คัดลอก URL แล้ว
อนามัยโพลชี้ ปชช. กังวลโควิด-19 ระบาดช่วงสงกรานต์ ร้อยละ 77 ย้ำหลัก ‘UP – VUCA’ สร้างเกราะป้องกัน

อนามัยโพลชี้ ปชช. กังวลโควิด-19 ระบาดช่วงสงกรานต์ ร้อยละ 77 ย้ำหลัก ‘UP – VUCA’ สร้างเกราะป้องกัน


เมื่อวานนี้ (25 มี.ค. 2565) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลสำรวจอนามัยโพลต่อประเด็นความกังวลและการป้องกันตนเองในช่วงวันสงกรานต์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนมีความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 77 โดยมีความกังวลว่าการรวมกลุ่มในสถานที่ต่าง ๆ มีโอกาสติดเชื้อ ร้อยละ 58 และยังกังวลว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศสูงอยู่ ร้อยละ 53

.

นอกจากนี้ ยังรวมทั้งอาจมีการติดเชื้อที่บ้านหรือในครอบครัว เนื่องจากมีการสังสรรค์กัน ร้อยละ 47 ในขณะที่ยังมีประชาชนอีกกลุ่มไม่มีความกังวลถึงการระบาดของโควิดในช่วงนี้ ร้อยละ 23 โดยมั่นใจว่าทุกคนสามารถป้องกันตัวเองได้ดี ร้อยละ 62 ตนเองไม่ได้ไปในสถานที่เสี่ยง ร้อยละ 53 และอยากใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ร้อยละ 47
.
ทั้งนี้ สำหรับสถานที่ที่ประชาชนยังกังวลต่อการแพร่ระบาดในช่วงสงกรานต์นี้มากกว่าครึ่งหนึ่งเห็นว่า การรวมกลุ่มในสถานที่ต่าง ๆ เป็นความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งร้านอาหารที่เปิดลักษณะคล้ายสถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่จัดกิจกรรมอีเว้นท์งานสงกรานต์ ขนส่งสาธารณะและห้องน้ำสาธารณะในปั๊มน้ำมัน โดยสถานที่เหล่านี้มักเป็นสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มของผู้คนจำนวนมากและบางสถานที่อาจมีมาตรการเว้นระยะห่างที่ปฏิบัติได้ยาก มีระบบระบายอากาศที่ไม่ดี ไม่ใส่หน้ากากในห้องปรับอากาศ หรือมีการรวมกลุ่มกันดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการระบาดแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้ง่าย รวมทั้งในส่วนของแผนการทำกิจกรรมในช่วงสงกรานต์ พบว่า ประชาชนเกือบครึ่งหนึ่งจะอยู่ที่บ้าน ไม่มีการนัดรวมกลุ่มกัน ในขณะที่ 1 ใน 3 ยังคงต้องการไปทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระที่วัด รองลงมาคือ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุที่เคารพ รวมทั้งมีแผนการสังสรรค์ กินข้าวกับครอบครัว เพื่อน ที่บ้าน ตามลำดับ
.
“ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว หรือเพื่อนฝูง ในช่วงวันสงกรานต์ พบว่า ประชาชนมีความเห็นว่าพฤติกรรมล้างมือเป็นประจำ สวมหน้ากาก และเว้นระยะห่าง เป็นมาตรการที่สำคัญเมื่อจำเป็นต้องร่วมกิจกรรมกับผู้คน มากกว่าร้อยละ 90 รวมถึงมาตรการอื่น ๆ เช่น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นก่อนเข้าร่วมกิจกรรม การประเมินความเสี่ยงตนเองด้วยไทยเซฟไทย เป็นต้น ซึ่งจากผลสำรวจนี้ ถือเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของมาตรการส่วนบุคคล VUCA ตามหลักการ UP (Universal Prevention) ดังนั้น การปฏิบัติตัวบนความไม่ประมาท และป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด จะเป็นเกราะป้องกัน ขณะเดียวกัน การจัดงานหรือให้บริการในช่วงสงกรานต์ อาทิ สถานประกอบกิจการ หรือการจัดกิจกรรมที่ปลอดภัย ควรมีการประเมินตนเองและปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับทุกคนได้เป็นอย่างดีในช่วงสงกรานต์” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง