ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์หลายรายที่ชื่นชอบการเดินทางข้ามจังหวัด หรือมีเหตุจำเป็นต้องเดินทางทำงานข้ามจังหวัดไกล ๆ หลาย ๆ คนจึงเลือกเตรียมรถจักรยานยนต์คู่ใจให้รองรับการเดินทางไกลให้สมบูรณ์ทั้งตัวรถ และสัมภาระ แต่ก็มีอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือการนำรถจักรยานยนต์คู่ใจขนส่งไปทางรถไฟ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามจังหวัด และยังรองรับการขนส่งได้ทุกรูปแบบ ทุกซีซี แต่จะมีขั้นตอน และเสียค่าธรรมเนียมเท่าไหร่บ้าง มาหาคำตอบกันได้เลย
อ่านข่าวเพิ่มเติม:
- หมวกกันน็อค ก็มีอายุขัย มาดูแลรักษาและทำความสะอาดอย่างถูกวิธี เพื่อช่วยรักษาชีวิตคุณ
- ระดับเลเวลของรถยนต์ไร้คนขับ วัดจากอะไร ของไทยมาถึงระดับไหนแล้ว?
- ระบบตัดแต้มใบขับขี่ที่ผู้ใช้รถต้องรู้ ความผิดใดตัดแต้มเท่าไหร่ และวิธีได้คะแนนคืน
บริการส่งรถจักรยานยนต์โดยทางรถไฟ
ด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย มีบริการขนส่งรถจักรยานยนต์ของคุณไปสู่จุดหมายพร้อมกับเจ้าของรถได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งข้ามจังหวัดไกล ๆ และผู้ขับขี่ก็สามารถขับรถมอเตอร์ไซค์ต่อได้เมื่อถึงสถานีปลายทาง ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามจังหวัดโดยลดภาระการใช้งานรถจักรยานยนต์ข้ามจังหวัดในกรณีไม่คุ้นเคยเส้นทาง ช่วยประหยัดเวลา ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และยืดอายุการใช้งาน
หรือจะส่งรถจักรยานยนต์ไปให้ญาติพี่น้องที่ต่างจังหวัดใช้ ไปจนถึงการส่งมอเตอร์ไซค์มือสองให้กับลูกค้าปลายทางก็ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งวิธีนี้ก็จะช่วยลดความเสียหายในระหว่างเดินทางได้เป็นอย่างดี
ขั้นตอนการส่งรถจักรยานยนต์
- นำ ถจักรยานยนต์ ที่ต้องการใช้บริการส่งไปที่สถานีรถไฟต้นทาง
- เเจ้งเจ้าหน้าที่ช่องขายตั๋วว่ามีสัมภาระเป็นมอเตอร์ไซค์ หรือรถจักรยานยนต์ พร้อมซื้อตั๋วรถไฟในปลายทางที่ต้องการ (ให้กับรถจักรยานยนต์)
- ไปที่ห้องส่งพัสดุ แจ้งรายละเอียดปลายทางที่ต้องการขนส่งรถจักรยานยนต์พร้อมยื่นเอกสารทั้ง บัตรประชาชนตัวจริง ทะเบียนรถ และในกรณีที่ผู้ส่งไม่ได้เป็นเจ้าของรถ ต้องเตรียมสำเนาบัตรประชาชนเจ้าของรถพร้อมลายเซ็น และเอกสารการซื้อขายรถร่วมด้วย
- ชำระค่าบริการที่เรียกว่า “ค่าระวางสัมภาระ” ตามปริมาณซีซีรถที่กำหนด จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะนำรถจักรยานยนต์เข้าห้องเก็บสัมภาระขนาดใหญ่
- เจ้าของรถ หรือผู้ติดตาม จะต้องเดินทางไปพร้อมกันกับขบวนรถนั้น ๆ ด้วย แต่ในกรณีที่รถไฟขบวนนั้นเต็ม รถจะถูกส่งแยกอีกขบวน ส่วนเจ้าของรถจะต้องเดินทางล่วงหน้าเพื่อรอรับรถที่สถานีปลายทาง ซึ่งอาจจะใช้เวลานานสุด 1 วันโดยประมาณ
ค่าระวางสัมภาระสำหรับขนส่งรถจักรยานยนต์ (ข้อมูลล่าสุดปี 2566)
รถจักรยานยนต์ อนุญาตให้นำไปกับขบวนรถโดยสาร และรถรวมทุกขบวน โดยเสียค่าระวาง ดังนี้
- ขนาดไม่เกิน 125 ซีซี: ค่าระวางรวม = ค่าระวาง + ค่าธรรมเนียม 400 บาท + ค่าขนขึ้น 80 บาท + ค่าขนลง 40 บาท
- ขนาดเกิน 125 ซีซี ขึ้นไป รวมถึงกลุ่มบิ๊กไบค์: ค่าระวางรวม = ค่าระวาง + ค่าธรรมเนียม 500 บาท + ค่าขนขึ้น 100 บาท + ค่าขนลง 60 บาท
นอกจากนี้ ค่าระวางขนส่งรถจักรยานยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมตามน้ำหนักรถ ประเภทรถไฟอีกด้วย ซึ่งมีด้วยกันดังนี้
ขบวนรถธรรมดา และขบวนรถดีเซลรางอื่น ๆ
- น้ำหนักไม่เกิน 100 กิโลกรัม: ค่าระวางรวม = ค่าระวาง + (จำนวนกลุ่ม x 20)
- น้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม: ค่าระวางรวม = ค่าระวาง + (5 x 20) + (จำนวนกลุ่มที่เกิน 100 กิโลกรัม x 3)
ขบวนรถด่วน รถเร็ว และขบวนรถพิเศษโดยสาร
- น้ำหนักไม่เกิน 100 กิโลกรัม: ค่าระวางรวม = ค่าระวาง + (จำนวนกลุ่ม x 30)
- น้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม: ค่าระวางรวม = ค่าระวาง + (5 x 30) + (จำนวนกลุ่มที่เกิน 100 กิโลกรัม x 40)
*จำนวนกลุ่ม หมายถึง น้ำหนักของสัมภาระ ซึ่งการรถไฟฯ แยกเป็นส่วน ๆ ละ 20 กิโลกรัม / 1 กลุ่ม เช่น 60 กิโลกรัม จะคิดเป็น 3 กลุ่ม
ทั้งนี้หากต้องการสอบถามรายละเอียดค่าระวางสัมภาระทุกรายการเพิ่มเติม สามารถสอบถาม หรือดูตารางราคาได้ที่ห้องพัสดุ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ การรถไฟแห่งประเทศไทย และศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ Call Center หมายเลข 1690
คำแนะนำเพิ่มเติม
หากตัวรถมีการติดตั้งชุดแต่งเสริม ควรถอดออกเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหาย หรือสูญหาย อีกทั้งหากมีชิ้นส่วรถที่มีความเปราะบาง ก็ควรหาวัสดุหุ้มเพื่อกันกระแทกควบคู่ด้วย
เป็นอีกหนึ่งวิธีของการเดินทางไกลพร้อมรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มความสะดวกสบาย และลดความเสียหายของชิ้นส่วนในระหว่างเดินทางไกลได้เป็นอย่างดี ตอบโจทย์ทั้งนักท่องเที่ยวที่ต้องการใช้รถในจังหวัดปลายทาง ส่งรถให้คนใกล้ชิด จนถึงลูกค้ารถมือสองในอีกฟากหนึ่งของประเทศ
เครดิตข้อมูลจาก การรถไฟแห่งประเทศไทย