คัดลอก URL แล้ว
‘โอมิครอน’ BA.5 กับสายพันธุ์ที่ไม่ใช่ตัวสุดท้าย

‘โอมิครอน’ BA.5 กับสายพันธุ์ที่ไม่ใช่ตัวสุดท้าย

KEY :

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย กลับเข้าสู่โหมดเฝ้าระวังอีกครั้ง ภายหลังมีการออกมาตรการผ่อนคลายต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อให้ประชาชน ผู้ประกอบการ กลุ่มภาคธุรกิจต่าง ๆ กลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ควบคู่กับการป้องกันเฝ้าระวัง ซึ่งปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2019 ทำให้ผู้คนเห็นมาดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสวมหน้ากากอนามัย ที่กลายเป็นสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีวิตในปัจจุบันไปแล้วก็ตาม

เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา (ม.ค.-เม.ย.65) สถานการณ์โควิด-19 ในบ้านเรา เผชิญหน้ากับการระบาดระลอกที่ 5 โดยมีสายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ เข้ามาครองสัดส่วนผู้ติดเชื้อแทนสายพันธุ์เดิมอย่าง สายพันธุ์อัลฟา และ เดลตา ด้วยเหตุผลที่ ‘โอมิครอน’ นั้น เป็นสายพันธุ์ที่ติดง่าย แพร่เชื้อได้ไวทำให้เกิดกลุ่มคลัสเตอร์ ในพื้นที่ต่าง ๆ

แม้สถานการณ์ในปัจจุบันตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ที่หลักพันก็ตาม แต่เนื่องด้วยการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ทำให้ต้องกลับมาเฝ้าระวังกันอีกครั้งหนึ่ง อันเนื่องมาจาก ‘โอมิครอน’ สายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ซึ่งกำลังเป็นสายพันธุ์ที่ครองสัดส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งของสหรัฐฯ ที่มีผู้ติดเชื้อจากสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวแล้วกว่า 60% ในประเทศ

ในขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทย ทางผู้เชี่ยวชาญได้ออกมายืนยันแล้วว่า BA.5 น่าจะเข้ามาครองสัดส่วนการติดเชื้อภายในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนสิงหาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวทำให้หลายคนเดินทางออกต่างจังหวัดกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งเสี่ยงต่อการได้รับและแพร่เชื้อโควิด-19

‘โอมิครอน’ สายพันธุ์ย่อย BA.5

จากข้อมูลของญี่ปุ่น พบว่า BA.4/BA.5 ดื้อต่อภูมิคุ้มกันและแพร่กระจายเร็วในเซลล์ปอดของมนุษย์มากกว่า BA.2 ผลการทดลองในหนู พบว่า BA.4/BA.5 ทำให้หนูทดลองป่วยหนักกว่า BA.2

นอกจากนี้ผลวิจัยทางสหรัฐอเมริกา สามารถต้านทานวัคซีนชนิด mRNA ได้มากกว่าสายพันธุ์โอไมครอน สายพันธุ์ย่อยก่อนหน้าอื่น ๆ ถึง 4 เท่า ซึ่งรวมถึงวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา และมีส่วนทำให้จำนวนผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและในแผนกผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้น

สำหรับในบ้านเรานั้น โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.5 มีรายงานจากทางกระทรวงสาธารณสุขว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่นั้นเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ซึ่งสัดส่วนของผู้ติดเชื้อนั้นจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ย่อยเดิม คือ BA.2

อาการของ โอมิครอน BA.4/BA.5

โอมิครอน BA.4/BA.5 จุดเด่น คือ

ทั้งนี้จากของมูลของผู้เชี่ยวชาญ ยังระบุว่า โอมิครอนสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวนั้น ไม่ได้แสดงอาการแตกต่างไปจากไอมิครอนตัวเก่ามากเท่าไรหนัก ขณะที่การสูญเสียประสาทรับรสและกลิ่น จะมีการสูญเสียในส่วนดังกล่าวน้อยกว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่น ๆ

สถานการณ์โควิด-19

ข้อมูลทั้งจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้เสียชีวิต และผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือ Home Isolation ซึ่งขณะนี้พบว่า ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ดูเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ โดยช่วงหยุดยาวที่ผ่านมามีการเดินทางไปต่างจังหวัดกันมาก

ผู้เสียชีวิตในสัปดาห์ที่ผ่านมา เกือบทั้งหมดเป็นกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ รวมกันถึง 98% โรคเรื้อรังที่พบมากที่สุด คือ ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบ อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตโควิดต่อแสนประชากรสูงสุดช่วงระลอกเดลตา และลดน้อยลงในช่วงโอมิครอนบ่งบอกว่า มีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา ขณะที่การฉีดวัคซีนในคนไทยมากกว่า 140 ล้านโดส ทำให้มีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง จึงลดอัตราเสียชีวิตได้

ส่วนอัตราการครองเตียงระดับ 2-3 ยังรองรับได้ มี 4 จังหวัดที่เริ่มตึงตัว คือ กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี เนื่องจากคนไข้เพิ่มขึ้น และมีการคืนเตียงไปใช้ดูแลผู้ป่วยทั่วไป แต่สามารถขยายเตียงได้หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลง ซึ่งปลัดกระทรวงสาธารณสุขสั่งการเตรียมความพร้อมในจังหวัดต่างๆ ให้รองรับแล้ว และได้เชิญ กทม.หารือการจัดระบบการรักษาพยาบาลและการส่งต่อ เนื่องจาก
มีโรงพยาบาลหลายสังกัดในพื้นที่

คาดการณ์ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งจาก BA.5

ทางด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โควิด-19 ระลอกที่ 6 ยังไม่ถึงจุดสูงสุด การระบาดของ covid 19 รอบใหม่นี้นับเป็นระลอก ที่ 6 เป็นการระบาดด้วยสายพันธุ์ โอมิครอน BA.5 ตามรูป จะมีจุดสูงสุดปลายเดือนนี้และตลอดเดือนหน้า สิงหาคม เดือนหน้านักเรียนมหาวิทยาลัยก็จะเปิดเทอมหมด และจะเริ่มลดลงในช่วงนักเรียนสอบและปิดเทอม

ทุกอย่างต้องเดินหน้าด้วยมาตรการให้ความสำคัญในการลดการติดเชื้อ และจะไม่มีการ ปิดเมือง ปิดประเทศ ปิดโรงเรียน แล้ว ทุกอย่างมีความสำคัญกับอนาคตของประเทศ จำนวนผู้ป่วยถ้าคิดเป็นสัดส่วนจะพบว่ามีผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลน่าจะอยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือน้อยกว่า และมีอัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ไม่เกิน 1% ของผู้ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือน่าจะ เป็น 0.1% หรือน้อยกว่าของผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งตัวเลขนี้กำลังลดลงไปใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากตามฤดูกาลของโรคทางเดินหายใจ เราจึงเห็นสัดส่วนของการนอนโรงพยาบาล และการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ดังนั้นถึงแม้จะมีผู้ป่วยเป็นหลักหมื่น หรือหลายหมื่น จะมีผู้เข้ารับการรักษาและแจ้งยอดให้กระทรวงสาธารณสุข จะอยู่ที่ 2,000 คน และมีการเสียชีวิต 20 คน ดังนั้นอัตราการเสียชีวิต ในจำนวนนี้ จะอยู่ที่ยอดผู้ป่วยติดเชื้อทั้งสิ้นหลายหมื่นคน ซึ่งสูงกว่าระลอกที่ 5 แน่นอน เพราะส่วนใหญ่จะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย อย่างไรก็ตาม กลุ่มเสียงสูงควรได้รับวัคซีนให้เต็มที่เพื่อลดอาการ และถ้าติดเชื้อถึงแม้จะมีอาการน้อย ทันทีที่รู้ว่าติดเชื้อ ก็ควรจะได้รับยาต้านไวรัสเพื่อการรักษาในทันที ให้เร็วที่สุดเพื่อลดการนอนโรงพยาบาล และเสียชีวิต

ช่วงหยุดยาวควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ทางด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า สำหรับหลังช่วงหยุดยาวนั้น ยังต้องเข้มมาตรการ 2U ได้แก่ Universal Prevention มาตรการป้องกันส่วนบุคคล เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และตรวจ ATK เมื่อมีอาการคล้ายหวัด

ซึ่งโอมิครอน BA.4/BA.5 จุดเด่น คือ เจ็บคอ ระคายคอ น้ำมูก หากมีอาการคล้ายไข้หวัดอย่านิ่งนอนใจ ให้ตรวจ ATK และ Universal Vaccination ฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้คนไปรับวัคซีนเพิ่มขึ้น ส่วนหน่วยงานต่าง ๆ หากพบผู้ติดเชื้อ ถ้ามีอาการน้อย สามารถแยกกักรักษาที่บ้านแบบ 7+3 คือ แยกกักตัว 7 วัน และเฝ้าระวังสังเกตอาการอีก 3 วัน ซึ่งควรงดเว้นการพบผู้อื่นและสวมหน้ากากตลอดเวลา

ส่วนกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันไม่ดี กระทรวงสาธารณสุขจัดหาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดี LAAB มาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยจะเข้ามาล็อตแรกสัปดาห์หน้าประมาณ 7 พันชุด โดย 1 ชุดมียา 2 ตัว ใช้ฉีดเข้าสะโพกทั้ง 2 ข้าง ซึ่งภายในสัปดาห์นี้จะมีการสรุปข้อมูลเข้ามาว่า แต่ละจังหวัดมีผู้ป่วยมากน้อยเท่าไร เพื่อกระจายได้ตามที่ขึ้นทะเบียนร้องขอมา โดยจะจัดส่งไปยังระดับจังหวัดพิจารณาจัดสรรต่อไป และจะมีการอบรมทำความเข้าใจการใช้ LAAB ทั่วประเทศ ซึ่งการใช้ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยรายนั้น

