คัดลอก URL แล้ว
ถอดบทเรียน ‘คดีกำนันนก’ ถึงเวลารื้อระบบแล้วหรือยัง!?

ถอดบทเรียน ‘คดีกำนันนก’ ถึงเวลารื้อระบบแล้วหรือยัง!?

จากกรณีคดีอุกฉกรรจ์ที่ลูกน้องของ ‘กำนันนก’ กระหน่ำยิง ‘สารวัตรศิวกร’ ตำรวจทางหลวง เสียชีวิตภายในงานเลี้ยงของบ้านกำนันนก จ.นครปฐม นำไปสู่การคลี่ปมในคดี ทั้งกรณีมูลเหตุจูงใจในการฆ่า กรณีระหว่างเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ด้วย ทั้งระดับ ผกก. ลงไปจนถึงชั้นประทวน แต่กลับปล่อยให้คนร้ายหลบหนีไป รวมถึงมีตำรวจบางส่วนที่ร่วมงานเลี้ยงกลับให้การช่วยเหลือทางฝั่งของกำนันนก ทั้งพาหลบหนี และทำลายหลักฐานต่าง ๆ

แม้ตัวกำนันนกเองจะเข้ามอบตัวตามหมายจับนั้น แต่ลูกน้องมือสังหารต้องจบชีวิตลงเนื่องจากถูกวิสามัญฯ ระหว่างหลบหนี นอกจากนี้ ผกก.เบิ้ม ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของ ‘สารวัตรศิวกร’ ก็จบชีวิตตัวเอง หลังเกิดกดดันจากกระแสสังคมที่มองว่าเป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรมในครั้งนี้

คดีดังกล่าวถูกสังคมตั้งคำถามต่าง ๆ นานา มากมาย ทั้งเรื่องของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ต่าง ๆ ปัญหาส่วย การทุจริตคอร์รัปชัน ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องคอยช่วยเหลือกลุ่มผู้มีอิทธิพลเหล่านี้

เนื่องจากคดีกำนันนกเมื่อเจ้าหน้าที่ยิ่งขุดประวัติธุรกิจของตัวกำนันเอง พบว่าเกิดการทุจริตในการฮั้วประมูลโครงการก่อสร้างระหว่างบริษัทของกำนันนก กับหน่วยงานรัฐ ซึ่งดูเหมือนว่ายิ่งสาวจะยิ่งเจอปัญหาผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ แน่นอนว่างานนี้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดย่อมหนาว ๆ ร้อน ๆ ไปตามกันแน่นอน

ถอดบทเรียน ‘คดีกำนันนก’

ประเด็นแรกที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ คือ ส่วย ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดในคดีกำนันนก เป็นที่ทราบกันดีว่าตัวกำนันเองนั้นประกอบธุรกิจมากมาย หนึ่งในนั้นคือธุรกิจรถบรรทุก ใน จ.นครปฐม ซึ่งการมาของสารวัตรศิวกรนั้น ก็เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาเรื่อง ‘ส่วยรถบรรทุก’ แต่กลับต้องมาจบชีวิต เพราะไม่ต้องการรับส่วยจากกำนัน

เรื่องส่วยรถบรรทุกหากจำกันได้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เป็นประเด็นที่ร้อนไปถึงกลุ่มผู้ประกอบการ คนขับรถบรรทุก ทั่วประเทศ เพราะถูกขุดข้อมูลว่ามีการจ่ายส่วย โดยใช้ ‘สติ๊กเกอร์’ แปะหน้ารถ หรือ หลังรถ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าได้จ่ายส่วยให้ตำรวจเรียบร้อยแล้ว แม้ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐพยายามแก้ไขปัญหานี้

แต่กลับมีกลุ่มคน หรือ ผู้มีอิทธิพล ที่เสียหายจากการถูกล้างบางจนเกิดความไม่พอใจ และกลับใช้พฤติกรรมเดิม ๆ เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างสะดวก

อีกประเด็นหนึ่ง คือ การทุจริตคอร์รัปชัน โดยการฮั้วประมูลของบริษัทก่อสร้างของกำนันนก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่หน่วยงานรัฐต้องรับผิดชอบและตรวจสอบ และเชื่อว่ายังมีอีกหลายโครงการทั่วประเทศที่เป็นการประมูลโครงการระหว่างเอกชนกับหน่วยงานรัฐที่ต้องตรวจสอบอย่างจริงจังมากขึ้น

รวมไปถึงปัญหาขององค์กรตำรวจ จากกรณีที่มีตำรวจนอกแถวคอยช่วยเหลือกลุ่มผู้มีอิทธิพล รวมไปถึงการรื้อระบบของ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน การกวาดล้างผู้มีอิทธิพลต่าง ๆ และอีกหนึ่งปัญหาที่นำไปสู่ความรุนแรงของเหตุการณ์นี้ คือเรื่อง ‘อาวุธปืน’ ซึ่งหลังจากนี้คงต้องมีการรื้อระบบตรวจสอบอย่างเข้มข้นในทุกมิติปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในอนาคต

“ดีเอสไอ” เผย “บริษัทกำนันนก” เข้าข่ายฮั้วประมูล

กรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า ผลการตรวจสอบพบเครือข่ายกำนันนก มีเครือข่ายธุรกิจที่เข้าไปรับงานจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานภาครัฐตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน รวม 1,544 โครงการ วงเงินงบประมาณ 7,579,402,078.72 บาท และวงเงินทำสัญญารวม 6,964,815,249.47 บาท จำนวน 2 บริษัท คือ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด (เข้ารับงาน 923 โครงการ) และบริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด (เข้ารับงาน 621 โครงการ)

มีโครงการที่ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด ได้งานจากภาครัฐที่มีมูลค่าโครงการจำนวนเกิน 30 ล้านบาท จำนวน 18 โครงการ และ บริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ได้งานจากภาครัฐที่มีมูลค่าโครงการจำนวนเกิน 30 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการ

ในจำนวน 20 โครงการนี้ มีข้อมูลที่มีเหตุอันควรสงสงสัยจะมีการได้เข้าทำสัญญากับภาครัฐโดยไม่โปร่งใส มีลักษณะอันอาจเข้าข่ายตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อมีวัตถุประสงค์เข้าทำสัญญากับรัฐโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยกีดกันไม่ให้มีการเสนอราคาอันมิใช่เป็นการประกอบธุรกิจปกติ

กรมการปกครอง ออกหนังสือคุมเข้ม กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน

ภายหลังเกิดเหตุดังกล่าว ทางอธิบดีกรมการปกครอง ได้มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เรื่อง มาตรการควบคุม กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ

โดยหากปรากฏว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประพฤติปฏิบัติตนไม่ถูกต้องเหมาะสม ไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมายนโยบายของรัฐบาล หรือกระทำตนเป็นผู้มีอิทธิพล ให้นายอำเภอ พิจารณาตามมาตรการ

หยุดการวิ่งเต้น-โยกย้าย การโกงเอาตำแหน่ง

จากเหตุสลดในคดีกำนันนก ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวเรื่องนี้ โดยระบุว่า คดีนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของระบบราชการที่ล้มเหลวเต็มไปด้วยการทุจริตคดโกง อันสืบเนื่องมาจากการบริหารจัดการที่ขาดธรรมาภิบาล ไม่รู้จักผิดชอบชั่ว ปล่อยให้ข้าราชการที่ไม่ดีไร้เกียรติก้มหัวเข้าหายอมเป็นเครื่องมือให้กับผู้มีอิทธิพล

ในขณะที่ข้าราชการน้ำดีมักจะถูกกลั่นแกล้งกดหัวจนถึงขั้นเอาชีวิต ดั่งที่เพิ่งปรากฏเป็นข่าวที่สะเทือนขวัญของคนไทยในขณะนี้

“การซื้อขายตำแหน่งการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมต้องหมดไป ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ ปัญหาคอร์รัปชันจะลดลง มีความโปร่งใส เป็นธรรมเพิ่มขึ้น สร้างความยอมรับนับถือจากทั่วโลก ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน”

ปัญหา ‘อาวุธปืน’ อีกหนึ่งต้นตอสู่ความรุนแรง

ทราบหรือไม่ว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับเรื่องจำนวนอาวุธปืนมากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และติดในท็อบบนของโลก ด้วยจำนวนปืนกว่า 10 ล้านกระบอก แบ่งเป็นถูกกฎหมายกว่า 6 ล้านกระบอก และผิดกฎหมายอีกกว่า 4 ล้านกระบอก

ซึ่งในกรณีของกำนันนกนั้นก็ได้รับสิทธิ์ตามระเบียบของกรมการปกครอง โดยผู้มีสิทธิสั่งซื้ออาวุธปืนสวัสดิการกรมการปกครอง ข้าราชการสังกัดกรมการปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน สมาชิกอาสารักษาดินแดน (อส.) พนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พนักงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทย

แม้ทางกรมการปกครองจะมีการสร้างศูนย์เพื่อจัดเก็บหัวกระสุนปืน แต่มีข้อจำกัดที่สามารถเก็บได้แต่อาวุธที่เข้ามาใหม่เท่านั้น ส่วนในกรณีอาวุธปืนประเภท บีบีกัน และแบงก์กัน ไม่เข้าข่ายอยู่ในอาวุธปืน แต่ในกรณีที่มีการปรับแต่งและสามารถใช้กระสุนจริงได้นั้นก็ถือว่าผิด แต่หากจะรวมปืน 2 ชนิดนี้ ต้องไปแก้ข้อกฎหมายเพิ่มเติม

หลังจากนี้คงต้องติดตามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน , เรื่องส่วย , เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง คอยสนับสนุนช่วยเหลือเหล่าผู้มีอิทธิพล , การฮั้วประมูลโครงการต่าง ๆ , ปัญหาอาวุธ จะมีการแก้ไขอย่างไรต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง