KEY :
- ‘ภาวะโลกร้อน’ โดยมีต้นเหตุจากการกระทำของมนุษย์ ที่ได้เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่าง ๆ ทั้งด้านการขนส่ง และการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม
- ‘พลังงานสะอาด’ จึงเป็นอีกทางเลือกสำคัญที่ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนา และนำมาใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
- ‘พลังงานสะอาด’ หรือ พลังงานทดแทน ที่สำคัญเช่น พลังงานลม, พลังงานน้ำ, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานน้ำขึ้นน้ำลง, พลังงานคลื่น เป็นต้น
…
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่ว่าจะในประเทศไทยเอง รวมถึงในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยงแปลงไปอย่างไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่ร้อนจัด มีอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หรือ เกิดสภาพอากาศที่หนาวเย็น หิมะตกรุนแรงในต่างประเทศ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายปี มันจึงเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าโลกกำลังเปลี่ยนไป
ปัญหาด้านสภาพอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเผชิญกันทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ก็ต้องร่วมเผชิญเช่นกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศ ที่เราทุกคนต้องเผชิญอยู่กับสิ่งนี้ในแต่ละวัน
ผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวจึงนำไปสู่การตื่นตัวของนานาประเทศรวมถึงปรเทศไทย ที่ต้องมาตีโจทย์แก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้โลกเผชิญกับสภาวะเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโลกของเรานั้นอยู่ในช่วง ‘ภาวะโลกร้อน’ โดยมีต้นเหตุจากการกระทำของมนุษย์ ที่ได้เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่าง ๆ ทั้งด้านการขนส่ง และการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น
รวมถึงพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเราทราบกันดีว่าผืนป่านั้นเปรียบเสมือนปอดของโลก หรือ พื้นที่ของประเทศนั้น ๆ การทำลายป่าจึงเป็นการลดประสิทธิภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปจากระบบบรรยากาศ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่มาจากพฤติกรรมของมนุษย์เช่นกัน
‘พลังงานสะอาด’ จึงเป็นอีกทางเลือกสำคัญที่ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนา และนำมาใช้ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
นานาประเทศ ตื่นตัวกับปัญหาโลกร้อนอย่างไร?
ย้อนไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ในการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (COP21) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มาการลงนามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้รับการรับรองโดย 196 ประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
สาระสำคัญคือ การรักษาและควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 43% ภายในปี 2573
ซึ่งอย่างในสหรัฐฯ ได้มีนโยบายผลักดันการใช้พลังงานสะอาดทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงแบบเดิม เนื่องจากสหรัฐฯ เองเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่
โดยข้อมูลของทาง EPA เผยว่า มีการการปล่อยก๊าซทั้งหมดในปี 2564 เท่ากับ 6,340 ล้านเมตริกตัน ในสหรัฐฯ แบ่งเป็น การขนส่ง 28% / การผลิตไฟฟ้า 25% / อุตสาหกรรม 23% / อาคารพาณิชย์และที่อยู่อาศัย 13% / การเกษตร 10% / การใช้ที่ดินและป่าไม้ ชดเชย 12%
‘พลังงานสะอาด’ คืออะไร
อย่างที่กล่าวมาในข้างต้นว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิด ‘ภาวะโลกร้อน’ มาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากจนเกินไป ซึ่งมีต้นตอจากพลังงานจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ปิโตรเลียม และ แก๊สธรรมชาติ ซึ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มหาศาลอันเป็นสาเหตุโลกร้อน ‘พลังงานสะอาด’ จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลิตพลังงานทดแทนที่ใช้อยู่แบบเดิม ๆ
‘พลังงานสะอาด’ หรือ พลังงานทดแทน ที่สำคัญเช่น พลังงานลม, พลังงานน้ำ, พลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานน้ำขึ้นน้ำลง, พลังงานคลื่น, พลังงานความร้อนใต้พิภพ, เชื้อเพลิงชีวภาพ พลังงานน้ำมันดิบ น้ำมันปาล์ม พลังงานน้ำมันพืช เป็นต้น
ซึ่ง ‘พลังงานสะอาด’ เหล่านี้ล้วนเป็นพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และอีกส่วนหนึ่งคือ เป็นพลังงานที่เข้ามาทดแทนพลังงานรูปแบบเดิม และนอกจากนี้ยังเป็นกลุ่มพลังงานที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาพลังงานที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่
‘พลังงานสะอาด’ มีอะไรบ้าง
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกพยายามศึกษาและค้นหาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ และมีประสิทธิภาพดียิ่งกว่าพลังงานแบบเดิม เพื่อช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมของโลกรวมทั้งช่วยประหยัดพลังงาน พลังงานสะอาด หรือ พลังงานทดแทน จึงเป็นพลังงานที่สามารถนำมาใช้ทดแทนพลังงานแบบเดิมได้อย่างไม่จำกัด เกิดการใช้หมุนเวียนได้เรื่อย ๆ โดยตัวอย่างของพลังงานทดแทน มีดังนี้