เฝ้าระวังสายพันธุ์ BA.2.75

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยข้อเท็จจริงถึงกรณีประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ BA.2.75 ว่า ผู้ติดเชื้อเป็นชาวไทยอายุ 53 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง เดินทางไปประชุมที่ภูเก็ต ที่มีชาวต่างชาติร่วมประชุมด้วย จากนั้นมีอาการและได้ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด และตรวจยืนยันด้วย RT-PCR พบติดเชื้อ และโรงพยาบาลได้ส่งตัวอย่างมาตรวจสายพันธุ์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง

และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับตัวอย่างส่งต่อจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง เพื่อยืนยันสายพันธุ์ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม พบเป็นโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2.75 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงนำส่งข้อมูลเพื่อเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 และ GISAID ได้ตรวจสอบและประกาศขึ้นระบบเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565

สายพันธุ์ BA.2.75 พบครั้งแรกที่ต่างประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 แต่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในอินเดีย ช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ล่าสุดฐานข้อมูล GISAD มีรายงานตรวจพบจากทั่วโลกแล้ว จำนวน 359 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2565)

BA.2.75 เบื้องต้นพบมีการกลายพันธุ์บน spike protein หลายตำแหน่งที่ต่างจากสายพันธุ์ย่อย BA.2 โดยสองตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ ตำแหน่งกลายพันธุ์ G446S อาจทำให้เกิดการหลบภูมิคุ้มกัน ที่สร้างขึ้นภายหลังการติดโรคโควิด 19 หรือจากการฉีดวัคซีน ทำให้โอกาสการติดเชื้อซ้ำจากไวรัสโควิด 19 กลายพันธุ์เพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น และการกลายพันธุ์ตำแหน่ง R493Q ทำให้ไวรัสจับกับเซลล์มนุษย์และรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ดีขึ้น เพิ่มโอกาสในการแพร่กระจาย

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกจัด BA.2.75 อยู่ในกลุ่มสายพันธ์ที่น่ากังวลที่ต้องจับตาดู (VOC-LUM) ขณะความเร็วในการแพร่เชื้อและความรุนแรงยังไม่มีข้อมูลที่มากพอจึงยังไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป

ติดโควิด-19 ต้องทำอย่างไรบ้าง

ภายหลังราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การยกเลิกกรณีที่มีเหตุสมควรเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เพื่อรองรับการเป็นโรคประจำถิ่น พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลเป็นการปรับปรุงรูปแบบการรักษาโควิด19 โดยยกเลิกการรักษาแบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation-HI) และฮอสพิเทล โดยยกเลิกสำหรับผู้มีสิทธิบัตรทองตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 และกลุ่มผู้มีสิทธิประกันสังคมตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2565 เป็นต้นมานั้น

อย่างไรก็ตาม หลังการยกเลิกดังกล่าวผู้ป่วยโควิด19 ประชาชนทุกคนยังคงได้รับการรักษาฟรีตามสิทธิทั้งสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ผู้ป่วยอาการสีแดงที่วิกฤต ยังสามารถใช้สิทธิ UCEP เข้ารักษาแห่งใดก็ได้เช่นเดิม

การปรับขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยโควิดตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 เป็นต้นมาประชาชนที่ตรวจพบว่าเป็นโควิด19 เช่นตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ไม่ต้องโทรแจ้ง 1330 เพื่อเข้าระบบหรือรับยาเช่นในอดีต แต่สามารถโทรสอบถามขั้นตอนดำเนินการ หรือ กรณีมีผู้ป่วยหนักประสานหาเตียงเพื่อเข้าโรงพยาบาลสามารถโทร สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 สำหรับประชาชนทั่วไป และ กด 18 สำหรับกลุ่ม 608, ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ หรือที่ สายด่วน เอราวัณ 1669 กด 2 ได้

แม้โควิด-19 จะมีการกลายพันธุ์อยู่เรื่อย ๆ อาการไม่รุนแรงบ้าง แต่เมื่อติดแล้วย่อมส่งผลเสียต่อแรงกาย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 อีกทั้งปลายเดือน ก.ค.นี้ ก็จะมีช่วงหยุดยาวอีกรอบ ฉะนั้นการแพร่เชื้อสู่ครอบครัวและคนรอบข้างย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ แม้มาตรการต่าง ๆ จะเอื้อให้ประชาชนได้ดำเนินชีวิตอย่างปกติมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ลืมป้องกันตัวเอง หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง หรือ หากมีอาการก็ควรรีบตรวจ ATK แยกกักตัว เข้าสู่ระบบการรักษาต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง