รถยนต์ไร้คนขับ เป็นเทคโนโลยีที่รถยนต์สามารถเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางได้ด้วยตัวเองโดยที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องจับพวงมาลัยหรือเหยียบคันเร่ง ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่งและคมนาคมที่สำคัญที่สุด ทว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่ารถยนต์ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับว่าไปถึงไหนแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าขีดจำกัดสูงสุดของเทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นแบบใด หน่วยงานใดเป็นผู้กำหนดมาตรฐานสำหรับนวัตกรรมนี้?
รู้จักกับเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบเข้าใจง่าย
การที่รถยนต์ไร้คนขับจะทำงานได้นั้นจะต้องประสานร่วมกันระหว่างอุปกรณ์ตรวจจับภายนอก เช่น กล้อง, เซ็นเซอร์ เรดาร์, โซนาร์, ไปจนถึงตัวรับสัญญาณ GPS, อุปกรณ์วัดระยะด้วยแสงหรือ LiDAR, ฐานข้อมูลเส้นทางสถานที่ เป็นต้น เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ มาประมวลผลผ่านซอร์ฟแวร์เฉพาะ หรือปัญญาประดิษฐ์ในกล่อง ECU เพื่อช่วยในการสั่งการควบคุมชิ้นส่วนขับเคลื่อนในรถให้ทำงานโดยอัตโนมัติ โดยที่ผู้ขับขี่ไม่ต้องจับพวงมาลัย หรือเหยียบคันเร่ง – เบรกเลย รวมถึงสามารถเลือกเส้นทางที่ดีที่สุด ปลอดภัยมากที่สุด และประหยัดเวลามากที่สุด
แต่ด้วยบางอุปกรณ์ยังมีข้อจำกัดการใช้งาน เช่น การตรวจจับที่ยังไม่ละเอียดชัดเจน หรือไม่ครอบคลุมทางไกล การประมวลผลของซอร์ฟแวร์ที่ยังไม่ซับซ้อน เทคโนโลยีมีราคาสูงจนยากที่จะตั้งราคาปลีกที่เหมาะสมได้ และด้วยปัจจัยอื่น ๆ อาทิ โครงสร้างคมนาคมขั้นพื้นฐาน ข้อกำหนดของกฎหมายต่าง ๆ สภาพท้องถนน และปัจจัยอื่น ๆ ที่ยากแก่การคาดเดา
จึงทำให้ผู้ผลิต เลือกหยิบเทคโนโลยี หรือุปกรณ์บางรายการที่เกี่ยวข้องมาติดตั้งและใช้งานจริงภายในรถ โดยที่การควบคุมรถด้วยผู้ขับขี่เองยังคงเอาไว้ เช่น ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะของรถคันหน้าโดยห่างอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control), ระบบช่วยบังคับพวงมาลัยรถให้อยู่ในช่องเลน, ระบบเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ, ระบบช่วยจอดรถอัตโนมัติ เป็นต้น ซึ่งเป็นระบบช่วยอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยที่ใช้งานอย่างแพร่หลาย บางระบบก็ถูกบรรจุเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์รุ่นใหม่ทุกเกรด ทุกรุ่นย่อย
ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการช่วยเก็บความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์มาขัดเกลาให้เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับทำงานได้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
ระดับขั้นของเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ
สำหรับระดับขั้น หรือเลเวลที่หลาย ๆ แหล่งพูดถึง และคุ้นเคย จะอ้างอิงจาก สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ หรือ SAE International (Society of Automotive Engineers) ได้กำหนดการจัดระดับมาตรฐานของระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติของยานพาหนะเรียกว่า SAE Automation Levels หรือ “SAE J3016” ไล่ตั้งแต่เลเวล 0 ถึงเลเวล 5 ยิ่งเวลเวลสูงระบบในรถยนต์จะทำหน้าที่แทนคนขับมากขึ้น
การกำหนดระดับเลเวลนี้จะช่วยในการกำหนดมาตรฐานการพัฒนา และการผลิตพร้อมจำหน่าย ไปจนถึงการกำหนดทิศทางอนาคตของรถยนต์ไร้คนขับเต็มรูปแบบ และการยกระดับโครงสร้างขั้นพื้นฐานได้อย่างชัดเจน รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์สามารถใช้อ้างระดับเลเวลเพื่อสร้างความชัดเจนแก่ลูกค้า ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุปดังนี้
เลเวล 0 ไม่มีการติดตั้งระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่โดยอัตโนมัติ ยังต้องพึ่งทักษะของผู้ขับขี่เต็ม ๆ แต่จะมีระบบแจ้งเตือนเสียงหรือแสงแก่ผู้ขับขี่หากตรวจพบความเสี่ยงต่อการชน เช่น เซ็นเซอร์แจ้งเตือนจอดรถด้านหน้า – ด้านหลัง, GPS เป็นต้น
เลเวล 1 จะมีการติดตั้งระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ที่ช่วยทุ่นแรงผู้ขับขี่ในบางสถานการณ์ แต่ยังคงต้องพึ่งทักษะของผู้ขับขี่ อาทิ ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Cruise Control และแบบแปรผันความเร็วตามรถข้างหน้า Adaptive cruise control, ระบบควบคุมรถให้อยู่ในเลน, ระบบเบรกอัตโนมัติ เป็นต้น ระบบดังกล่าวจะเน้นขับบนทางด่วนตรง ๆ ยาว ๆ เพื่อลดความเมื่อยล้าในการขับขี่นาน ๆ
สำหรับเลเวลนี้จะเรียกว่าระบบขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติ ซึ่งได้ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายแล้ว
เลเวล 2 จะมีการพัฒนาระบบตัวรถจะทำหน้าที่การเร่ง การเบรก และการบังคับเลี้ยว โดยที่ผู้ขับขี่สามารถละมืออกจากพวงมาลัยได้ แต่ขณะเดียวกันผู้ขับขี่ต้องเฝ้าดูการเดินทาง และเตรียมพร้อมที่จะเข้าควบคุมรถด้วยตัวเองโดยทันที เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดพลาดของระบบ
สำหรับเลเวลนี้จะมีเทคโนโลยีที่คุ้นเคยอย่างมากในปัจจุบัน เรียกว่า Advanced Driver Assistance Systems หรือ ADAS แต่ยังคงอยูในกลุ่มระบบขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติ และมีเฉพาะในรถยนต์หรู จนถึงรถตัวท็อปของรุ่นนั้น ๆ
เลเวล 3 จะมีการติดตั้งระบบขับขี่อัตโนมัติที่ทำงานได้ซับซ้อนยิ่งขึ้น ผู้ขับขี่สามารถละสายตาจากท้องถนนได้ในระยะเวลาหนึ่ง เช่น ดูข้อความ หรือดูภาพยนตร์ ขณะเดียวกันผู้ขับขี่ก็สามารถเลือกควบคุมรถได้ด้วยตัวเองได้เพื่อลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้
ตั้งแต่เลเวล 3 ถึงเลเวล 5 จะถูกกำหนดให้เป็นรถยนต์ไร้คนขับอย่างเต็มรูปแบบแล้ว
เลเวล 4 สำหรับเลเวลนี้ ผู้ขับขี่สามารถละการใส่ใจในการขับรถ หรือสังเกตการณ์ด้านหน้ารถได้ตลอดเวลา โดยเทคโนโลยีเลเวลนี้จะทำการได้ซับซ้อนมากขึ้น การตอบสนอง และการควบคุมจะสามารถทำได้ด้วยตัวเอง รวมถึงรองรับการปรับพื้นที่ภายในห้องโดยสารในรูปแบบอื่น ๆ เช่น เป็นที่นอน หรือเป็นรถโดยสารสาธารณะแบบไร้คนขับได้ แต่ข้อจำกัดเลเวลนี้คือจะรองรับการใช้งานในพื้นที่เฉพาะ และความเร็วที่ถูกจำกัดเอาไว้ หากออกนอกพื้นที่ควบคุม รถจะหยุดทำงานเพื่อความปลอดภัย
ซึ่งเลเวลนี้ ได้มีการทดสอบให้บริการในรูปแบบรถส่งของไร้คนขับในพื้นที่ชุมชน แท็กซี่หุ่นยนต์ รวมถึงบริการหุ่นจอดรถอัตโนมัติ
เลเวล 5 จะเป็นเลเวลสูงสุดของระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ หมายความว่าตัวระบบจะทำหน้าที่ควบคุมรถได้ 100% โดยปราศจากการควบคุมโโยมนุษย์ เพียงแค่ตั้งค่าจุดหมายปลายทาง และนั่งเฉย ๆ ก็สามารถส่งถึงที่หมายแล้ว ซึ่งตัวรถจะมีประสิทธิภาพการตัดสินใจที่ซับซ้อนมากขึ้น การตอบสนอง และการเฝ้าระวังความปลอดภัยที่มากขึ้นจนแทบรู้สึกเหมือนนั่งในห้องนั่งเล่นที่เดินทางได้
หากผู้ผลิตรถสามารถพัฒนาให้ใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากจะส่งผลต่อการออกแบบภายในรถใหม่ที่ไร้ทั้งพวงมาลัย และแป้นเหยียบแล้ว ยังส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างคมนาคมแบบยกใหญ่ การปรับข้อกฎหมาย การต่อยอดธุรกิจใหม่อีกมากมาย เป็นต้น
ข้อจำกัดของการกำหนดระดับมาตรฐาน SAE J3016
ทั้งนี้ทั้งนั้น SAE Automation Levels ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกำหนดมาตรฐาที่มีความเป็นเส้นตรงมากเกินไป ยังไม่ได้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น สภาพแวดล้อม และพฤติกรรมของผู้ใช้ถนนในอนาคตที่ส่งผลให้การพัฒนาเทคโนโลยียังไม่แน่นอนพอ และนำไปสู่ความคลุมเครือของตัวข้อกำหนดได้
แต่ในปัจจุบัน SAE J3016 ยังคงเป็นมาตรฐานในการกำหนดระดับของระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่ใช้งานได้จริง และทาง SAE ก็สามารถปรับเปลี่ยนข้อกำหนดให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคตอีกด้วย
ขณะเดียวกันทางองค์กรบริหารความปลอดภัยบนท้องถนนของสหรัฐอเมริกา หรือ NHTSA (National Highway Traffic Safety Administration) ก็ยังได้มีการนำข้อกำหนด “SAE J3016” ไปประยุกต์ใหม่ให้สอดคล้องกับการใช้งานในอเมริกา
ขณะทางหน่วยงานสถาบันวิจัยทางหลวงแห่งสหพันธรัฐเยอรมัน (BASt) ก็ได้มีการประยุกต์การจำแนกระดับเลเวลระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติจาก “คนขับเท่านั้น” ไปจนถึง “ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ” ซึ่งแบบหลังจะมีการอ้างถึง ขีดจำกัดของระบบและการย้อนกลับไปสู่ความเสี่ยงต่ำที่สุดที่ยอมรับได้ กล่าวอีกนัยคือไม่มีข้อจำกัดของเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างยืดหยุ่น และก้าวข้ามขีดจำกัดได้ตามยุคตามสมัย
มาตรฐานที่ใช้อ้างอิงเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับในประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทยได้อ้างอิงมาตรฐานระดับเลเวลของ SAE J3016 ในการวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ การทดสอบดังกล่าวเป็นการทดสอบในพื้นที่ปิด ทดสอบเวลาจำกัด และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วต่ำ รวมถึงมีการนำรถยนต์ไร้คนขับเทียบเคียงมาตรฐาน SAE เลเวล 4 มาใช้ในการทดสอบ หรือบางรายก็ได้ผลิตรถยนต์ไร้คนขับฝีมือคนไทย แต่ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องใช้ระบบพวงมาลัยในการควบคุมในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเทียบเคียงได้กับเลเวล 3
สำหรับรถยนต์จำหน่ายจริงในประเทศไทย จะมีเพียงแค่ระบบขับเคลื่อนกึ่งอัตโนมัติเลเวล 2 ที่จำหน่ายอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีความปลอดภัยอัจฉริยะ ADAS ที่ปัจจุบันได้เข้ามาจำหน่ายกันหลากหลายแบรนด์แล้ว
ในขณะที่ค่ายรถหรูบางรายได้เผยว่ารถบางรุ่นสามารถรองรับเทคโนโลยีไร้คนขับเลเวล 3 แล้ว แต่ยังใช้งานในเมืองไทยได้ไม่เต็มที่เนื่องจากสภาพเส้นทาง ป้ายจราจร และข้อกำหนดทางกฎหมาย รวมถึงสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในระหว่างขับขี่ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง ส่งผลให้เทคโนโลยีไร้คนขับเลเวล 3 จะยังคงต้องมีการพัฒนาให้เข้ากับสภาพถนนของไทยอีกสักระยะ
ไม่ว่าการกำหนดมาตรฐาน หรือระดับเลเวลของเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติจะมีรูปแบบใด แต่จุดร่วมสำคัญจะอยู่ที่การเฝ้าจับตาความคืบหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต เพราะทุกระดับที่ได้รับหรือประกาศให้คนรับรู้ได้นั้นบ่งบอกว่าเทคโนโลยีดังกล่าวใช้งานได้จริง มีข้อผิดพลาดหรือความเสี่ยงอุบัติเหตุต่ำ คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และจะนำไปสู่การตกผลึกองค์ความรู้ ประสบการณ์ รวมถึงเครื่องมือที่จะผลักดันให้การเดินทางในอนาคตเป็นสิ่งที่จับต้องได้อย่างสบายใจ
เครดิตข้อมูลจาก