คัดลอก URL แล้ว
ไม่ใช่แค่”ฮานาโกะ” แต่ยังมี “มิยาโกะ” หนึ่งในช้างไทยที่โดดเดี่ยวมา 49 ปี

ไม่ใช่แค่”ฮานาโกะ” แต่ยังมี “มิยาโกะ” หนึ่งในช้างไทยที่โดดเดี่ยวมา 49 ปี

หลังจากที่ไทยได้มีการนำพลายศักดิ์สุรินทร์กลับมายังประเทศไทย เพื่อรักษาอาการป่วย หลังถูกส่งไปอยู่ในศรีลังกานานกว่า 20 ปี และมีหลายคนพูดถึงช้างไทยที่ชื่อว่า “ฮานาโกะ” ช้างไทยที่ถูกขนานนามว่า เป็นช้างผู้โดดเดี่ยวที่สุดในโลก และเสียชีวิตไปเมื่อปี 2559 ในคอกคอนกรีตแคบ ๆ

แต่ไม่ใช่ฮานาโกะเชือกเดียว ยังมีช้างไทยอีกมากกว่าหนึ่งที่อยู่ในญี่ปุ่น และที่น่าสงสารที่สุดในขณะนี้คือ “มิยาโกะ” ช้างไทยอายุ 49 ปี ที่ใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว หลังจากถูกส่งไปยังญี่ปุ่นตั้งแต่อายุ 6 เดือน และยังคงอยู่ในส่วนจัดแสดงเพียงตัวเดียวมากว่า 40 ปีแล้ว ในสวนสัตว์อุตสึโนมิยะ

สภาพที่อยู่ของ “มิยาโกะ” ในสวนสัตว์อุตสึโนมิยะ (ภาพ – Elephant in Japan)

มิยาโกะ ช้างผู้โดดเดี่ยวและยังมีชีวิตอยู่

มิยาโกะเป็นชื่อของช้างเพศเมีย ตามข้อมูลที่มีบันทึกไว้ เกิดในปี 1973 ที่ประเทศไทย โดยถูกส่งไปที่ประเทศญี่ปุ่นในปีเดียวกัน หลังอายุได้ 6 เดือน และเมื่อเดินทางมาถึงญี่ปุ่น ก็มาอยู่ที่สวนสัตว์ในเมืองอุตสึโนมิยะตัวเดียวตั้งแต่นั้น

ปัจจุบันพื้นที่อยู่ของมิยาโกะ มีพื้นที่ 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นอาคารที่พัก ขนาดประมาณ 5×5 เมตร และส่วนพื้นที่ด้านนอกอาคารขนาด 8.5×12 เมตร และมีคูน้ำลึก 2 เมตร กั้นอยู่นะหว่างพื้นที่ของช้าง และส่วนของผู้เช้าชมสวนสัตว์

ซึ่งสุขภาพส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี เท้าและขายังคงดูแข็งแรงดี อาจจะมีปัญหาในเรื่องของเล็บเท้าบาง และไม่ได้เผชิญชะตากรรมแบบเดียวฮานาโกะ มีผู้คนที่ยังแวะเวียนไปเยี่ยมชมมิยาโกะอยู่เป็นระยะ ๆ แต่ด้วยพื้นที่ขนาดเล็ก ไม่มีกิจกรรมใด ๆ ให้ได้ผ่อนคลาย นี่กำลังเป็นปัญหาที่ผู้เกี่ยวข้องควรจะต้องแก้ไข เพื่อให้มิยาโกะได้ใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายที่มีความสุขมากกว่านี้

มิยาโกะพยายามยื่นงวงมารับอาหารจากผู้เข้าชม (ภาพ – Elephant in Thailand)

ความน่ากังวล

ด้วยความที่มิยาโกะเป็นช้างเพียงตัวเดียวในสวนสัตว์แห่งนี้ และผู้เข้าชมก็ไม่ได้มีมากนัก Ulara Nakagawa ผู้ก่อตั้ง Elephants in Japan ระบุว่า ในแต่ละวัน ช้างไม่ได้มีกิจกรรมอื่นใด ที่ได้ผ่อนคลายมากนัก ในขณะที่ผู้เข้าชมที่แวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชมเป็นส่วนหนึ่งของการมีปฏิสัมพันธ์ และช่วยผ่อนคลายได้บ้าง แต่เวลาส่วนใหญ่ มิยาโกะเดินไปมาอยู่ตัวเดียวในพื้นที่ลานด้านนอกอาคาร หลายครั้งที่มีอาการบ่งบอกถึงสภาวะเครียด เช่นการกัดแทะท่อยางที่อยู่ในบริเวณพื้นที่

ซึ่งการมีผู้ชมเข้ามาเยี่ยมชมจึงเป็นหนึ่งในการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งอื่น ๆ นอกเหนือจากผู้ดูแล แต่หลายครั้งที่การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมและช้างมิยาโกะก็กลายเป็นความเสี่ยง เนื่องจากมิยาโกะจะมายืนอยู่บริเวณริมคูน้ำ เพื่อยื่นงวงมารับอาหารที่ผู้เข้าชมยื่นให้

ภาพ – Elephant in Japan

ซึ่งทางกลุ่ม Elephant in Japan ได้มีการรวบรวมข้อมูลและได้แจ้งต่อผู้เกี่ยวข้องถึงการปรับรูปแบบ หรือย้ายช้าง มิยาโกะไปยังสวนสัตว์แห่งอื่น ๆ ที่ใหญ่กว่านี้ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ แม้ว่า จะได้มีการนำรายชื่อผู้ที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหานี้กว่า 4 แสนรายชื่อแล้วก็ตาม

แต่ด้วยกฎระเบียบและข้อกฏหมายที่ยังไม่มีความชัดเจน หรือกำหนดในเรื่องของสวัสดิภาพของสัตว์ทั้งการคุ้มครอง การประเมินผลและติดตาม ทำให้ในการดำเนินการต่าง ๆ จึงดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายในการที่จะย้าย มิยาโกะ ไปรวมช้างเอเชียเชือกอื่น ๆ ในญี่ปุ่น

เปิดรับสมัครแฟนคลับระดมทุน

ทางด้านของสวนสัตว์อุตสึโนมิยะ ได้มีการเปิดระดมทุน เพื่อเตรียมที่จะขยายพื้นที่ในส่วนจัดแสดงของ “มิยาโกะ” เพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพของช้างมิยาโกะที่มีอายุมากถึง 49 ปี เพื่อช่วยให้มิยาโกะมีสุขภาพที่ดีขึ้น เมื่อวันที่ 1 ก.ค.

แต่โครงการดังกล่าวเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น จึงทำให้ในขณะนี้ ยังคงต้องรอความคืบหน้าถึงการที่จะมีการขยับขยายพื้นที่หรือปรับพื้นที่เพิ่มเติม ในขณะที่กลุ่มผู้รักช้างในญี่ปุ่น ยังคงมีความเห็นว่า ควรจะมีการย้ายช้างที่อยู่อยากโดดเดี่ยวหลายเชือกในสวนสัตว์ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะนอกเหนือจากมิยาโกะแล้ว ยังมี ซันนี่, ฟูโกะ และ เทรุ อีก 3 เชือกที่เผชิญกับการอยู่อย่างโดดเดี่ยวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง