KEY :
- ธนาคารกลางอินเดีย ประกาศเลิกใช้ธนบัตร 2,000 รูปี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
- โดยให้ประชาชนสามารถฝากหรือแลกเปลี่ยนธนบัตรมูลค่าต่ำกว่าได้ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม ถึง 30 กันยายน 2023
- การยกเลิกดังกล่าวนั้น เป็นการดำเนินการตามโครงสร้างนโยบาย “Clean Note Policy” เนื่องมาจากทาง RBI มองว่า การผลิตธนบัตรต่าง ๆ เพียงพอในระบบแล้ว
…
‘เงิน’ เป็นปัจจัยหลักที่ใช้ในการจ่าย ชำระ ทำธุรกรรมต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีการใช้สกุลเงินที่แตกต่างกันออกไป ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่ามีหลายประเทศ บ้างก็มีการผลิต และยกเลิก เหรียญ หรือ ธนบัตร ต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่นเดียวกับประเทศอินเดีย ที่ล่าสุดทางการของอินเดีย ได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ในการประกาศเลิกใช้ธนบัตร 2,000 รูปี
ประเทศอินเดีย ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยพื้นที่ 3,287,590 ตารางกิโลเมตร เศรษฐกิจของอินเดียมีขนาดเป็นอันดับที่ 11 ของโลกเมื่อวัดด้วยค่า GDP เป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าเกิดใหม่โดยมีจำนวนประชากรมหาศาล เช่นเดียวกับทรัพยากรทางธรรมชาติและบุคลากรมืออาชีพมีทักษะที่เพิ่มมากขึ้น
โดยอินเดียเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่สามารถส่งออกแรงงานในสาขาต่าง ๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร พยาบาลไปทำงานทั่วโลก อินเดียมีทรัพยากรแร่ธาตุมากมาย เป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรายสำคัญของโลก
การธุรกรรมทางการเงินในช่วงก่อนปี 2016 จากข้อมูลพบว่าประชาชนอินเดียกว่าครึ่งส่วนใหญ่ยังนิยมถือครองเงินสดในการทำธุรกรรมทางการเงิน มากกว่าการใช้ธุรกรรมแบบดิจิดัล
ทำไมต้องยกเลิกธนบัตร 2,000 รูปี
จากข้อมูลพบว่าธนบัตร 2,000 รูปี หมุนเวียนอยู่ที่ 3.26 แสนล้านรูปี ซึ่งคิดเป็น 10.8% ของสกุลเงินทั้งหมดที่หมุนเวียน โดยธนบัตรมูลค่า 2,000 รูปี มีการเปิดตัวและนำมาใช้ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2016 เพื่อเข้ามาทดแทนการยกเลิก ธนบัตร 500 และ 1,000 รูปี ที่หมุนเวียนอยู่ในขณะนั้น
ซึ่งมีการกำหนดระยะเวลาการใช้งานประมาณ 4-5 ปี ซึ่งมาตรการดังกล่าวเพื่อเป็นการเพิ่มความต้องการในสกุลเงินของเศรษฐกิจภายในประเทศในได้อย่างรวดเร็ว และมีการหยุดพิมพ์ธนบัตร 2,000 รูปี ในช่วงปี ค.ศ.2018-2019 เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่รับบาลกำหนดไว้
การยกเลิกธนบัตร 2,000 รูปี หลายฝ่ายมองว่าผู้คนในประเทศไม่นิยมใช้ธนบัตร 2,000 รูปี ในชีวิตประจำวันมากเท่าไรนัก
รวมถึงเศรษฐกิจภายในประเทศและพฤติกรรมของประชาชน ผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ปรับตัวเข้าสู่ธุรกรรมแบบดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการถือเงินสดในการใช้จ่ายจึงลดลงตามไปด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ถกเถียงกันในเรื่องธนบัตร 2,000 รูปี ที่เป็นช่องโหว่สู่การทุจริตต่าง ๆ ทั้งธนบัตรปลอม ปัญหาเงินนอกระบบ การฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่ รวมถึงธุรกิจมืดผิดกฎหมาย เองก็ตาม
โดยธนาคารกลางอินเดีย หรือ RBI ได้ให้เหตุผลเกี่ยวกับการประกาศดังกล่าวเพิ่มเติมไว้ว่า การยกเลิกดังกล่าวนั้น เป็นการดำเนินการตามโครงสร้างนโยบาย “Clean Note Policy” เนื่องมาจากทาง RBI มองว่า การผลิตธนบัตรต่าง ๆ เพียงพอในระบบแล้ว
อย่างไรก็ตามธนบัตร 2,000 รูปี ยังคงสถานะทางกฎหมายและสามารถใช้ทำธุรกรรมได้ตามปกติ ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2023 โดยในระหว่างนี้ให้ประชาชนที่ถือธนบัตรจำนวนดังกล่าวสามารถไปแลกเปลี่ยนธนบัตรได้
ไม่ใช่ครั้งแรกในการยกเลิกธนบัตรในอินเดีย
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 อินเดียเคยมีการประกาศยกเลิกธนบัตรชนิด 500 และ 1,000 รูปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากในช่วงเวลานั้นคนนิยมถือเงินสดในการทำธุรกรรม อีกทั้งธุรกรรมแบบดิจิทัลยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร เนื่องจากการเข้าถึงธุรกรรมแบบดิจิทัลยังอยู่ในวงที่จำกัด โดยนโยบายเร่งด่วนนี้มุ่งหวังว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องเงินนอกระบบ
โดยรัฐบาลอินเดียหวังสกัดการคอร์รัปชันภายในประเทศ และผลักดันการใช้ธุรกรรมดิจิทัลมากยิ่งขึ้น เพื่อลดช่องโหว่ต่อการทุจริตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งการหลีกเลี่ยงภาษี การคอร์รัปชัน และธุจกิจมืด
ซึ่งมันส่งผลดีต่อกระบวนการตรวจสอบมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อันเนื่องมาจากการผลักดันนโยบายที่ควบคุมทางด้านภาษี โดยทางการอินเดียได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยหลีกเลี่ยงภาษี หรือ ผู้ที่ยื่นภาษีไม่ครบถ้วน สามารถยื่นภาษีได้ใหม่ได้ ซึ่งง่ายต่อการตรวจสอบของทางการและขจัดการคอร์รัปชันได้ในระดับหนึ่ง
หลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น กรณียกเลิกธนบัตร 2,000 รูปี
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่ากรณียกเลิกธนบัตร 2,000 รูปี นั้น ไม่ใช่ครั้งแรกของอินเดีย ซึ่งธนบัตรดังกล่าวก็ยังสามารถใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่กำหนดใช้ได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2023 เท่านั้น
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็มองว่า ธนบัตร 2,000 รูปี นั้น อยู่ในระบบหมุนเวียนไม่ใช่ตัวเลขที่สูง จึงไม่เกิดผลกระทบหรือการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับในปี 2016 อีกทั้งเป็นการเข้าสู่ยุคธุรกรรมแบบดิจิทัลอย่างเต็มตัวมากยิ่งขึ้น ส่งผลทำให้อินเดียนั้นจะเป็นประเทศที่พึ่งพาเงินสดน้อยลง
ส่วนประเด็นการธนบัตรปลอมที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่ทางการอินเดียเปิดให้แลกเปลี่ยนธนบัตรนั้น ทาง RBI ได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ดังนี้
- ธนบัตรที่จ่ายผ่านเคาน์เตอร์ ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องผ่านเครื่อง
- หากธนาคารพบธนบัตรปลอม จะไม่มีการให้เครดิตในธนบัตรนั้น ๆ แก่ลูกค้า
- ธนบัตรที่พิจารณาว่าเป็นของปลอม จะต้องประทับตราว่า ‘Counterfeit Note’ และทำการอายัดไว้ รวมถึงการบันทึกข้อมูลเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด
ผู้ที่มีธนบัตร 2,000 รูปี ต้องทำอย่างไรบ้าง
RBI ได้ขอความร่วมมือให้ธนาคารทุกแห่งหยุดออกธนบัตรมูลค่า 2,000 รูปี โดยประชาชนสามารถฝากหรือแลกเปลี่ยนธนบัตรมูลค่าต่ำกว่าได้ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคมถึง 30 กันยายน ครั้งละไม่เกิน 20,000 รูปี
ผู้ที่มีธนบัตร 2,000 รูปี สามารถส่งคืนธนาคารหรือแลกเปลี่ยนเป็นธนบัตรของสกุลเงินอื่นจากสาขาธนาคาร การฝากเข้าบัญชีธนาคารสามารถทำได้โดยไม่มีข้อจำกัดและขึ้นอยู่กับคำแนะนำที่มีอยู่
ข้อมูล :
- https://www.rbi.org.in/
- https://www.india.gov.in/
- https://bfsi.economictimes.indiatimes.com/