้รับวัคซีนได้ภายใน 2 สัปดาห์ หลังสัมผัสเชื้อเพื่อลดความรุนแรงของอาการป่วย
สถานการณ์ในไทย ฝีดาษวานร
โรคฝีดาษวานร เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ของประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2566 มีรายงานผู้ป่วยรวม 189 รายในไทย เป็นสัญชาติไทย 161 ราย ชาวต่างชาติ 28 ราย มีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้น ซึ่งระยะแรกพบผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ก่อนแพร่ไปจังหวัดอื่น โดยฝีดาษวานรรายใหม่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีเกือบครึ่งหนึ่ง จำนวน 82 ราย (ร้อยละ 43) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่แล้ว มักมีการติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นร่วมด้วยได้ง่าย ทำให้เกิดอาการรุนแรงจนเสียชีวิต ปัจจัยเสี่ยงหลักคือการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักที่เป็นผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร โดยประเทศไทยได้รับมอบยาต้านไวรัสชื่อ Tecovirimat (หรือ TPOXX) จำนวนหนึ่งจากองค์การอนามัยโลกมาใช้รักษาผู้ป่วยฝีดาษวานรที่มีอาการมากที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน และจะต้องมีการวัดประสิทธิผลของยานี้ไปพร้อมกัน
อัปเดตล่าสุด! นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ได้รับรายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร (ฝีดาษลิง) จากสถาบันบำราศนราดูร จึงส่งทีมปฏิบัติการลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบ
พบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย อายุ 34 ปี มีประวัติเป็นไข้ ปวดศีรษะ คัน มีผื่น และตุ่มขึ้นบริเวณผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.66 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ใน จ.ชลบุรี
11 ก.ค.66 แพทย์ตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิง การติดเชื้อเอชไอวี และเชื้อซิฟิลิส ต่อมาผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอและตรวจพบภาวะติดเชื้อรา ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสของเอชไอวี ส่วนบริเวณผิวหนังมีผื่นแผลจากโรคฝีดาษลิงกระจายทั่วตัว ซึ่งหลังได้รับการรักษาจนครบ 4 สัปดาห์ แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้
9 ส.ค.66 ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หายใจลำบาก ญาติจึงนำผู้ป่วยมารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจพบว่ามีผื่นจากโรคฝีดาษลิงกระจายทั่วตัว มีการตายของเนื้อเยื่อที่จมูก และคอเป็นบริเวณกว้าง มีการติดเชื้อแทรกซ้อนที่แขน ขา มีภาวะปอดอักเสบ และอาการสมองอักเสบ ผลตรวจเม็ดเลือดขาวของเขา แสดงให้เห็นว่าภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง แพทย์ได้ให้ยาต้านไวรัสฝีดาษลิง และยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ต่อมาผู้ป่วยอาการทรุดลง และเสียชีวิตในคืนวันที่ 11 ส.ค.66
6.วิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง
ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรระมัดระวัง ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ ได้แก่ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก และสัตว์ตระกูลไพรเมต เช่น ลิง ยังไม่มีรายงานพบเชื้อในสัตว์เหล่านี้ในประเทศไทย แต่หากมีการสัมผัสสัตว์ให้รีบล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด แ
- หลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดของโรคฝีดาษลิง ให้สังเกตอาการ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง
- หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ แยกของใช้ส่วนตัวทุกชนิดไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก กินอาหารปรุงสุก เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือดน้ำเหลืองของสัตว์ หรือกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงไม่สุก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย ละอองฝอย หรือน้ำเหลืองจากผู้ที่สงสัยป่วยหรือมีประวัติเสี่ยง
การแพร่เชื้อจากคนสู่คน แม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่ง จากทางเดินหายใจ หรือผิวหนังที่เป็นตุ่ม
สำหรับประเทศไทย ประชากรไทยที่เกิดก่อนปี 2523 จะได้รับการปลูกฝี ซึ่งถือว่าได้รับวัคซีนฝีดาษในคนเรียบร้อยแล้ว แต่ประชาชนที่เกิดหลังปี 2523 ไม่มีการปลูกฝีสำหรับป้องกันโรคฝีดาษ ดังนั้นต้องใช้วิธีป้องกันโรคเท่านั้น องค์การอนามัยโลกและกรมควบคุมโรคของประเทศไทย มีคำแนะนำให้ประชาชนป้องกันตัวเองตามมาตราการที่ได้กล่าวไป และแม้จะเป็นโรคที่มีโอกาสติดต่อน้อย แต่ก็ควรเฝ้าระวังและติดตามข่าวสารการระบาดอย่างใกล้ชิด
หากมีข้อสงสัย หรือต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
อ้างอิงข้อมูลจาก
- http://nih.dmsc.moph.go.th/login/showimgdetil.php?id=904
- https://www.bbc.com/thai/international-61522154
- https://chulalongkornhospital
- https://www.praram9.com/monkeypox-virus/