คัดลอก URL แล้ว
“5 กฏของความเขลา” ทำให้เราได้เห็น “คนทำอะไรโง่ ๆ” บนโลกโซเซียลมีเดีย

“5 กฏของความเขลา” ทำให้เราได้เห็น “คนทำอะไรโง่ ๆ” บนโลกโซเซียลมีเดีย

“ทำไมชอบทำอะไรโง่ ๆ ?”
“ถ่อยแล้วเท่เหรอ?”
ฯลฯ

คำถามที่หลาย ๆ คนอาจจะเคยมีคำถามเหล่านี้ ผ่านมาในหัว หลังได้เห็นพฤติกรรมอะไรบางอย่างที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเห็นผ่านโซเซียลมีเดีย ผ่านสายตาตัวเอง หรือแม้แต่บางทีมานั่งนึกถึงพฤติกรรมโง่ ๆ ของตนเอง

แน่นอนว่า ในปัจจุบัน จะมีการพัฒนาในเรื่องของความรู้ ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยีอย่างมาก แต่เคยงสงสัยไหม? ว่า “ทำไมเราจึงยังเห็นสิ่งเหล่านี้ได้เสมอ ๆ “

นิยาม “คนเขลา”

ในคำถามที่เกิดขึ้นนั้น มีคำตอบอยู่ในการศึกษาของ คาร์โล ซิโปล่า นักเศรษฐศาสตร์และนักประวัติศาสตร์ ได้เขียนเรื่อง “กฎพื้นฐานของความโง่เขลาของมนุษย์” ซึ่งมีความน่าสนใจ และมีมุมมองให้กับเราได้ชัดเจนขึ้นมาเป็นกฏง่าย ๆ โดย ซิโปล่า ได้แบ่งคนออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกันตามกรอบของการเป็นประโยชน์และโทษต่อตนเองและผู้อื่น คือ

คนฉลาด (Intelligent People) – คนในกลุ่มนี้ จะสามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นได้ ทั้งตนเอง และผู้อื่นได้ คนกลุ่มนี้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปรกติสุข

คนกระจอก/ไร้เดียงสา ( Helpless People) – คนในกลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มที่สามารถทำประโยชน์หรือเป็นประโยชน์กับผู้อื่น แต่ไม่เกิดประโยชน์กับตัวเอง หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกหลอกใช้ได้ง่าย

โจร – (Bandits) – คนในกลุ่มนี้ จะรู้วิธีการสร้างประโยชน์ให้กับตนเอง โดยที่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลกระทบหรือผลเสียต่อผู้อื่น หรือสังคมในที่สุด

คนโง่ (Stupidity People) – คนในกลุ่มนี้ มักจะสร้างปัญหาให้กับผู้อื่น หรือตนเอง ที่ทำให้ตัวเองได้รับผลกระทบ ผลเสียต่าง ๆ ตามมา

ซึ่งจากภาพจะเห็นว่า “คนโง่” เหล่านี้ ไม่ได้สร้างผลดีให้กับใครเลย รวมถึงสร้างผลเสียให้กับตัวเองด้วย แต่สิ่งที่ยังคงทำอยู่ ซิโปล่า มองว่า

“นั่นเพราะคนเหล่านี้ ยังไม่ฉลาดพอที่จะรู้ว่า
อะไรที่เกิดประโยชน์หรือไม่นั่นเอง”

กฎแห่งความโง่เขลา

สิ่งที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมโง่เขลานั้น แม้ว่ามันจะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ กับมวลมนุษยชาติ หรือแม้แต่ตัวผู้ที่กระทำเองก็ตาม รวมถึงในสายตายของคนทั่วไปมองสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นว่า เป็นเรื่องโง่เขลา และจะไม่ทำอย่างเด็ดขาด แต่เรายังคงเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในทุกวันนี้ ยิ่งในยุคทุกคนสามารถแสดงออกต่าง ๆ ได้ผ่านโซเซียลมีเดียของตนเอง ยิ่งทำให้หลายคนเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้มากขึ้น บ่อยขึ้น และสิ่งเหล่านั้นยังคงเกิดขึ้นซ้ำ ๆ วนเวียนไปมาให้เราเห็นกัน

หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่า ทำไมสิ่งเหล่านี้ ยังคงเกิดขึ้นซ้ำ ๆ และทำไมในขณะที่สังคมน่าจะเรียนรู้ หรือพัฒนาได้มากขึ้น ทำไมยังคงมีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นอยู่อีก คำตอบอยู่ในกฎเหล่านี้ของชิโปลา นั่นคือ

กฎข้อแรก – ทุกคนประมาท กับจำนวนคนโง่ที่มีอยู่

ชิโปลา มองว่า ในสังคมทั่วไปนี้ มีคนโง่ หรือคนที่ชอบทำอะไรโง่ ๆ อยู่ทั่วไป แต่สิ่งที่เรามองข้ามไป นั่นคือ “จำนวน” คนเหล่านั้น แม้ไม่มีตัวเลขชี้วัดอะไร ทำให้หลายคนมองว่า ชิโปลา กล่าวเกินจริงและใส่อารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัวมากไป แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนและปริมาณที่เราสัมผัสได้ในหลายครั้ง ก็จะรู้สึกได้ว่า สิ่งนี้อาจจะเป็นความจริงก็ได้

ซึ่งชิโปลา ไม่ได้ระบุว่า คนโง่จะต้องทำอะไรโง่ ๆ เสมอไป แต่คนฉลาดหรือมีเหตุมีผลอย่างเรา ๆ ก็อาจจะทำอะไรโง่ ๆ ได้เหมือนกัน ในบางครั้ง บางสถานการณ์ และนั่นทำให้ในสังคมที่เราอยู่ ยังคงเห็น “พฤติกรรม” อะไรบางอย่างที่รู้สึกว่า ไม่ถูกต้อง ไม่เกิดประโยชน์ทั้งคนทำหรือสังคมได้ตลอดเวลา

กฏข้อสอง – การเป็นคนโง่ ไม่เกี่ยวข้องกับบุคลิก

พฤติกรรมโง่ ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้เกิดจากบุคลิก ลักษณะท่าทาง หรือร่างกายภายนอกที่เราเห็นได้ ไม่เกี่ยวกับระดับของการศึกษา คนทุกคน ซึ่งหากมองในแง่ร้าย เราจะสามารถพบเห็นพฤติกรรม ผลกระทบจากความโง่เขลาเหล่านี้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าที่ใดก็ตาม เพราะทุกคนมีโอกาสที่จะเผลอทำอะไรโง่ ๆ ได้เช่นกัน

ดังนั้น การเป็นคนโง่ จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับระดับสติปัญญา ไอคิว หรือความรวย-จน หากแต่สามารถเกิดขึ้นได้กับใครก็ได้ ที่อาจจะไม่ทันได้คิดถึงผลกระทบใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งที่ทำนั้น

กฏข้อสาม – คนโง่ก่อให้เกิดผลเสียกับผู้อื่นและตัวเองได้

ในนิยามของชิโปลา นั้น ระบุว่า ผลจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของคนโง่ (ที่ไม่เกี่ยวข้องกับไอคิว, ความฉลาด ฯลฯ) นั้น ส่งผลกระทบได้หลากหลาย ทั้งตัวของตัวเอง และผู้อื่นได้ ซึ่งจากแผนภาพด้านบน จะเห็นว่า คนฉลาดมักจะเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองได้ประโยชน์ และผู้อื่นไม่เสียประโยชน์ หรืออาจจะได้รับประโยชน์จากการกระทำที่เกิดขึ้นด้วย ในขณะที่คนโง่ ก็มักจะทำเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่นได้ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้มากกว่า หนึ่งครั้งได้อีกด้วย

กฎข้อสี่ – อย่าประเมินผลกระทบของคนโง่ต่ำเกินไป

หลายครั้งที่คนทั่วไปมักจะประเมินและมองข้ามผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำโง่ ๆ โดยเพราะคิดว่าคนเหล่านั้นไม่ฉลาด หรือมองว่า การที่เราเป็นคนฉลาด จะสามารถสร้างประโยชน์จากคน/พฤติกรรมโง่ ๆ เหล่านั้นได้ ซึ่งแม้ว่าหลายครั้ง คนที่ฉลาดกว่า จะสร้างสามารถสร้างประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเอาเปรียบคนหรือพฤติกรรมเหล่านั้นได้ แต่สุดท้ายแล้ว มันจะเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ และก่อให้เกิดผลกระทบจากพฤติกรรมที่คาดเดาไม่ได้เหล่านั้นในที่สุด โดยหลายครั้งอาจจะมีค่าเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างมาก

“เพราะคนที่มีเหตุผลมักจะไม่สามารถจินตนาการ หรือเข้าใจพฤติกรรมโง่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้”

กฏข้อห้า – คนโง่เป็นอันตรายมากที่สุด

กฎข้อสุดท้ายของชิโปลานั้นปิดท้ายไว้อย่างเจ็บแสบ ถึงอันตราย หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากคนหรือพฤติกรรมโง่ ๆ เหล่านั้น อาจจะสร้างความเสียหายได้มากเกินกว่าที่จะคาดเดาได้ ซึ่งพฤติกรรมหรือการกระทำที่ฉลาด ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากทั้งตัวผู้กระทำเอง หรือสังคม แต่ในทางตรงกันบ้าม การกระทำโง่ ๆ นั้นก่อให้เกิดผลกระทบได้ทุกส่วน

ในขณะนี้การกระทำของคนไร้เดียงสา หรือ Helpless People นั้น ยังสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม คนอื่น ได้ แม้ว่าตนเองจะไม่ได้รับประโยชน์เลยก็ตาม

“คนโง่นั้น อันตรายกว่าโจร”

ในขณะที่โจร หรือคนร้ายนั้น มองเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนเป็นตัวตั้ง ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ในการคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้ามการกระทำของคนโง่นั้น ไม่อาจะคาดเดาได้ และทำให้เราไว้ใจคนโง่เหล่านั้นมากกว่า คนร้าย หรือโจรเสียด้วย ซึ่งหลายครั้งพฤติกรรม หรือกระทำเหล่านั้น เกินสิ่งที่คนทั่วไปจะจินตนาการไว้ หรือไม่สามารถเหตุผลให้กับการกระทำนั้นได้

จากกฏของคนโง่ สู่ความ “ดัง” บนโซเซียล

หลายครั้งที่เราเป็น รู้สึกว่า พฤติกรรมที่ไม่น่ารักต่าง ๆ บนโลกโซเซียล กลับเป็นกระแสและมีคนส่งต่อ พูดถึงกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้บางกรณีคนเหล่านั้นถูกจัดให้เป็น เน็ตไอดอล, อินฟลูเอนเซอร์ หรือคนดังในโซเซียล และได้รับความนิยมจากกลุ่มคนที่ชื่นชอบ พฤติกรรมห่าม ๆ แบบนั้น สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ในกรอบ “กฏของคนโง่” ของชิโปลา นั่นเพราะ

เราต้องเข้าใจว่า เราทุกคนล้วนมีโอกาส “กลายเป็นคนที่ทำพฤติกรรมโง่ ๆ “ ได้เช่นกันในบางครั้ง ตามกฏข้อ 2 ดังนั้นพฤติกรรมเหล่านั้นจึงถูกแชร์ ส่งต่อ ในกลุ่มเพื่อนมากขึ้น จากเพื่อนสู่เพื่อนของเพื่อน ด้วยแรงกระตุ้นจากระบบของโซเซียลมีเดียที่มีการ “ดัน” เนื้อหาต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ผ่านปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การมีส่วนร่วมกับเนื้อหาของเรา รวมถึงเพื่อน ๆ ของเรา

การรวมกลุ่มผ่านทาง Groups, Hashtags ทำให้แรงกระตุ้นจากยอด Engagement ที่เกิดขึ้นมีมากขึ้น ไปได้ไวขึ้น ดังนั้นจึงทำให้ “พฤติกรรมที่ไม่น่ารัก” ต่าง ๆ เหล่านี้ถูกส่งต่อไปเรื่อย ๆ กระจายออกไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และนั่น ก็เข้าใน กฏข้อที่ 4

นอกจากนี้ การรวมกลุ่มรวมตัวตามความสนใจของแต่ละคนบนโซเซียลมีเดีย และส่งผลต่อระดับความสนใจโดยรวมของโซเซียลมีเดียนั้น ๆ มีจำนวนมากกว่าที่เราคิดไว้ และนั่นคือ “กฏข้อที่ 1” ของซิโมลานั่นเอง

และการกระทำเหล่านั้นได้รับสนับสนุนผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่า เป็นการผ่านการมีอำนาจในมือ, การมีอิทธิพลเหนือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ในสังคมนั้น ๆ ระดับของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมเหล่านั้น จะเริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น และกระจายได้ไวขึ้นตามไปด้วย

พูดง่าย ๆ ว่า หากคนโง่เขลา ยิ่งมีอิทธิพลต่อสังคมหนึ่งสังคมใดมากขึ้นเท่าไหร่ ระดับของความอันตราย ความเสียหาย ก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

โดยเฉพาะในปัจจุบัน กระแสของโลกโซเซียลมีเดีย ยิ่งกระจายออกไปกว้างขึ้นเท่าไหร่ ผลกระทบก็จะใหญ่มากขึ้นเท่านั้นตามระดับของกลุ่มก้อนที่เกิดขึ้น

และนั่นก็จะเข้า “กฏข้อที่ 5” แห่งความโง่เขลาของชิโปลานั่นเอง


อ้างอิง


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง