คัดลอก URL แล้ว
วิกฤติแอฟริกาตะวันตก ECOWAS กำหนดวันดีเดย์ บุกไนเจอร์แล้ว

วิกฤติแอฟริกาตะวันตก ECOWAS กำหนดวันดีเดย์ บุกไนเจอร์แล้ว

กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งรัฐแอฟริกาตะวันตก หรือ ECOWAS ได้ออกประกาศระบุว่า ได้มีการเลือกวันดีเดย์ ที่จะเดินหน้าแทรกแซงทางทหารต่อไนเจอร์ ภายหลังจากการยึดอำนาจภายในประเทศไนเจอร์ เมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการส่งตัวแทนเข้าไปเจรจากับผู้นำทางทหารของไนเจอร์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีมาตรการคว่ำบาตรต่อไนเจอร์ไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น การระงับการค้าขายระหว่างประเทศ, การตัดไฟฟ้าที่ส่งให้แก่ไนเจอร์ รวมถึงการสั่งห้ามยานพาหนะของประเทศไนเจอร์เดินทางผ่านพรมแดนของชาติสมาชิกด้วย

นายอับเดล-ฟาเตา มูซาห์ กรรมาธิการฝ่ายการเมือง สันติภาพ และความมั่นคงของ ECOWAS ระบุว่า ในขณะนี้ยังคงมีความพยายามทางการทูตในการเดินหน้าหาทางออกให้แก่ไนเจอร์ ส่วนแผนที่จะมีการเดินหน้าใช้กำลังทหารแทรกแซงต่อไนเจอร์ ก็ยังคงมีการดำเนินการคู่ขนานกันไป

แต่ที่ผ่านมา ผู้นำทางทหารของไนเจอร์ปฏิเสธการเจรจากับตัวแทนของกลุ่ม ECOWAS

หัวหน้าฝ่ายกลาโหมของกลุ่ม ECOWAS ได้ระบุว่า จะมีการประชุมรายละเอียดทางทหารที่เมืองอักกรา, ประเทศกานา เพื่อปรับแนวทางในการฟื้นฟูประชาธิบไตย ทวงคืนอำนาจให้แก่ประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด บาซูม ที่ยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ ภายหลังจากถูกยึดอำนาจ

ซึ่งนายมูซาห์ ได้ระบุว่า กลุ่ม ECOWAS ได้มีการกำหนด “วันดีเดย์” ในการใช้กำลังทหารต่อไนเจอร์แล้ว แต่ยังไม่เปิดเผยวันและเวลาว่าจะมีขึ้นเมื่อใด แต่ในกลุ่มประเทศ ECOWAS นั้นได้มีคำสั่งให้เตรียมพร้อมกำลังทหารไว้แล้ว ก็พร้อมที่จะเคลื่อนพลเข้าแทรกแซงไนเจอร์ทันที ด้วยทรัพยากรที่ทางกลุ่มมี และยินดีหากกลุ่มพันธมิตรอื่น ๆ นอกเหนือจากชาติในกลุ่ม ECOWAS ต้องการสนับสนุน

โดยชาติสมาชิกในกลุ่ม ECOWAS นั้น มีเพียงมาลี บูร์กินาฟาโซ กินี และกาบูเวร์ดี ที่ปฏิเสธไม่เข้าร่วมการแทรกแซงทางทหารต่อไนเจอร์ ซึ่งในกลุ่มประเทศเหล่านี้ อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารที่ผ่านการยึดอำนาจมากก่อนหน้าประเทศไนเจอร์

ปูตินเรียกร้องแก้ปัญหาอย่างสันติ

มีรายงานระบุว่า เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้มีการต่อสายตรงถึงพันเอก อัสซิมี โกยตา ผู้นำทางทหารของประเทศมาลี โดยแสดงความเห็นต้องการให้มีการพูดคุยเจรจาเพื่อหาทางออกอย่างสันติ

ซึ่งประเทศมาลี ได้ประกาศตั้งแต่แรกว่า จะยืนยันอยู่เคียงข้างไนเจอร์ และการที่กองกำลังใด ๆ บุกโจมตีไนเจอร์ ก็จะถือว่า เป็นการประกาศสงครามกับประเทศมาลีด้วย เช่นเดียวกับประเทศบูร์กินาฟาโซ

กระแสต่อต้านใช้กำลังทหารกับไนเจอร์

ท่ามกลางความตึงเครียดในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ไนจีเรีย หนึ่งในชาติในกลุ่ม ECOWAS และเป็นหัวหอกในการเดินหน้าใช้กำลังทหารกับรัฐบาลทหารของไนเจอร์ ก็ยังคงเผชิญความวุ่นวายภายในประเทศ จากประชาชน รวมถึงสมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการแทรกแซงทางทหารต่อไนเจอร์ ที่แสดงความกังวลต่อสงครามที่อาจจะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น

โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาภูมิภาคซาเอล ที่เชื่อมโยงกับหลายประเทศเผชิญปัญหาความยากจน และความมั่นคง จากความขัดแย้งของกลุ่มต่าง ๆ และเชื่อมโยงถึงกลุ่มอัลกออิดะห์ – ไอซิส ส่ผลให้มีผู้อพยพหนีความขัดแย้งนับล้านคนในช่วงที่ผ่านมา

การเปิดฉากการใช้กำลังทหารใด ๆ ในภูมิภาคจึงมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในกลุ่มเปราะบาง ในภูมิภาคที่ยากจนที่สุดพื้นที่หนึ่งของโลก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง