Hyundai Motor ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในประเทศเกาหลีใต้ เร่งหารือแก้ปัญหาการผลิตและส่งออกรถยนต์จากผลกระทบการประท้วงของกลุ่มคนขับรถบรรทุกนับพันอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้น ส่งผลให้การขนส่งทั้งวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และการผลิตเกิดความล่าช้าต่อเนื่อง
โดยเมื่อวันอังคารที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มแรงงาน และกลุ่มคนขับรถบรรทุกรับเหมาอิสระที่เรียกว่า Cargo Truckers Solidarity ในเกาหลีใต้ราว ๆ 7,800 กว่าคน ได้รวมตัวประท้วงหยุดการขนส่งบนถนนสายหลักในพื้นที่ปูซาน, ปักหลักประท้วงหน้าสำนักงานใหญ่ฮุนได มอเตอร์ในอุลซาน และชะลอกิจกรรมที่ท่าเรือขนส่งในเมืองอุลซาน
ซึ่งทางกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องให้กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่ง ขยายมาตรการฉุกเฉินด้านโรคระบาดที่รับประกันอัตราค่าระวางซึ่งจะหมดอายุในเดือนธันวาคมนี้ รวมถึงการขึ้นค่าแรง และตรึงราคาน้ำมัน
ส่งผลให้โรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ในอุลซาน ต้องลดกำลังการผลิตลงถึงครึ่งหนึ่่งเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนผลิตรถ โดยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานจากฮุนไดกล่าวว่าโรงงานอุลซานของบริษัทได้ดำเนินการผลิตเหลือเพียงร้อยละ 50 – 60 จากจำนวนการผลิตปกติ
โฆษกของฮุนไดบอกกับรอยเตอร์ว่า “มีการหยุดชะงักในการผลิตของเราเนื่องจากการหยุดงานของคนขับรถบรรทุก และเราหวังว่าการผลิตจะกลับสู่ปกติโดยเร็วที่สุด”
ซึ่งทางบริษัทฯ กำลังหารือเจรจากับทางกลุ่มผู้ประท้วง ควบคู่กับการวางแผนพิจารณาขรายเวลาการผลิตในช่วงวันหยุด แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนมากนัก
นอกจากนี้ POSCO ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของเกาหลีใต้ อาจจะระงับการผลิตชั่วคราว โดยจะมีผลตั้งแต่วันจันทร์นี้เป็นต้นไป
และผลกระทบจากการประท้วงครั้งนี้ ส่งผลให้การขนส่งวัตถุดิบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ลดลงมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของการขนส่งขนาดใหญ่ในเกาหลีใต้ การจราจรลดลงสองในสามจากระดับปกติ และส่งผลกระทบต่อการผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดแวร์ เครื่องอุปโภคและบริโภคทั้งในประเทศเกาหลีใต้ และทั่วโลกเนื่องจากประเทศเกาหลีใต้ ส่งออกทั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งตอกย้ำถึงวิกฤติอุตสาหกรรมระดับโลกจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาอาทิ วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, วิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน และวิกฤติราคาน้ำมันที่เกืดขึ้นอยู่ ณ ขณะนี้
ในเกาหลีใต้ จะมีกลุ่มผู้ให้บริการขนส่งอิสระ ซึ่งได้รับจ้างจากบริษัทขนส่งรายใหญ่ หรือรับจ้างจากบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์โดยตรง มีหน้าที่รับผิดชอบด้านขนโลจิสติกส์ปลายทาง ซึ่งกลุ่มอาชีพนี้มีอำนาจต่อรองอ่อนแอเป็นพิเศษ และเป็นกลุ่มได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ส่งผลให้สูญเสียรายได้ไปส่วนหนึ่ง
เครดิตข้อมูลจาก jalopnik.com, reuters.com , asia.nikkei.com และ carscoops.com