พลังงานแสงอาทิตย์
- พลังงานจากดวงอาทิตย์จัดเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญที่สุด เป็นพลังงานสะอาดไม่ทำปฏิกิริยาใดๆอันจะทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ เซลล์แสงอาทิตย์จึงเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางอิเล็คทรอนิคส์ชนิดหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้ผลิตไฟฟ้า เนื่องจากสามารถเปลี่ยนเซลล์แสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง
พลังงานลม
- เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิ 2 ที่ ซึ่งสะอาดและบริสุทธิ์ใช้แล้วไม่มีวันหมดสิ้นไปจากโลก กังหันลม จึงเป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่สามารถนำพลังงานลมมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ โดยเฉพาะในการผลิตกระแสไฟฟ้า และในการสูบน้ำ ซึ่งได้ใช้งานกันมาแล้วอย่างแพร่หลาย
พลังงานความร้อนใต้พิภพ
- โรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพใช้บ่อน้ำความลึกสูงสุด 1.5 กิโลเมตร (1 ไมล์) หรือลึกกว่านั้น ในบางครั้งเพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งสำรองน้ำจากความร้อนใต้พิภพที่กำลังเดือด โรงไฟฟ้าบางแห่งใช้ไอน้ำจากแหล่งสำรองเหล่านี้โดยตรงเพื่อทำให้ใบพัดหมุน ส่วนโรงไฟฟ้าอื่นๆ ปั๊มน้ำร้อนแรงดันสูงเข้าไปในแท็งก์น้ำความดันต่ำ ทำให้เกิด “ไอน้ำชั่วขณะ” ซึ่งใช้เพื่อหมุนกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โรงไฟฟ้าสมัยใหม่ใช้น้ำร้อนจากพื้นดินเพื่อทำความร้อนให้กับของเหลว เช่น ไอโซบิวทีน ซึ่งเดือดที่อุณหภูมิต่ำกว่าน้ำ เมื่อของเหลวชนิดนี้ระเหยเป็นไอและขยายตัว มันจะทำให้ใบพัดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุน
พลังงานชีวภาพ
- การนำของเสียจากสิ่งมีชีวิตเช่นขยะที่เป็นสารอินทรีย์หรือมูลสัตว์ไปหมัก ให้ย่อยสลายโดยปราศจากอ๊อกซิเจน จะได้ก๊าซ มีเทน ซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงชนิดหนึ่ง ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู วัวควาย และสัตว์ปีก ได้ใช้เทคโนโลยีที่ทำขึ้นเอง ผลิตก๊าซชีวภาพมาใช้ในครัวเรือนมากขึ้น ทำให้ลดการใช้พลังงานฟอสซิลได้เป็นจำนวนมาก
พลังงานน้ำ
- เป็นการใช้น้ำที่กำลังเคลื่อนที่มีพลังงานสะสมอยู่มาก และนำพลังงานนี้มาใช้ เช่น ใช้หมุนกังหันน้ำ ปัจจุบันมีการนำพลังงานน้ำไปหมุนกังหันของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า
ประเทศไทยมีแผนเรื่อง ‘พลังงานสะอาด’ อย่างไร
จากข้อมูลแผนงานของกระทรวงพลังงานในปี 2566 มุ่งสู่พลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์สังคมยุคไร้คาร์บอน โดยได้วางแผนงานและโครงการแบ่งเป็น 4 มิติ ประกอบด้วย
มิติที่ 1
- พลังงานสร้างความมั่นคงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยแผนพลังงานชาติและแผนพลังงานรายสาขาใหม่เน้นการส่งเสริมพลังงานสะอาด ตามเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 มีแผนการลงทุน Grid Modernization ของประเทศฉบับแรก ปลดล็อค ปรับปรุงกฎ กติกา เพื่อส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดเชิงพื้นที่ ส่งเสริมการลงทุนรถ EV และสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมทั้งศึกษาศักยภาพ กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)
มิติที่ 2
- พลังงานเสริมสร้างเศรษฐกิจ ด้วยการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการนำเข้า Spot LNG เร่งพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน พร้อมกันนี้ยังส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้ง บนหลังคาสำหรับหน่วยงานของรัฐ การบังคับใช้เกณฑ์ด้านพลังงานสำหรับการออกแบบอาคารสร้างใหม่ (BEC)
มิติที่ 3
- พลังงานลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยส่งเสริมการลงทุนโรงไฟฟ้า ชีวมวล/ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยเร่งการลงทุน 200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 20 ปีประมาณ 37,700 ล้านบาท และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 630,737 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ในมิตินี้ยังมีการพัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่เกาะและพื้นที่ห่างไกล และที่สำคัญก็คือมาตรการการช่วยเหลือด้านพลังงานแบบเฉพาะให้กับกลุ่มเปราะบาง เช่น ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้มีรายได้น้อย
มิติที่ 4
- การพัฒนาองค์กรเพื่อให้บริการ โดยเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานรูปแบบ Interactive Dashboard แสดงข้อมูลเชิงลึกด้านพลังงานผ่านการประมวลผลรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อใช้สื่อสารให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพด้านดิจิทัลในการดำเนินงานด้านพลังงาน
ข้อมูล :
- https://www.epa.gov/
- https://energy.go.th/
- https://unfccc.int/