คัดลอก URL แล้ว

รับมือ ‘ชนแล้วหนี’ ไม่ยากอย่างที่คิด ช่วยได้ทั้งตามคนผิด ถึงเคลมประกัน

เป็นเรื่องปกติที่ผู้ใช้รถใช้ถนนอาจจะประสบอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา ซึ่งหากเกิดขึ้นกับตัวเองก็จะมีลำดับขั้นตอนการเคลียร์ปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่เจรจากับผู้เสียหาย การติดต่อเจ้าหน้าที่และประกัน หรือบางโอกาสอาจต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อไกล่เกลี่ย แต่หากสถานการณ์ที่คุณต้องเจอคือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนแล้วคู่กรณี “หนีความผิด” ไม่มารับทราบสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่มาร่วมไกล่เกลี่ย หรือให้การช่วยเหลือใด ๆ และปล่อยให้คุณต้องรับชะตากรรมทั้งร่างกาย และจิตใจตามลำพัง แต่ถึงกระนั้นการรับมือชนแล้วหนีไม่ยากเหมือนเมื่อก่อน และยังสามารถเคลมประกันได้อีกด้วย

การรับมืออุบัติเหตุแล้วมีคู่กรณีหลบหนี

โดยเคสอุบัติเหตุขับรถชนแล้วหนี มักจะพบได้บ่อยในกรณีผู้ก่อเหตุเฉี่ยวชนอีกฝ่ายที่ขนาดเล็กกว่า เช่น คนเดินเท้า นักปั่นจักรยาน มอเตอร์ไซค์ หรือรถขนาดเล็ก จนทำให้รถอีกฝ่ายสามารถขับหนีได้ ซึ่งหากผู้ประสบเหตุมีสติพอ ให้สังเกตุรุ่นรถ สี ป้ายทะเบียนหลัง หรือหากสังเกตตำหนิเพิ่มได้ก็จะดี จากนั้นจึงให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแจ้งความ ลงบันทึกประจำวัน และจัดทีมสอบสวนในการตามหาผู้ก่อเหตุจากหลักฐานที่ได้มาเพื่อดำเนินคดีต่อไป

แต่หากผู้ประสบเหตุได้รับบาดเจ็บ หมดสติ ผู้พบเห็นควรรีบดำเนินการให้การช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ติดต่อเจ้าหน้าที่และโรงพยาบาล ติดตามหาพยานวัตถุ เช่น กล้องหน้ารถ กล้องวงจรปิด กล้องบันทึกภาพ หรือสังเกตคราบสีตัวถัง ไปจนถึงการประสานงานกับพยานบุคลที่พบเห็น หรือบันทึกภาพไว้ เพื่อทำการรวบรวมหลักฐานให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งจะช่วยให้การติดตามผู้ก่อเหตุทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ในบางเหตุการณ์ ผู้ก่อเหตุก็จะทิ้งรถที่ประสบอุบัติเหตุแล้วหลบหนี ซึ่งเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะสามารถยึดรถผู้ก่อเหตุเพื่อเก็บหลักฐาน และช่วยค้นหาเจ้าของรถมาดำเนินคดีได้

ขับรถชนแล้วหนี จากโทษเบา จะเป็นโทษหนักทันที

เมื่อผู้ก่อเหตุขับรถชนแล้วหนี ไม่ให้การช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ไม่แสดงตนเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่เกิดเหตุ จะกลายเป็นผู้กระทำความผิดโดยทันที ภายใต้พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 78 ระบุถึงความผิดฐานไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือว่า

“ผู้ใดขับรถหรือขี่หรือควบคุมสัตว์ ในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นความผิดของผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์หรือไม่ก็ตาม ต้องหยุดรถ หรือสัตว์ และให้ความช่วยเหลือตามสมควร และพร้อมทั้งแสดงตัว และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที โดยต้องแจ้งชื่อ นามสกุล ที่อยู่ของตน และหมายเลขทะเบียนรถแก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย”

หากผู้กระทำความผิดถูกจับกุม จะมีความผิดมาตรา 160 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามาตรา 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยความผิดส่วนนี้จะสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ หรือบาดเจ็บเล็กน้อย แต่มีทรัพย์สินเสียหายทั้งของผู้ประสบเหตุ หรือทรัพย์สินสาธารณะ

และ “ถ้าการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือเสียชีวิต ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ยังรวมถึงความผิดอื่น ๆ เช่น เมาแล้วขับ ขับรถโดยประมาท แต่งรถผิดกฎหมาย ไปจนถึงค่าเสียหายที่ผู้ประสบเหตุเรียก ค่าปรับ ก็จะถูกเพิ่มในความผิดนั้น ๆ ด้วย

หากถูกชนแล้วหนี จะเคลมประกันได้หรือไม่?

ภาพประกอบจาก Freepik.com

สำหรับผู้ประสบเหตุที่ได้รับผลกระทบ แต่ได้ทำประกันไว้ ก็จะสามารถขอเคลมได้ ทั้งประกันอุบัติเหตุ หรือประกันรถยนต์ (หากผู้ประสบเหตุขับรถในเวลาดังกล่าว) โดยสิทธิ์ในการเคมประกันจะขึ้นกับระดับชั้นดังนี้

ประกันชั้น 1 สามารถคุ้มครองผู้ทำประกันในอุบัติเหตุทุกกรณี

ประกันชั้นชั้น 2+ และ ประกันชั้นชั้น 3+ สามารถเคลมประกันได้เช่นกัน แต่จะเคลมเฉพาะในกรณีที่สามารถระบุรถคู่กรณีได้เท่านั้น

ประกันชั้น 2 และ 3 แบบธรรมดา ไม่สามารถเคลมประกันได้

สำหรับขั้นตอนการเคลมประกัน แบ่งได้ดังนี้

ประกันชั้น 1 เจ้าหน้าที่จากบริษัทประกันที่ได้ทำไว้จะให้เราอธิบายลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะออกใบเคลม ส่วนทางคู่กรณีนั้น ทางบริษัทประกันจะดำเนินการไล่บี้เรียกค่าเสียหายจากคู่กรณีเอง สำหรับเอกสารที่ต้องเตรียมคือใบแจ้งความ

ประกันชั้น 2+ และ 3+ หากผู้ประสบเหตุโดนชนแล้วหนี จะต้องมีหลักฐานที่สามารถชี้ชัด และระบุรถคู่กรณีได้อย่างชัดเจนจึงจะสามารถเคลมประกันได้ โดยผู้ประสบเหตุจะต้องหา รวบรวม และติดตามหลักฐานให้มากที่สุด ซึ่งหลักฐานที่จะช่วยคุณได้ก็คือ กล้องหน้ารถที่ถ่ายเหตุการณ์ และสามารถบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถของคู่กรณีได้อย่างชัดเจน รวมถึงกล้องวงจรปิดตามแยกหรือสถานที่เกิดเหตุ ที่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอภาพได้

ไม่ว่าจะทำประกันชั้น 1 หรือชั้น 2+ และ 3+ หากคุณที่เป็นผู้ประสบเหตุสามารถรวบรวมหลักฐานให้ได้มากที่สุด ก็จะเป็นประโยชน์ และการดำเนินงานที่รวดเร็วต่อบริษัทประกัน และตัวผู้ประสบเหตุ


ไม่ว่าใครก็ไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุ แต่หากเกิดขึ้นกับตัวคุณ การรวบรวมสติในการจดจำป้ายทะเบิน หรือรูปพรรณสัณฐานของผู้ก่อเหตุ การรวบรวมหลักฐานจากสิ่งที่ใกล้ที่สุดเ ช่น กล้องหน้ารถ กล้องจิ๋วสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง กล้องมือถือ รวมถึงหลักฐานโดยรอบ เช่น กล้องวงจรปิด พยานบุคคลที่อยู่ใกล้ ก็จะเป็นหลักฐานสำคัญในการช่วยคุ้มครองคุณไม่ให้เป็นผู้ที่เสียเปรียบฝ่ายเดียว นอกจากนี้หากทำประกันในระดับสูง ๆ และรักษาประกันไม่ให้หมดอายุแล้ว ก็จะช่วยลดภาระค่าเสียหาย และการรักษาพยาบาลได้ในระดับหนึ่งด้วย

กลับกันหากคุณขับรถชนคนอื่นจนได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน ควรหยุดรถ ลงจากรถเพื่อให้การช่วยเหลือ ไกล่เกลี่ยโดยไม่ใช้อารมณ์ ไปจนถึงติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ กู้ภัย โรงพยาบาล และประกันภัยเพื่อไกล่เกลี่ยทั้งค่าเสียหาย และความผิดที่เกิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาจากหนักเป็นเบาทั้งทางแพ่ง และอาญาแล้ว ยังช่วยซื้อน้ำใจแก่ผู้ประสบเหตุทำให้การไกล่เกลี่ยทำได้ง่ายยิ่งขึ้น


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง