KEY :
- คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้กำหนด 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 ในการบริหารจัดการจัด
- เพื่อลดเพื่อกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งกรมชลประทานได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ดำเนินการตาม 12 มาตรอย่างเคร่งครัด
- ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณมากกว่า 49,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
…
ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญคลื่นความร้อนมาอย่างต่อเนื่อง หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับภัยแล้งเกิดไฟป่าในหลายจังหวัด ซึ่งหลังเข้าสู่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 พายุฤดูร้อนก็เล่นงานในหลายจังหวัดทั่วไทยเช่นกัน ซึ่งเป็นสัญญาณว่าใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้ว
ซึ่งอีกหนึ่งประเด็นสำคัญเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูฝน นั้นคือ ‘การบริหารจัดการน้ำ’ จากข้อมูลของกรมชลประทานเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณมากกว่า 49,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
โดยจากการคาดการณ์สำหรับฤดูฝนปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งว่า ปริมาณฝนจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ทำให้ทางกรมชลประทานซึ่งร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดทำนาปรัง รอบ 2 รวมถึงให้ภาคครัวเรือน สำรวจและปรับพฤติกรรมการใช้น้ำของตนเอง พร้อมช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้อย่างพอเพียง
นอกจากการสำรองน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอต่อความต้องการแล้ว การบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญเช่นกัน
12 ร่างมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566
คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้กำหนด 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 เพื่อลดเพื่อกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งกรมชลประทานได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ดำเนินการตาม 12 มาตรอย่างเคร่งครัด ดังนี้
- 1.คาดการณ์ชี้เป้า พื้นที่ที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงช่วฝนทิ้งช่วง (มีนาคม 2566 เป็นต้นไป)
- 2.การบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อรองรับน้ำหลาก (ภายในสิงหาคม 2566)
- 3.ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ / เขื่อนระบายน้ำและจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน)
- 4.เตรียมความพร้อม ซ่อมแซม ปรับปรุง อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร ให้พร้อมใช้งาน และปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน)
- 5.เตรียมความพร้อม / วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือ บุคลากร ประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนทิ้งช่วง (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน)
- 6.ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยคัน ทำนบ พนังกั้นน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน)
- 7.เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน)
- 8.ซักซ่อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน)
- 9.เร่งเก็บกักน้ำ ในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน (ภายในตุลาคม-พฤศจิกายน 2566)
- 10.สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ในการให้ข้อมูลสถานการณ์ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน)
- 11.การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน)
- 12.ติดตามประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน)
โดย 12 ร่างมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 ได้ผ่านการเห็นชอบจากทาง กนช. แล้วเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566
การเตรียมความพร้อมและการบริหารจัดการน้ำ
กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยแบ่งออกเป็น 2 แนวทางสำคัญ คือ
การเตรียมความพร้อมและการคาดการณ์
- ตรวจสอบสภาพความมั่นคงของเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งหมด 460 แห่ง
- ตรวจสอบอาคารชลประทานพร้อมใช้งานจำนวน 1,919 แห่ง
- เครื่องจักร เครื่องมือพร้อมใช้งานจำนวน 5,382 หน่วย
- กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ
- คาดการณ์ปริมาณในอ่างเก็บน้ำ
- วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและอุทกภัย
การบริหารจัดการ
- วางแผนการจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูฝนและฤดูแล้ง
- เลื่อนปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากอุทกภัย งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง
- ติดตามวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์โดยคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำพร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์กักเก็บ ใช้อาคารชลประทานและระบบชลประทานบริหารจัดการน้ำ
- จัดจราจรทางน้ำในสายในแม่น้ำสายหลัก
- แจ้งข้อมูลสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์
มาตรการเตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัย
คาดการณ์วิเคราะห์ และพร้อมช่วยเหลือต่อพื้นที่เสี่ยงภัย ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่กรมชลประทาน ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงได้กำหนดมาตรการสำคัญ สำหรับเตรียมรับมือปัญหาอุทกภัยไว้ 3 มาตรการดังนี้
- 1.กำหนดพื้นที่ ทำการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก พื้นที่เกษตรกรเสี่ยงน้ำท่วม ควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่าง ตรวจสอบปริมาณน้ำในลำน้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ สำรวจกำหนดพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย
- 2.กำหนดคน ทำการกำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่าง ๆ ที่จะได้รับผลกระทบรวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและวิเคราะห์คาดการณ์น้ำในลำน้ำจัดสรร
- 3.จัดสรรทรัพยากร เครื่องสูบน้ำเครื่องจักรกลเครื่องขุดรถแทรกเตอร์หรือเครื่องมือต่างๆ ที่กระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ให้เพียงพอโดยเฉพาะจุดเสี่ยง ภัยน้ำท่วมให้เตรียมพร้อมใช้งานตลอดเวลาตามแผนที่วางไว้และสำรองไว้ที่ส่วนกลาง
การจัดสรรน้ำฤดูฝน ปี 2566
โดยภาพรวมทั้งประเทศ แผนจัดสรรน้ำ 14,851 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 1,161 ล้าน ลบ.ม. (8%) แผนเพาะปลูกข้าวนาปี (3 พ.ค.66) 16.97 ล้านไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 0.33 ล้านไร่ (1%)
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แผนจัดสรรน้ำ 5,500 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 469 ล้าน ลบ.ม. (9%) แผนเพาะปลูกข้าวนาปี (3 พ.ค.66) 0.84 ล้านไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 0.83 ล้านไร่ (98%)
สำหรับผลการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 2565/66 ลุ่มน้ำแม่กลอง แผนจัดสรรน้ำ 5,500 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 3,731 ลบ.ม. (68%) แผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง (3 พ.ค.66) 0.84 ล้านไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 0.83 ล้านไร่ (98%)
การใช้เทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการน้ำ
กรมชลประทาน ได้นำเทคโนโลยี lot เข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง โดยใช้แบบจำลองประมวลสถานการณ์น้ำแบบ real time ในระดับแปลงเกษตรกรรมและระดับโครงการ ระบบประเมินสถานการณ์น้ำทั้งระบบ เพื่อการจัดการน้ำที่สมบูรณ์แบบทั้งโครงการ ทดสอบระบบการบริหารจัดการน้ำเต็มรูปแบบ เพื่อวัดพฤติกรรมการใช้น้ำรายแปลง ทำให้ส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตรได้อย่างทั่วถึง สามารถลดความขัดแย้งในการใช้น้ำของเกษตรกรลงได้
สำหรับโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืนกรณีศึกษาลุ่มน้ำคลองสวนหมาก เป็นโครงการนำร่องระหว่างกรมชลประทาน สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ
โดยใช้ระบบจัดเก็บและประมวลข้อมูลบนคลาวด์ หรือ IWASAM มาช่วยในการจัดเก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศตามเวลาจริง ปริมาณน้ำไหลผ่าน ความต้องการน้ำคาดการณ์ของพื้นที่ ปริมาณน้ำที่ใช้ในแต่ละวัน ผลการวิเคราะห์ประสิทธิภาพการชลประทานและความเพียงพอในการส่งน้ำรายวัน ตลอดจนรายงานการวิเคราะห์ผลการส่งน้ำในแต่ละฤดูกาล เพื่อนำไปใช้ในการจัดสรรน้ำและติดตามผลการส่งน้ำผ่าน Web Application เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับสถานการณ์และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ข้อมูล :
- กรมชลประทาน