คัดลอก URL แล้ว
ทำความเข้าใจ โรคลมพิษ โรคผิวหนัง ที่คนวัยทำงานมักพบมากขึ้น

ทำความเข้าใจ โรคลมพิษ โรคผิวหนัง ที่คนวัยทำงานมักพบมากขึ้น

โรคลมพิษ เป็นโรคหนึ่งที่คนในสังคมรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าโรคลมพิษสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทและมีความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกัน

โรคลมพิษ เป็นโรคผิวหนังที่มีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย ขนาดของผื่นเกิดได้ตั้งแต่ 0.5 เซนติเมตรหรืออาจจะมีขนาดใหญ่ถึง 10 เซนติเมตรก็ได้ อาการมักเกิดขึ้นเร็วและกระจายตามตัว แขน และขา ร่วมกับมีอาการคัน แต่ผื่นลมพิษมักจะคงอยู่ไม่นาน ส่วนใหญ่ผื่นจะราบหายไปภายใน 24 ชั่วโมงโดยไม่ทิ้งร่องรอย แต่ก็อาจจะมีผื่นขึ้นใหม่ที่บริเวณอื่น ในผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวมหรือตาบวม (angioedema) ร่วมด้วย ในบางรายอาจมีอาการปวดท้อง แน่นจมูก คอ หายใจไม่สะดวก รายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการหอบหืด เป็นลมจากความดันโลหิตต่ำได้ แต่ผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นรุนแรงนี้ มีเพียงจำนวนน้อย

โรคลมพิษแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

1) โรคลมพิษชนิดเฉียบพลัน คือ อาการผื่นลมพิษที่เป็นมาไม่เกิน 6 สัปดาห์
2) โรคลมพิษชนิดเรื้อรัง คือ อาการผื่นลมพิษเป็น ๆ หาย ๆ อย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ เกิดต่อเนื่องกันนานเกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป
ในต่างประเทศมีรายงานอุบัติการณ์ของโรคลมพิษเรื้อรังประมาณร้อยละ 0.5-1 ของประชากร ส่วนข้อมูลในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน สาเหตุของโรคลมพิษเรื้อรังเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ยา การติดเชื้อโรคระบบต่อมไร้ท่อ หรือปฏิกิริยาของผิวหนังที่ตอบสนองผิดปกติต่ออิทธิพลทางกายภาพ

แต่ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดจากความแปรปรวนของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเอง โดยทั่วไป โรคลมพิษเรื้อรัง สามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ แต่อุบัติการณ์สูงสุดในกลุ่มประชากรวัยทำงาน อายุระหว่าง 20-40 ปี อาจเป็นได้ว่ากลุ่มวัยทำงานมักมีอาการเครียดสะสมและอาจจะละเลยต่อการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง จึงทำให้เกิดโรคดังกล่าวได้มากขึ้น

โรคลมพิษส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยค่อนข้างมากทำให้ผู้ป่วยมีความกังวลในการดำเนินชีวิต ดังนั้นการหมั่นสังเกตตนเองและคนใกล้ชิดที่อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็นับเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และเนื่องจากผู้ป่วยโรคลมพิษจำนวนมากอาจจะไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน ดังนั้นการมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสาเหตุของโรคลมพิษจึงนับเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ในการสังเกตตนเองและหลีกเลี่ยงภาวะที่อาจกระตุ้นให้ผื่นลมพิษแย่ลง หรือช่วยให้การวินิจฉัยของแพทย์สามารถทำได้ง่ายขึ้น

สำหรับผู้ป่วยโรคลมพิษที่มีอาการรุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคลมพิษเฉียบพลัน ที่มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือมีภาวะความดันโลหิตต่ำ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วเนื่องจากอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

ส่วนผู้ป่วยโรคลมพิษเรื้อรังที่มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อดูแลรักษาอาการต่อเนื่องตามแนวทางการรักษามาตรฐาน แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านฮีสตามีน อาจมีความจำเป็นต้องให้ยาตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไปหรือยาฉีดชนิดอื่นๆ เพื่อควบคุมอาการผื่นลมพิษ เมื่อควบคุมอาการได้แล้วจึงค่อย ๆ ปรับลดยาลง จนถึงพยายามหยุดยาเพื่อควบคุมโรคในระยะยาว แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเรื้อรังต่อเนื่องหลายปี ดังนั้นการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรับยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ก็จะช่วยให้ควบคุมอาการของโรคได้ดีขึ้น ซึ่งย่อมทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยดีขึ้นด้วย

ที่มาข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง