คัดลอก URL แล้ว
“วิกฤติเพดานหนี้สหรัฐ” จะเกิดอะไรขึ้น หากขยายเพดานหนี้ไม่ได้

“วิกฤติเพดานหนี้สหรัฐ” จะเกิดอะไรขึ้น หากขยายเพดานหนี้ไม่ได้

ตลาดการเงินทั่วโลกกำลังเฝ้าจับตาผลการเจรจาระหว่าง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐที่จะมีการเปิดการเจรจาเรื่องปัญหาเพดานหนี้ของรัฐากลางสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ในสภาวะ “วิกฤติ” ที่จะถึงกำหนดเส้นตายในการขยายเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 นี้ และหากผลการเจรจาไม่สำเร็จ ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในสหรัฐฯ อย่างรุนแรง และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องกับเศรษฐกิจโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้

ที่มาของปัญหา

ประเด็นของการขยายเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ นั้น มีการพูดถึงมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ม.ค. 2566 ภายหลังจาก เจเน็ต เยลเลน ​รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกมาเตือนว่า สหรัฐฯ จำเป็นจะต้องผ่านกฎหมายขยับเพดานหนี้เป็น เป็นเงินกว่า 31.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในวันที่ 1 มิ.ย. 2566 และหากทำไม่ทันกำหนดดังกล่าว จะส่งผลให้ สหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่

ซึ่งในขณะนี้ ผ่านมาเป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว แต่การเจรจายังไม่ได้ข้อสรุปว่า การขยายเพดานหนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร แม้หลายฝ่ายเชื่อว่า การเจรจาระหว่าง โจ ไบเดน และ เควิน แมคคาร์ธี จะได้ขอยุติและหาทางออกให้กับสถานการณ์นี้ได้

ที่มา – https://www.statista.com/chart/1505/americas-debt-ceiling-dilemma/

เพดานหนี้ ของสหรัฐฯ นั้นถือเป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อกำหนดวงเงินกู้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เป็นภาระผูกพันอยู่ โดยมีการกำหนดครั้งแรกตั้งแต่ปี 1939 เพื่อเป็นแนวทางการการสร้างวินัยทางการเงินการลังและระมัดระวังในการก่อหนี้ต่าง ๆ

แต่ดูเหมือนว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็มีการ “ขยายเพดานหนี้” เพิ่มขึ้นเรื่อย ในบางปีอาจจะมีมากกว่า 2 ครั้ง ตามขนาดเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งล่าสุด อัตราหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นถึง 133% ต่อจีดีพี และถือเป็นอันดับที่ 4 ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 1 อัตราหนี้สาธารณะอยู่ที่ 257% ต่อจีดีพี

ซึ่งการขยายเพดานหนี้จะต้องได้รับเสียงข้างมากในสภาสหรัฐฯ ที่ผ่านมาการขยายเพดานหนี้ถูกใช้ในประเด็นทางการเมืองของสหรัฐฯ จากทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองต่าง ๆ เช่นการบีบให้มีการปรับลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น

โดยได้มีความพยายามในการอนุมัติร่างกฎหมายเพิ่มวงเงินเพดานหนี้จากเดิมซึ่งอยู่ที่ 28.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

เพดานหนี้กระทบอะไรบ้าง

สำหรับเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นจำนวนเงินที่รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นการเปิดทางให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถทำการกู้ยืมเงิน เพื่อมาใช้จ่ายในการชำระหนี้ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการสังคม สุขภาพ และดอกเบี้ยต่าง ๆ เช่น ตราสารหนี้ของรัฐบาลด้วย

ผลกระทบในสหรัฐฯ

หลายฝ่ายคาดการณ์กันว่า หากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง ซึ่งจะแปรผันตรงกับระยะเวลาของการผิดนัดชำระหนี้ ยิ่งนาน ยิ่งกระทบเยอะ

โดย Moody’s ได้ประเมินว่า หากรัฐบาลสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ประมาณ 1 สัปดาห์ อาจจะส่งผลกรทะบให้ตำแหน่งงานหายไปเกือบ 1 ล้านตำแหน่ง และนั่นหมายถึงอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 5% จาก 3.5% ในปัจจุบัน

สำหรับในด้านของสวัสดิการสังคมนั้น มีการประเมินไว้ว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากเงินประกันสังคมเกือบ 60% พึ่งพาเงินประกันสังคมราวครึ่งหนึ่งของรายได้ในแต่ละเดือน และอีกราว 40% จะพึ่งพาเงินประกันสังคมเกือบทั้งหมดของของรายได้ที่ได้รับในแต่ละเดือน

ซึ่งผู้ที่ได้รับสวัสดิการประกันสังคมของสหรัฐฯ มีอยู่ราว 66 ล้านคน และนั่นหมายถึง เม็ดเงินที่จะถูกใช้จ่ายในระบบที่จะหายไป หากการจ่ายเงินสวัสดิการสังคมเหล่านี้ล่าช้า

กระทบความน่าเชื่อถือ

หากสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ จะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อความน่าเชื่อถือที่อาจจะถูกปรับลดลง นำไปสู่การที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องเผชิญกับต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ก้จะสูงขึ้นอีกเช่นกัน ซึ่งนั่นก็จะวนกลับมาถึงดอกเบี้ยเงินกู้ต่าง ๆ ที่ผูกพันอยู่กับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะสูงขึ้น ซึ่งชาวอเมริกันก็จะเผชิญกับดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

และการผิดนัดชำระหนี้ ก็จะส่งผลกระทบถึงพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะมีความต้องการลดลง ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะมีความผันผวนมากยิ่งขึ้น ตลาดทุนต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบตามกันไป

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

หากผลการเจรจาในการขยายเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ไม่เป็นผลและทำให้สหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้จริง จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในหลายประเทศ ที่มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ที่ถูกมองว่า เป็นพันธบัตรที่มีความน่าเชื่อถือ

หลายประเทศจะได้รับผลกระทบซ้ำจากปัญหาที่เจออยู่จากผลกระทบในช่วงก่อนหน้าจากการระบาดของโควิด-19 , สงครามในยูเครน โดยล่าสุด นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คาดว่า หากสหรัฐ ผิดนัดชำระหนี้จริง จะสร้างความปั่นป่วนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดเงินที่ค่อนข้างรุนแรง

ซึ่งการเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจะไม่เพียงแต่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ แต่จะส่งผลกระทบต่อหลายประเทศในระดับที่ต่างกันไป ประเทศที่เพิ่งเปิดตลาดสินค้ามายังสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด นอกจากนี้ หาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงนั่นหมายถึงรายได้จากการขายสินค้าแก่สหรัฐฯ ที่ลดลงด้วย

ผลกระทบต่อไทย

สำหรับประเทศไทย จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนขอลตลาด อาจจะมีแรงขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่าง ๆ ซึ่งไทยก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน แต่ทางด้านของธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยนั้น จะอยู่ในวงจำกัด แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังคงระบุว่า จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


ข้อมูล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง