นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) ในฐานะโฆษกกระทรวง พม. เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น กระทรวง พม. จึงมีความห่วงใยกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งกลุ่มเด็ก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มเด็กกำพร้าที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ไม่มีผู้เลี้ยงดู จึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด ซึ่งนับวันยิ่งมีจำนวนเด็กกำพร้าเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวง พม. มีภารกิจสำคัญในการช่วยเหลือดูแลเด็กกำพร้าในภาพรวมทั้งประเทศภายใต้การสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ซึ่งได้ดำเนินการช่วยเหลือดูแลเด็กกำพร้าจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ระยะที่ 1 ในต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ นางพัชรี อาระยะกุล ปลัด พม. ได้สั่งการให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทั่วประเทศ เข้าไปช่วยเหลือดูแลเด็กกำพร้าทั่วประเทศอย่างเร่งด่วน ตั้งแต่การลงพื้นที่เชิงรุกเพื่อสำรวจเด็กกำพร้า ซึ่งปัจจุบันพบ 234 คน และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น จึงให้มีการสำรวจอย่างต่อเนื่อง
และการเยี่ยมบ้านเพื่อสอบข้อเท็จจริงและประเมินปัญหา ความต้องการของเด็กทุกคน ประกอบการช่วยเหลือด้านสิทธิและสวัสดิการสังคมตามภารกิจของกระทรวง พม. พร้อมทั้งประสานกับภาคีเครือข่ายและอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (อพม.) เพื่อบูรณาการแนวทางการช่วยเหลือร่วมกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีการมอบเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น อุปกรณ์การเรียน และเงินสงเคราะห์ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปว่า สำหรับแนวทางการให้ความช่วยเหลือเด็กกำพร้าจากผลกระทบของโรคโควิด-19 กระทรวง พม. ได้ใช้ระบบการเลี้ยงดูทดแทนและทรัพยากรการสนับสนุนการเลี้ยงดูทดแทน ดังนี้
- การเลี้ยงดูทดแทน ด้วยครอบครัวเครือญาติเด็ก โดยกระทรวง พม. จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายครอบครัวอุปถัมภ์ 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน จนกระทั่งเด็กอายุ 18 ปีบริบูรณ์ และมีพนักงานเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กช่วยให้ครอบครัวดูแลเด็กได้อย่างมีคุณภาพ
- การเลี้ยงดูในครอบครัวทดแทนถาวร โดยการเลี้ยงดูเด็กในครอบครัวบุญธรรม ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายที่กำหนด โดยมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่อเด็กตามกฎหมาย
- หากเด็กไม่สามารถหาครอบครัวทดแทนได้ สถานสงเคราะห์ของกระทรวง พม. จะเป็นทางเลือกสุดท้ายในการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กชั่วคราว ผ่านการจัดบริการด้านต่างๆ เช่น บริการปัจจัยสี่ การดูแลรักษาพยาบาล การศึกษา พัฒนาการ การติดตามสืบหาครอบครัว และกำหนดแผนการเลี้ยงดูทดแทนระยะยาว
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการช่วยเหลือเด็กกำพร้าด้านการศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์รับเด็กกำพร้าที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 เป็นเด็กนักเรียนในพระบรมราชานุเคราะห์ทั้งเรื่องการรับทุนการศึกษาและการเข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ซึ่งสามารถเรียนได้สูงที่สุดตามความสามารถของเด็ก โดยกระทรวง พม. จะดำเนินการประสานขอทุนการศึกษาให้กับเด็กกำพร้าทั้งหมด
ทั้งนี้ หากพบเห็นเด็กกำพร้าจากผลกระทบของโรคโควิด-19 สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่
- ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร.1300 บริการ 24 ชั่วโมง
- สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทั่วประเทศ
- อาสาสมัคร พม. ในพื้นที่