คัดลอก URL แล้ว
ทุกประเด็น รัฐประหารในไนเจอร์ ทำไมสะเทือนยุโรป จับตาลามเป็นสงครามใหม่

ทุกประเด็น รัฐประหารในไนเจอร์ ทำไมสะเทือนยุโรป จับตาลามเป็นสงครามใหม่

สถานการณ์ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกภายหลังจากที่ ผู้นำทางทหารของไนเจอร์ได้ทำการจับกุมตัวและยึดอำนาจของประธานาธิบดีบาซูม และนำไปสู่ความกังวลใจต่อท่าทีที่เกิดขึ้นภายหลังจากผู้นำทางทหารที่ขึ้นมารับตำแหน่งใหม่ รวมถึงท่าทีที่เกิดขึ้นจากกลุ่มชาติแอฟริกาตะวันตก หรือ ECOWAS ที่มีการประกาศคว่ำบาตรและขีดเส้นตายให้คณะรัฐประหารปล่อยตัวประธานาธิบดีบาซูม พร้อมทั้งคืนอำนาจกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย หากพ้นเส้นตายไปแล้ว จะพิจารณาใช้กำลังต่อไนเจอร์ต่อไป

ทางด้านของสหรัฐฯ สหภาพยุโรปนำโดยฝรั่งเศส แสดงท่าทีไม่ยอมรับการยึดอำนาจที่เกิดขึ้น นำไปสู่การตอบโต้ของผู้นำคณะรัฐประหารของไนเจอร์ที่ค่อนข้างแข็งกร้าว โดยมีการตัดความช่วยเหลือ เงินสนับสนุนบางส่วนจากสหภาพยุโรป มีการสั่งอพยพประชาชนของตนเองออกจากไนเจอร์ แต่ยังคงท่าทีและความเคลื่อนไหวของกำลังทหารต่างชาติในพื้นที่อยู่ เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ และฝรั่งเศสต่างมีฐานทัพอยู่ในไนเจอร์

ท่าทีของกลุ่ม ECOWAS

กลุ่มประชาคมเศรษฐกิจแห่งชาติแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) ภายหลังจากที่มีมติในการคว่ำบาตรต่อไนเจอร์ และขีดเส้นตายโดยอ้างถึงการใช้กำลังทหาร หากพ้นกำหนดต่อไนเจอร์ ได้มีการส่งตัวแทนไปร่วมเจรจากับผู้นำที่ถูกแต่งตั้งขึ้นภายหลังจากการยึดอำนาจ

ผลการเจรจาไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้บรรดาชาติทั้งหมดต้องกลับมาพูดคุยกันอีกครั้งถึงมาตรการถัดไปที่จะดำเนินการต่อไนเจอร์ รวมถึงมาตรการทางทหารด้วย ซึ่งถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทั้งกลุ่มชาติแอฟริกาตะวันตก สหรัฐฯ สหภาพยุโรปที่นำโดยฝรั่งเศสไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ในมุมของกลุ่มชาติในแอฟริกาตะวันตก ยังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ความพร้อมในการส่งกองกำลังออกไปปฏิบัติการนั้นดูจะกระทบต่อความมั่นคงมากกว่า ทางด้านของไนจีเรียที่อยู่ติดกับไนเจอร์ และเป็นชาติแรกที่ดำเนินการคว่ำบาตร “ตัดไฟฟ้า” ไปยังไนเจอร์ ทันที พร้อมทั้งขู่ใช้กำลังทหาร ก็กำลังกลับมาคิดใหม่อีกครั้ง ภายหลังจากเผชิญแรงกดดันจากประชาชนในประเทศที่ไม่ต้องการให้ไนจีเรียใช้กำลังต่อไนเจอร์ โดยมีเหตุผลคือ ความมั่นคง และความพร้อมของกองทัพ รวมไปถึงกระแสลึก ๆ ที่ “ไม่ชอบพอใจฝรั่งเศส” มากเท่าใดนัก

ตัวแทนรัฐบาลทหารของไนเจอร์ออกมาพบประชาชนกว่า 3 หมื่นคนที่ออกมารวมตัวกันในสนามกีฬาเพื่อสนับสนุนการยึดอำนาจ
(ภาพ – Général Abdourahmane Tchiani)

นอกจากนี้ ประเทศมาลี, บูรกินาฟาร์โซ และ กินี ก็ได้ออกมายืนข้างเดียวกับไนเจอร์ และพร้อมจะเผชิญหน้ากับประเทศอื่น ๆ ที่โจมตีไนเจอร์ด้วย ยังไม่นับความสัมพันธ์ระหว่างกองกำลังรับจ้าง วากเนอร์ ที่อยู่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีรายงานอ้างว่า ได้มีการติดต่อไปยังกลุ่มวากเนอร์แล้ว และ เยฟเกนี พริโกซิน หัวหน้าของกลุ่มวากเนอร์ก็ได้กล่าวถึงเหตุการยึดอำนาจในไนเจอร์ว่า กลุ่มวากเนอร์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการยึดอำนาจ แต่ถือเป็นข่าวดีที่ชาวแอฟริกาจะปลดเอกจากเจ้าอาณานิคมตะวันตกอย่างแท้จริง

อดีตเจ้าอาณานิคมในภูมิภาค

ในการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นในไนเจอร์นั้น เป็นหนึ่งในโดมิโน่ที่สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ มีความกังวลต่อสิ่งที่เกิดขึ้นค่อนข้างมา เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีการยึดอำนาจในมาลีและบูร์กินาฟาโซ ทำให้ไนเจอร์เป็นพันธมิตรหลายของฝรั่งเศสและสหรัฐฯ ในป้องกันไม่ให้การยึดอำนาจนั้นลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยทั้งสหรัฐฯ และฝรั่งเศสมีฐานทัพของตนอยู่ในประเทศไนเจอร์ และการยึดอำนาจในไนเจอร์นำไปสู่การยกเลิกข้อตกลงความร่วมมือทางทหารกับฝรั่งเศส 2 ฉบับ คือ ในปี 1977 และ ปี 2020

สาเหตุที่ฝรั่งเศสมีบทบาทในแถบแอฟริกาตะวันตกนี้ค่อนข้างมาสืบเนื่องจากหลายชาติในภูมิภาคนี้ “เป็นอาณานิคม” ของฝรั่งเศสมาก่อน ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม ทำให้ฝรั่งเศสยังคงมีอำนาจในภูมิภาคนี้ตลอดมา

ประเทศไนเจอร์เอง เป็นหนึ่งในชาติอาณานิคมของฝรั่งเศสมาจนกระทั่งในปี 1970 ที่ฝรั่งเศสตัดสินใจในการให้อิสระภาพแก่ไนเจอร์ และมีข้อตกลงความร่วมมือทางทหารกับไนเจอร์ ตั้งแต่ปี 1977

การปฏิวัติในมาลีและ บูร์กินาฟาโซ ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้ฐานอำนาจของฝรั่งเศสสั่นคลอนอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของรัสเซียและจีนในภูมิภาคแอฟริกา นำไปสู่การจัดตั้งกองกําลัง G5-Sahel ของสหประชาชาติจำนวน 1.5 หมื่นนาย โดยทางฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทหารกว่า 5,000 นายมายังภูมิภาคนี้ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงเป็นครูฝึกให้กับทหารในประเทศต่าง ๆ

ซึ่งกองกำลังทหารของไนเจอร์ ก็เป็นหนึ่งในกองกำลังที่ได้รับการฝึกสอนจากฝรั่งเศสด้วย

ไนเจอร์กับสหภาพยุโรป

ไนเจอร์ ยังเป็นหนึ่งในคีย์สำคัญของสหภาพยุโรป ซึ่งที่ผ่านมาสหภาพยุโรปที่นำโดยฝรั่งเศสได้สนับสนุนไนเจอร์ผ่านความช่วยเหลือต่าง ๆ มากมายนอกเหนือจากกองกำลังทหารในปฏิบัติการทาคูบา โดยในแต่ละปี สหภาพยุโรปได้ใช้เงินกว่า 8 พันล้านยูโรป ในภารกิจด้านความมั่นคงและมนุษยธรรมตั้งแต่ปี 2014 ผ่านชาติพันธมิตรในภูมิภาคซาเฮล 12 ประเทศ

ซึ่งในการยึดอำนาจที่ประเทศมาลี และบูร์กินาฟาโซนั้นสะท้อนความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนขึ้นของรัสเซีย ผ่านกองกำลังรับจ้างอย่างกลุ่มวากเนอร์ ที่เกิดขึ้นทำให้สหภาพยุโรปเผชิญกับความเสี่ยงมากขึ้น และเหลือเพียงไนเจอร์เป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นฐานหลัก

โดยทั้งในมาลี บูร์กินาฟาโซ รวมถึงไนเจอร์ มีกระแสของการมองว่า ฝรั่งเศสและยุโรป กำลังสร้างรูปแบบของ Neocolonialism หรือแนวคิดอาณานิคมแนวใหม่ ผ่านระบบเศรษฐกิจและการเมืองต่อประเทศในภูมิภาค การให้อิสรภาพแก่อาณานิคมของฝรั่งเศสและตะวันตกนั้ นเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านจากอาณานิคมแบบดั้งเดิม สู่ แบบใหม่เท่านั้น

หนึ่งในประเด็นสำคัญของไนเจอร์ ที่ทำให้สหภาพยุโรปต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั่นคือ “ท่อก๊าซ” ซึ่งภายหลังจากที่รัสเซียได้เปิดฉากโจมตีต่อยูเครน นำไปสู่การคว่ำบาตรต่อรัสเซียและหนึ่งในจุดสำคัญคือ การระงับการนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย

ทำให้สหภาพยุโรปหันไปหาก๊าซจากประเทศในแอฟริกามากขึ้น และในปี 2022 ที่ผ่านมา แอลจีเรีย ไนจีเรีย และไนเจอร์ลงนาม MOU ในโครงการท่อส่งก๊าซทรานส์ซาฮาราระยะทางกว่า 4,000 กิโลเมตร (2,500 ไมล์) มูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่จะสามารถส่งก๊าซปริมาณ 1 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี ไปยังยุโรปได้ ผ่านแอลจีเลีย

และการทำรัฐประหารในประเทศไนเจอร์ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อโครงการนี้อย่างมาก

เหมืองยูเรเนียม

นอกจากปัญหาของท่อก๊าซที่เชื่อมต่อไปยังแอลจีเลีย เพื่อส่งไปยังยุโรปแล้ว ไนเจอร์ยังคงเป็นแหล่งแร่ยูเรเนียมที่สำคัญ โดยเฉพาะกับฝรั่งเศสอีกด้วย โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไนเจอร์ส่งออกยูเรเนียมสู่ตลาดโลกปีละราว 5-6% มาโดยตลอด โดยมีเหมืองแร่ขนาดใหญ่สำคัญ ๆ 3 แห่งด้วยกันคือ

โดยกำลังการผลิตหลัก ๆ ในขณะนี้ มาจากแหล่งตั้ง ๆ ในแต่ละปีนั้น จะได้จากแหล่ง Alit มากที่สุด ในขณะที่แหล่ง Azelik ผลผลิตในช่วงหลังไม่เป็นไปตามเป้า มีปริมาณกำลังผลิตต่ำกว่าที่คาดไว้ ส่งผลให้ประสบปัญหาขาดทุนและปิดเหมืองเป็นการชั่วคราวจากปัญหาเรื่องเงินทุน

ปี20152016201720182021
แหล่ง Alit27262164211617831996
แหล่ง Akouta1607131313321128190
แหล่ง Azelik00000
รวมทั้งหมด41163477344921862186
* หน่วยเป็นตัน

แม้ว่า กำลังผลิตยูเรเนียมที่ได้จากไนเจอร์ จะมีปริมาณเพียง 5% ของตลาดโลก แต่ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังฝรั่งเศสและยุโรป โดย หน่วยงานนิวเคลียร์ของสหภาพยุโรประบุว่า มีการนำเข้าจากไนเจอร์ราว 1/4 ดังนั้นยังไม่ได้รับผลกระทบในขณะนี้

ทางด้านของฝรั่งเศสเองก็ยังคงประเมินว่า ผลกระทบจากการยึดอำนาจในไนเจอร์จะไม่ส่งผลกระทบต่อฝรั่งเศสแต่อย่างใด เนื่องจากมีการสั่งซื้อจากคาซัคสถาน และออสเตรเลีย อยู่แล้ว อยู่ที่ 20%, 19% ตามลำดับ ส่วนปริมาณการนำเข้ายูเรเนียมจากไนเจอร์อยู่ที่ 18%

หนังสือแจ้งถอนสนธิสัญญาทางทหารของทางการไนเจอร์ต่อฝรั่งเศส

กังวลสมรภูมิใหม่นอกเหนือจากยูเครน

จากท่าทีของกลุ่ม ECOWAS ที่ระบุว่า อาจจะใช้กำลังต่อไนเจอร์ หากพ้นเส้นตายที่กำหนดไว้ และแม้ในขณะนี้จะเลยเส้นตายดังกล่าวแล้ว ก็ยังไม่มีการยกกองกำลังเข้าสู่ไนเจอร์ แต่มีการประกาศจะมีการประชุมเร่งด่วนในกลุ่มชาติแอฟริกาตะวันตกอีกครั้ง ถึงมาตรการดำเนินการต่อไป

ในขณะที่สหรัฐฯ ก็เปิดประตูเข้าไปเจรจา เพื่อหวังจะยุติปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ให้ได้ ซึ่งหลายชาติต่างกังวลถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น หากมีการใช้กำลังต่อไนเจอร์ตามที่คาดจริง

เนื่องจากหากไนจีเรียเปิดฉากการสู้รบกับไนเจอร์ ภายใต้เงื่อนไขของ ECOWAS นั่นจะส่งผลให้เปิดการเปิดประตูสู่การสู้รบที่อาจจะขยายวงกว้างขึ้น ภายหลังจากที่ประเทศมาลี ประกาศพร้อมสู้กับประเทศใด ๆ ที่บุกไนเจอร์ด้วย สงครามที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างมาก มีการอพยพของประชาชนเพื่อหนึภัยสงครามไปยังประเทศต่าง ๆ ส่งผลให้ประเทศที่เปราะบางได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง

ซึ่งหากการสู้รบนั้นลุกลาม ย่อมเลี่ยงใหม่ได้ที่จะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จะต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่รัสเซีย และกลุ่มวากเนอร์ อาจจะเข้ามามีส่วนร่วมในการสู้รบ และนั่นจะทำให้ ภูมิภาคนี้ กลายเป็นอีกสมรภูมิหนึ่งที่คู่ขนานไปกับยูเครนหรือไม่?

ภาพการประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำของไนเจอร์กับตัวแทนรัฐบาลทหารของประเทศมาลีและบูร์กินาฟาร์โซ
(ภาพ – RTN Niger)

ที่ผ่านมา ภายหลังจากการยึดอำนาจในประเทศมาลี ในปี 2020 และ 2021 กองกำลังวากเนอร์ได้ถูกจ้างให้เข้ามารับบทบาทในมาลี แทนกองกำลังของสหประชาชาติและชาติตะวันตกอื่น ๆ และในขณะนี้ กองกำลังวากเนอร์ก็ยังคงอยู่ในประเทศมาลี ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่วากเนอร์จะเข้ามาเป็นหนึ่งในกองกำลังสนับสนุนให้กับไนเจอร์ หากถูกโจมตี และนั่นจะทำให้รัสเซียเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ได้มากขึ้น ซึ่งหากรัสเซียเข้ามาสนับสนุนในภูมิภาคนี้อีก ก็จะส่งผลให้การสู้รบมีโอกาสที่จะขายวงกว้าง ลุกลามได้มากขึ้น

นั่นจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะจะส่งผลกระทบกับความมั่นคงของประชาคมโลกมากขึ้น กลายเป็นสมรภูมิที่สองที่อยู่นอกยุโรประหว่างชาติตะวันตก และรัสเซียอีกหนึ่งแห่ง


ข้อมูล –


ข่าวที่เกี่ยวข้อง