KEY :
- อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ โควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.75 เริ่มมีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้น แต่ยังไม่มีรายงานความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากเชื้อเดิม
- ไทยพบสายพันธุ์ BA.2.75 ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนมิ.ย. 2565 สัดส่วนของผู้ติดเชื้อ BA.2.75 เพิ่มขึ้นมากจากเดือนที่แล้ว (จากร้อยละ 23.2 เป็นร้อยละ 43.9)
- ขอความร่วมมือ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ให้เข้ารับเข็มกระตุ้น จะสามารถป้องกันการป่วยหนัก และลดโอกาสเสียชีวิตได้
วันนี้ (24 พ.ย.65) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ไทยในหลายพื้นที่เริ่มมีอากาศหนาว ส่งผลต่อการแพร่เชื้อโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.75 เริ่มมีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้น (พบครั้งแรกที่อินเดีย) พบการกลายพันธุ์ ใช้จับกับตัวรับในเซลล์ของมนุษย์ และเกี่ยวข้องกับการหลบภูมิคุ้มกัน การพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บ่งชี้ว่ามีความสามารถในการแพร่ระบาด แต่ยังไม่มีรายงานความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจากเชื้อเดิม
“ไทยพบสายพันธุ์ BA.2.75 ครั้งแรกเมื่อปลายเดือนมิ.ย. 2565 สัดส่วนของผู้ติดเชื้อ BA.2.75 เพิ่มขึ้นมากจากเดือนที่แล้ว (จากร้อยละ 23.2 เป็นร้อยละ 43.9) สามารถใช้ยาต้านไวรัสที่มีอยู่รักษาได้ และวัคซีนที่มีอยู่ รวมถึงแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (LAAB) ยังสามารถยับยั้งเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ BA.2.75 ได้ ปลัด สธ. สั่งโรงพยาบาลในสังกัด และกรมการแพทย์ รวมทั้งสถาบันบำราศนราดูร ขยายวันฉีดวัคซีน ให้บริการวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป”
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
กรณีมีรายงานข่าวการเสียชีวิตของชายอายุ 38 ปี ติดโควิดนอนเสียชีวิตในคอนโดมิเนียม (23 พ.ย.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า จากข้อมูลการสอบสวนโรคเบื้องต้น โดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และสำนักอนามัย กทม. พบชายดังกล่าวได้รับวัคซีน 3 เข็ม (เข็มสุดท้าย ม.ค. 65) ขณะนี้รอผลการชันสูตรพลิกศพ เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต จากสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ
จึงขอความร่วมมือ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 (ผู้สูงอายุ – กลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง) ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน มีการป่วยตายจากโควิดมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมดที่รายงานแต่ละวัน และกลุ่มนี้หากรับวัคซีนครบแล้ว เข็มล่าสุดนานเกิน 4 เดือนขึ้นไป ให้เข้ารับเข็มกระตุ้น จะสามารถป้องกันการป่วยหนัก และลดโอกาสเสียชีวิตได้